MGR Online - โฆษก บช.น.กางความผิด เหล่าคนบันเทิง Call out ชี้ มีความผิด 3 ส่วน รอขั้นตอนออกหมายเรียก หมายจับ เปิดเผยรายชื่อได้ ย้ำ มีสิทธิแต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ยัน ตำรวจทำตรงไปตรงมา ไม่กลั่นแกล้ง เตือนกล่าวหา“รัฐฆาตกร” เช่นเดียวกับกรณี นายจตุพร และ อภิสิทธิ์ โต้ตำรวจเฝ้า นายณวัฒน์ ที่โรงพยาบาล เตรียมออกหมายเรียกครั้ง 2 “ต้อม ยุทธเลิศ”
วันนี้ (23 ก.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวถึงกรณีดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียง ออกมาแสดงความคิดเห็น (Call out) เกี่ยวกับรัฐบาล ว่า การแสดงความคิดเห็นโดยทั่วไปสามารถทำได้ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และไม่ผิดเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ถ้าผิดข้อหนึ่งขอใดจนก่อให้เกิดความเสียหาย ก็จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
กรณี นายอภิวัฒน์ ขันทอง แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่กล่าวหา กล่าวร้าย ดูหมิ่นรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ประมาณ 3 ราย พื้นที่ สน.นางเลิ้ง เมื่อวานนี้ (22 ก.ค.) น.ส.ดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ แร็ปเปอร์สาว เข้าพบพนักงานสอบสวน และเปรียบเทียบปรับเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 2 ราย นายยุทธเลิศ สิปปภาร หรือ ต้อม ยุทธเลิศ ผู้กำกับชื่อดัง ขอเลื่อนเข้าพบ หลังจากนี้จะทำการออกหมายเรียกครั้งที่ 2 และ น.ส.พัชรพร จันทรประดิษฐ์ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ ปี 2020 นัดหมายเข้าพบในวันที่ 5 ส.ค.นี้
“สำหรับความผิดของการ Call out จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา 2. หมิ่นประมาท และ 3. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณี มิลลิ เป็นความผิดตามมาตรา 393 หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จะแยกตามพฤติกรรมของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน หลายกรรม หลายวาระ แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน หรือคล้ายกันก็ถูกดำเนินคดีในทุกๆ กรณี”น.2 กล่าว
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า กรณี นายสนธิญา สวัสดี ยื่นหนังสื่อถึง บช.น.ให้ตรวจสอบการ Call out ของดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียง ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ ว่า มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ หากแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ใช้คำพูดแรงไปบ้างก็ไม่ผิดกฎหมาย ถ้าแรงเกินไปจนเกินขอบเขตก็มีความผิด แต่ถ้าไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงต่อรัฐบาล บ้านเมืองวุ่นวาย และไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ก็ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจสอบ ทั้งนี้ หากมีผู้เดือดร้อนเข้าแจ้งความกับตำรวจ ก็จะตรวจสอบตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ
สำหรับจำนวนรายชื่อดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียงที่ Call out จริงแล้วไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้าเป็นการกระทำความผิดจริงๆ พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวน หากพยานหลักฐานเพียงพอจะมีการออกหมายเรียก หรือหมายจับ เมื่อถึงวันนั้น บช.น.จะเปิดเผยชื่อได้ ส่วนระยะเวลาคงดำเนินการไปเรื่อยๆ เพราะมีพยานหลักฐานของผู้ที่มีชื่อ อยู่ในข่ายตรวจสอบค่อนข้างเยอะ บางรายกล่าวหาว่า “รัฐบาลฆาตกร” ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาเช่นเดียวกับกรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นบรรทัดฐานอยู่แล้ว ถ้ามีการกล่าวหาเช่นนั้นเชื่อว่าเป็นความผิด
กรณีมีการกล่าวหาว่า “วัคซีนด้อยคุณภาพ” จะเข้าข่ายผิดกฎหมายด้วยหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ ยกตัวอย่างกับสื่อมวลชนว่า “ถ้ามีคนกล่าวหาว่าสื่อมวลชนซื้อกล้องมาไม่มีคุณภาพ เพราะนำเงินไปทำอย่างอื่นหรือไม่นั้น” ถามว่าคนซื้อเสียหายหรือไม่ เหมือนกับการไปกล่าวหาคนอื่นว่าทำผิด เป็นคนชั่ว คนเลว หรือใช้คำหยาบไม่สุภาพ ถือเป็นความผิดแน่นอน ยังมีหลายคนที่ได้กระทำความผิดในส่วนนี้ ง่ายๆ ตัดสินด้วยสามัญสำนึกของวิญญูชนทั่วไป ตำรวจตรวจสอบทำตรงไปตรงมา และไม่ได้กลั่นแกล้งผิดว่าไปตามผิด
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า มีกระแสข่าวตำรวจไปเฝ้า นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล ผู้ก่อตั้งมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ รพ.ปิยะเวท กรณีกองประกวดมิสแกรนด์สมุทรสาคร 2021 น่าจะเป็นข่าวปลอม (เฟกนิวส์) เพราะยังไม่ถึงกระบวนดังกล่าว ขณะนี้พนักงานสอบสวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานในระดับหนึ่ง ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เช่น การผิดเงื่อนไขตามประกาศของกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลังจากนี้ จะเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวนเพิ่มเติม