xs
xsm
sm
md
lg

จตช.สั่งลุยสอบ “อมเบี้ยเลี้ยงโควิด” พบความผิด 3 ลักษณะ ลั่นมีบทลงโทษผู้กระทำผิดทุกราย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - จเรตำรวจแห่งชาติ เผยความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอมเบี้ยเลี้ยงโควิด -19 จำแนกความผิด 3 ลักษณะ สั่งรายงานผลทุก 15 วัน ลั่นหากพบการกระทำผิดให้สั่งตั้งกรรมการสอบวินัยทุกราย ยืนยันไม่มีละเว้น มีบทลงโทษผู้กระทำผิดทุกราย

วันนี้ (11 พ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่บรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19) ร้องเรียนว่าได้รับเบี้ยเลี้ยงไม่เป็นไปตามสิทธิ์ที่ควรจะได้ ว่าในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใย และได้กำชับให้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา หากพบผู้กระทำผิดก็ให้ดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาดทุกราย

พล.ต.อ.วิสนุกล่าวต่อไปว่า ภายหลังได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ ก็ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวโดยทันที ซึ่งจนถึงปัจจุบันหน่วยที่รายงานผลการตรวจสอบมาแล้วคือ บช.น. , ภ.1-9 ผลการตรวจสอบพบการกระทำผิด เป็น 2 กรณี คือกรณีแรกเป็นเรื่องร้องเรียนที่เกิดจากความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด เช่น สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี กรณีนี้ผู้บังคับบัญชามีการชี้แจงทำความเข้าใจถูกต้องแล้ว กรณีที่สองพบการกระทำผิดจริง ซึ่งจำแนกได้ 3 ลักษณะ คือ 1. กระทำผิดระเบียบทางการเงิน แต่ไม่มีเจตนาทุจริต เช่น โอนเงินไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจการเงิน แต่มีการนำเงินจำนวนดังกล่าวมาแจกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิในภายหลังครบถ้วนแล้ว เช่น สภ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต 2. กระทำผิดระเบียบทางการเงินและส่อไปในทางทุจริต เช่น การโอนเงินไปยังบุคคลที่ไม่มีสิทธิและต่อมาผู้มีสิทธิได้รับเงินไม่ครบถ้วน 3. มีการทำถูกต้องตามระเบียบทางการเงิน แต่ส่อไปในทางทุจริต เช่น การให้ผู้มีสิทธิรับเงินถอนเงินคืนมาให้ อาจจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม

พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีการตรวจสอบแล้วพบว่ามีมูลกระทำผิดก็ได้สั่งให้แต่ละกองบัญชาการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 84 เพื่อดำเนินการทางวินัยต่อไป สำหรับระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยนั้นมีระยะเวลาดำเนินการนับ แต่ประธานกรรมการได้รับคำสั่ง 60 วัน หากยังไม่แล้วเสร็จสามารถขอขยายระยะเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วันและหากคณะกรรมการฯ สอบสวนแล้วพบว่าพฤติการณ์ของผู้กระทำเข้าข่ายเป็นความผิดวินัยร้ายแรงก็จะต้องมีความเห็นเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง และหากพบว่ามีความผิดอาญาทุจริตต่อหน้าที่ราชการด้วยแล้วจะมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. ดำเนินการตามกฎหมายตามอำนาจหน้าที่

พล.ต.อ.วิสนุกล่าวว่า สำหรับระยะเวลาการตรวจสอบข้อเท็จจริงในภาพรวมทั้งหมดนั้นเนื่องจากหน่วยงานและผู้มีสิทธิเบิกทั่วประเทศมีเป็นจำนวนมากต้องใช้เวลาตรวจสอบพอสมควร แต่ตนได้สั่งการกำชับลงไปเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ว่า ในส่วนที่ตรวจพบการกระทำผิดแล้วก็ให้ตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทุกราย และกองบัญชาการใดที่ยังตรวจสอบไม่ครบทุกหน่วยก็ให้ตรวจสอบให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าพบการกระทำผิดเพิ่มเติมก็ให้ดำเนินการทางวินัยโดยเด็ดขาดโดยให้รายงานมาให้ทราบทุก ๆ 15 วัน เพื่อกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งสำนักงานจเรตำรวจจะคอยติดตาม เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าถ้ายังไม่เรียบร้อยหรือมีการร้องเรียนมาอีกตนก็จะสั่งให้จเรตำรวจส่วนกลางลงไปดำเนินการ

“นายกฯ และ ผบ.ตร.มีความห่วงใยข้าราชการตำรวจระดับปฏิบัติการเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างยากลำบากเสียสละ เพื่อพี่น้องประชาชน จึงได้จัดสรรเงินงบประมาณมาให้เป็นเบี้ยเลี้ยงที่ควรจะได้รับและต้องให้ถึงมือผู้ปฏิบัติจริงๆ ดังนั้นเมื่อปรากฏเรื่องร้องเรียนขึ้นมา ก็ได้สั่งการให้มีการสั่งตรวจสอบเรื่องนี้ในทันทีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องที่ทำการตรวจสอบอยู่นี้แม้ไม่มีการร้องเรียนตามระบบทางราชการเป็นการร้องเรียนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียก็ไม่ได้ปล่อยให้เรื่องผ่านไป เราก็รีบดำเนินการโดยทันทีไม่มีการละเว้น” จเรตำรวจแห่งชาติ ระบุ

พล.ต.อ.วิสนุกล่าวอีกว่า ในส่วนของหน่วยปฏิบัติก็ได้มีการกำชับให้ผู้บริหารหน่วยทั้งในระดับผกก., ผบก. และผบช. ให้ใส่ใจในเรื่องดังกล่าวทุกขั้นตอน รวมทั้งการเบิกจ่ายเงินให้ถูกต้อง รวมทั้งต้องมีการสื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาให้ได้รับรู้กันอย่างทั่วถึง และถูกต้องชัดเจนไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด คือต้องทำอย่างโปร่งใส ตนคิดว่าการดำเนินการอย่างจริงจังในครั้งนี้น่าจะเป็นการป้องกันปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ผู้ที่คิดจะกระทำในลักษณะนี้อีก จะไม่กล้ากระทำเพราะเกรงว่าจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากนี้ได้เปิดช่องทางร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสข้อมูลอย่างเปิดกว้างในทุกช่องทางทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการเช่นผ่านหมายเลข 1599 หรือร้องเรียนมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือสำนักงานจเรตำรวจ ทั้งโดยการเข้ามาร้องเรียนด้วยตนเอง ทางไปรษณีย์หรือทางเว็บไซต์ และในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ เช่นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จะรับฟังทั้งหมด ตนคิดว่าถ้าเราได้ทำในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แล้วการกระทำในลักษณะนี้จะลดลงไปได้ แต่หากปรากฏขึ้นมาอีก ก็จะดำเนินการอย่างรวดเร็วไม่มีการละเว้น และมีบทลงโทษกับผู้กระทำผิดอย่างแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น