xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ล้มแผนวัคซีนเอกชน ทางเลือกที่ถอยดีกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2564 ตอน ล้มแผนวัคซีนเอกชน ทางเลือกที่ถอยดีกว่า



เรื่องการจัดหาวัคซีนแก้วิกฤตโควิด-19 ตามแผนการที่รัฐบาลวางไว้ จะฉีดให้ 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 4.3 ล้านคน รวมเป้าหมาย 16 ล้านคน แต่กลับมีตัวเลขคนมาลงทะเบียนต่ำมาก ผ่านไป9 วันมีคนแจ้งความประสงค์แค่1.6 ล้านคน เป็นปัญหาให้รัฐปวดหัวได้อีก

ไล่เรียงสถิติตัวเลขทั่วประเทศ พบว่า กรุงเทพมหานครมีประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนร้อยละ41 ซึ่งแม้จะมากแต่ก็ยังต่ำครึ่ง ขณะที่กทม. การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะคลัสเตอร์คลองเตย และชุมชนแออัดทั้งหมด แบะยังจะลามไปถึงตลาดสดทั้งเขตกทม. และปริมณฑล

เมื่อสองสามวันก่อน มีการตรวจพบ คนติดเชื้อโควิด-19 ที่ตลาดสดนนทบุรี ชุดเดียวจากจำนวน700กว่าคน ติดเชื้อ173 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ที่เป็นคนงานรับจ้างในตลาด ก็สันนิษฐานได้ว่า มีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาโดยไม่ผ่านระบบการกักตัว

แรงงานต่างด้าวในตลาดสด กลายเป็นตัวนำเชื้อมาแพร่ระบาด ก็เพราะพวกนี้ส่วนใหญ่เพิ่งหลบหนีเข้ามา โดยไม่ผ่านการตรวจและคัดกรองโรคตามระบบ เข้ามาแล้วก็พักอาศัย และทำงานคลุกคลีร่วมกับคนชาติเดียวกันที่อยู่ก่อน ก็เอาเชื้อมาแพร่

ถ้าหากรัฐไม่ลงไปตรวจสอบเชิงรุก อย่างเข้มข้น ในกลุ่มลูกจ้างต่างด้าวในตลาดสด ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ การจะสกัดควบคุมโควิด-19 ก็จะไม่ได้ผล

ซึ่งคนในแวดวงสาธารณสุข ประเมินว่า โควิด-19 คงปะทุรุนแรงต่อไปอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน ซึ่งถือว่าต่อจากนี้ยังเป็นช่วงอันตรายมาก ถ้าการจัดการแก้ปัญหาไม่ดีพอ การระบาดก็ยืดเยื้อไปและจะสกัดไม่อยู่ การจัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องทำให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

แต่ขณะนี้ส่อว่า วัคซีนที่สั่งเข้ามา ที่รัฐบาลมีแผนลุยฉีดให้ได้มากที่สุด อาจจะเกิดปัญหาใหม่ คือวัคซีนจะเหลือ เพราะประชาชนไม่ยอมฉีด โดยสถิติตัวเลขประชาชนในต่างจังหวัด เป็นตัวบ่งชี้ โดยครึ่งค่อนประเทศ ประชาชนมาลงทะเบียนจังหวัดละหลักพันคนเท่านั้น ยกเว้นจังหวัดลำปางแห่งเดียวที่มีจำนวนถึง 223,976 คน

ล่าสุด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้จัดหาวัคซีนให้ได้ 150 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ คนละ 2 โดส จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 100 ล้านโดส

แต่ปัญหาเฉพาะหน้า อันเป็นปัญหาใหม่ที่ปะทุขึ้นมาแรงและแพร่กระจายไปวงกว้างแล้ว คือ ความไม่เชื่อมั่นที่มีต่อวัคซีนม้าเต็งของไทย ทั้งแอสตราซิเนก้า และตัวช่วยอย่างยี่ห้อซิโนแวค ถึงประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสโควิด และกลัวเกิดอาการข้างเคียง จนพากันปฏิเสธไม่รับฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดให้

ปัญหาความไม่เชื่อใจในวัคซีนของรัฐบาล ดูเหมือนโรงพยาบาลเอกชนจะรู้ซึ้งมานานแล้ว ทำให้บรรดาโรงพยาบาลเอกชน เห็นลู่ทางในการทำธุรกิจเกี่ยวกับวัคซีนทางเลือก โดยมองทะลุว่า จะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจ่าย เพื่อใช้สิทธิในการเลือกวัคซีน นอกเหนือจากที่รัฐบาลจัดให้

