สภาทนายความฯ จับมือ ป.ป.ท.จัดหาทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริต เพื่อร่วมฟังไต่สวนข้อเท็จจริง และเป็นไปตามกฎหมาย
วันนี้ (30 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ ได้จัดแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ว่าด้วยความร่วมมือในการจัดหาทนายความให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตในภาครัฐ โดยมี พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ขณะที่มีนายประสาท พงษ์ศิวาภัย ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐและพร้อมด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ท. และคณะกรรมการสภาทนายความ ร่วมเป็นสักขีพยาน
ว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์กล่าวว่า สภาทนายความมีความตั้งใจและเต็มใจที่จะได้ช่วยเหลือประชาชนซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของทนายความที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่จะทำให้เป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น โดยเราได้เตรียมทนายความไว้บางส่วนแล้ว และจะทำอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ นอกจากนี้แล้ว สภาทนายความยังได้จัดหาทนายความให้แก่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งสถานีตำรวจกว่า 150 แห่งทั่วประเทศด้วย อีกทั้งยังมีหลายโครงการที่สภาทนายความได้จัดทำขึ้นและจะผลักดันเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ร.ต.ดร.ถวัลย์กล่าวต่อว่า วันนี้เป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือใการจัดหาทนายความให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตในภาครัฐ และเป็นความร่วมมือกันระหว่างทั้งสององค์กรเพื่อเสริมสร้างกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในงานปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปรากฏผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินคดี โดยสภาทนายความจะจัดหาทนายความให้แก่สำนักงาน ป.ป.ท.ในส่วนกลาง คือ กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 1-5 และส่วนภูมิภาค คือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 1-9 เพื่อร่วมรับฟังข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาในสำนวนคดีไต่สวนข้องเท็จจริงของสำนักงาน ป.ป.ท.
ด้าน พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาการทุจริตเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศที่กระทบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน สำนักงาน ป.ป.ท.เป็นหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยมีบทบาทหนึ่งคือการวินิจฉัยชี้มูลเจ้าหน้าที่รัฐที่จะทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ซึ่งขึ้นกับคณะกรรมการ ป.ป.ท. ในส่วนของการชี้มูลผู้กระทำความผิด เรามีเครื่องมือที่สำคัญคือ พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาและให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาไว้ว่า สามารถมีทนายความมาร่วมฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงหรือข้อกล่าวหาได้ โดยระเบียบการไต่สวนของ ป.ป.ท.ต้องมีมาตรฐานและเป็นไปตาม ป.วิอาญา มาตรา 134 ที่กำหนดให้ทุกขั้นตอนต้องมีทนายความมาเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกับสภาทนายความฯมาโดยตลอด ทั้งในการไต่สวนข้อเท็จจริงหรือด้านวิชาการ แต่ปัจจุบันได้ทำบันทึกข้อตกลงทำงานร่วมกันที่จะกำหนดรูปแบบ วิธีการ แนวทางที่ชัดเจนมากขึ้นทำให้การดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมเกิดประสิทธิภาพ
นายประสาท พงษ์ศิวาภัย ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กล่าวว่า การจัดหาทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นไปตามประมวลวิธีพิจารณากฎหมายอาญา ซึ่งจำเป็นสำหรับคดีที่มีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต ที่ต้องจัดหาทนายความให้ และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ ป.ป.ท.เพราะเมื่อแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ปรากฏว่าทนายความหายาก และในต่างจังหวัดก็ไม่ค่อยมีทนายความ แต่เมื่อทำเอ็มโอยูแล้วก็จะเป็นระบบ มีการประสานงานกันทั่วประเทศ ขณะที่ ป.ป.ท.ก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หวังว่าการปฏิบัติงานของทั้งสององค์กรนี้ คือ สภาทนายความ และ ป.ป.ท.จะดำเนินการเคียงคู่กันไปเพื่อผดุงความยุติธรรม มีช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม