xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา “เบนจา” โปรยกระดาษ-โจมตีละเมิดอำนาจศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


น.ส.เบนจา อะปัญ แกนนำม็อบธรรมศาสตร์ฯ
ศาลอาญาจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา “เบนจา อะปัญ” แกนนำม็อบธรรมศาสตร์ ฐานละเมิดอำนาจศาล ใส่ร้ายดูหมิ่นผู้พิพากษา สร้างความแตกแยกเกลียดชังในสังคม

วันนี้ (1 พ.ย.) ศาลอาญาอ่านคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลหมายเลขดำ ล.ศ.6/2564 ที่ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ตั้งเรื่องไต่สวน น.ส.เบนจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้ถูกกล่าวหา ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตาม ป.วิแพ่งมาตรา 30, 31 (1), 33

กรณีเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ชวนกันมาทำกิจกรรมยื่นจดหมาย พร้อมทั้งยืนอ่านกลอนตุลาการภิวัติ ที่ศาลอาญา โดยมีกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามา บริเวณศาล รวมตัวกันอยู่ที่บริเวณบันไดทางขึ้นหน้าศาล ซึ่งมีการใช้เครื่องขยายเสียงและตะโกนข้อความ ปล่อยเพื่อนเรา โดยระหว่างที่มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งร่วมในกลุ่มได้วิ่งผ่านแนวรั้วแผงเหล็กที่กั้นอยู่หน้าบันไดทางขึ้นศาลอาญา พร้อมโปรยแผ่นกระดาษและพยายามหลบหลีกเจ้าหน้าที่ศาลอาญา โดยขณะวิ่งและยังตะโกนพูดผ่านเครื่องขยายเสียงด้วยข้อความที่ไม่เหมาะสม

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34, 44 ได้บัญญัติถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างก็ตาม แต่บทบัญญัติทั้งสองดังกล่าวยังได้บัญญัติอีกว่าสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวจะต้องถูกจำกัดโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติถึงหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในมาตรา 50(3) ว่า บุคคลต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และมาตรา 50(6) บัญญัติว่าบุคคลมีหน้าที่เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม

ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะบุคคลอันเป็นหนึ่งในปวงชนชาวไทย ย่อมต้องปฏิบัติ “หน้าที่” ควบคู่ไปกับการใช้สิทธิและเสรีภาพด้วย หาใช่จะใช้เฉพาะสิทธิและเสรีภาพเท่านั้นไม่ ข้อกำหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 ถูกกำหนดมาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นมิให้ถูกล่วงล่วงละเมิดโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 อันเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญฯ รองรับไว้ ซึ่งข้อกำหนดศาลอาญา ฯ ข้อ 1 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดประพฤติตนใช้คำพูดหรือกริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรําคาญ ส่งเสียงดัง หรือในทางประวิงให้การดำเนินกระบวนพิจารณาชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือกระทำในลักษณะที่เป็นการยั่วยุจูงใจสนับสนุนใดๆ ในการกระทำดังกล่าวในห้องพิจารณาหรือภายในบริเวณศาลอาญา รวมถึงการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกัน ข้อ 6 ห้ามมิให้นำหรือใช้โทรโข่งไมโครโฟนเครื่องขยายเสียง รวมถึงอุปกรณ์ขยายเสียงต่างๆ หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันภายในศาลอาญา หรือบริเวณรอบศาลอาญา เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามข้อกำหนดของศาลอาญา

เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวน ได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหากับพวกประมาณ 300 คน ได้พากันเข้ามาบริเวณอาคารศาลอาญาแล้วกล่าวถ้อยคำโดยใช้อุปกรณ์ขยายเสียงรวมถึงตะโกนและวิ่งโปรยกระดาษ อันมีลักษณะส่งเสียงดังก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรำคาญ อีกทั้งถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวและอ่านบทกลอนที่มีเนื้อหาที่ประณามใส่ร้ายและดูหมิ่นต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการ อันมีลักษณะก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 50 (3)(6) และเป็นการละเมิดข้อกำหนดของศาลอาญาข้อ 1 และข้อ 6 อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหา อ้างถึงการการอดอาหารและความเจ็บป่วยของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ก็ดีอ้างถึงเพื่อนของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นจำเลยซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็ดี อ้างว่า การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการ ที่อาจกระทำโดยไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมก็ดี อ้างว่าศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวนายพริษฐ์กับพวกอย่างไม่เป็นธรรมและแตกต่างกับกรณีที่ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีของกลุ่ม กปปส. ก็ดีล้วนเป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้ถูกกล่าวหาเองทั้งสิ้นโดยขาดฐานความรู้และความเข้าใจในข้อกฎหมายอันเป็นหลักสากลที่ใช้กันในนานาอารยประเทศ อีกทั้งข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวนี้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถเรียกร้องขอความชอบธรรมได้ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ด้วยวิธีการที่ผู้เจริญหรือผู้มีอารยะปฏิบัติกัน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำการละเมิดข้อกำหนดของศาลอาญา ข้อต่อสู้ทั้งหมดของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น

จึงมีคำสั่งว่า น.ส.เบนจา ผู้ถูกกล่าวหา มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิแพ่ง) มาตรา 30, 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) มาตรา 15, 180 ให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 6 เดือน

แม้ผู้ถูกกล่าวหา ให้การรับข้อเท็จจริงว่าได้กระทำการตามคำกล่าวหาก็ตาม แต่กลับต่อสู้ว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด อันเป็นการแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้สำนึกถึงการกระทำ ประกอบกับคำรับของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นไปในทางจำนนต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัด คำรับข้อเท็จจริงของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาอันจะเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จึงไม่ลดโทษให้

ทั้งนี้ น.ส.เบนจา ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้ยื่นประกันแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น