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน จึงเริ่มออกแพคเกจจองฉีดวัคซีนทางเลือก ในลักษณะพรีออเดอร์ และมีผู้ทำการจองเข้ามาพอสมควร แต่ปรากฏว่าจนถึงวันนี้ทางโรงพยาบาลเอกชนก็ยังไม่สามารถให้คำตอบกับลูกค้าได้ว่า

วัคซีนที่จองไว้จะมาเมื่อไร และจะฉีดให้ลูกค้าได้เมื่อไร โดยเฉพาะหลังจากเกิดการแพร่ระบาดระบอกที่ 3 และกระแสข่าวการเข้ามาของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ทั้งอังกฤษ และอินเดีย ที่ทำให้ผู้คนตื่นตระหนกและกดดันมาที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน เพราะต้องการได้รับวัคซีนเร็วที่สุด

กลุ่มโรงพยาบาลวิภาวดี เป็นหนึ่งผู้ที่สั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา (MODERNA) ไว้กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และเปิดให้ลูกค้าจองวัคซีนมาแล้วระยะหนึ่ง แต่ล่าสุดได้ออกมาประกาศถอนตัวจากการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไม่เพียงแต่กลุ่มโรงพยาบาลวิภาวดีเท่านั้น มีกระแสข่าวว่า ยังมีกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายอื่นๆ ที่กำลังประเมินสถานการณ์และเตรียมจะยกเลิกแผนการสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกเช่นกัน

มีข้อมูลเชิงลึกว่า เหตุที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนถอนตัวออกจากตลาดวัคซีนทางเลือกทั้งที่เคยประเมินว่ามีโอกาสทำกำไรได้สูงนั้น ก็มาจากปัจจัยเสี่ยง และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายประการ

คือทั้งการที่รัฐบาลปรับแผนเจรจาจัดหาวัคซีนอย่างหลากหลายมากขึ้น ทั้งจอห์นสันแอนด์จอห์นสันของอังกฤษ, โควาซินของอินเดีย, สปุตนิกวี ของรัสเซีย และไฟเซอร์-ไบออนเทค ของสหรัฐอเมริกา ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำตลาดวัคซีนทางเลือกของภาคเอกชนโดยตรง

ประการถัดมา วัคซีนทางเลือกของภาคเอกชนที่มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด คือ วัคซีนโมเดอร์นา ของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังอยู่ระหว่างการรออนุมัติขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และยังต้องสั่งซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่มีแนวโน้มว่าจะล่าช้าจากขั้นตอนทางราชการ อาจไม่ทันต่อสถานการณ์ และการทำตลาด

ไม่เพียงเท่านั้น การสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นา ยังมีเงื่อนไขสำคัญระบุไว้ว่าต้องวางเงิน 100% หรือจ่ายสดให้กับโมเดอร์นาทันทีเมื่อสั่งซื้อ แต่กลับยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า จะส่งมอบวัคซีนได้เมื่อไร

นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคสำคัญในการกำหนดราคาขายวัคซีน ที่ตั้งราคาค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกไว้ที่ 4,000-5,000 บาทจากต้นทุนวัคซีนที่ตกราว 1,000 บาทต่อ 2 โดส เช่น วัคซีนโมเดอร์นา ราคาอยู่ที่ 32-37 ดอลล่าร์สหรัฐต่อ 2 โดส คิดเป็นเงินไทยประมาณ 992-1,147 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

แต่ทางรัฐบาลกลับกำหนดราคากลางของการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชนที้ไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งต้องรวมค่าวัคซีน ค่าบริการของโรงพยาบาล และยังต้องมีค่าประกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใด การที่ทุกขั้นตอนต้องติดต่อผ่านหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่เพียงล่าช้าแล้ว ยังมีกระแสข่าวหนาหูว่า ที่กระบวนการต่างๆล่าช้า ทั้งที่เป็นช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะมีขบวนการดึงเวลาเพื่อเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชา ในการสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีน

ลือกันว่า มีคนบางกลุ่มฉวยโอกาสยามวิกฤติปล้นชิงทรัพย์ เรียกค่าหัวคิวส่วนแบ่งโรงพยาบาลเอกชนถึง 1,000 บาทต่อวัคซีน 1 ชุด หรือ 2 โดส ซึ่งเท่ากับหรือมากกว่าต้นทุนวัคซีนด้วยซ้ำ

เมื่อทั้งถูกกดราคาให้มีโอกาสทำกำไรน้อย แล้วยังมาถูกขูดรีดเบี้ยบ้ายรายทาง เพิ่มต้นทุนอีก
จึงเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้โรงพยาบาลเอกชนตัดสินใจถอยดีกว่า พับแผนพรีออเดอร์วัคซีนทางเลือกที่โปรโมทไว้ใหญ่โตในทันที.


กำลังโหลดความคิดเห็น