“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2563 ตอน "บิ๊กตู่"ยอมเปิดสภาฯ แก้ปัญหาหรือซ้ำเติม
สถานการณ์”ม็อบ 3 นิ้ว”ที่ขยายวงกว้างทั่วประเทศ จนยากจะประเมินได้ว่าสุดท้าย สถานการณ์จะพัฒนาไปถึงจุดไหน และจะจบอย่างไร
แต่ถึงตอนนี้ ดูเหมือน 1ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่ม คณะราษฎร 63 จะเกิดผลสำเร็จจับต้องได้อย่างน้อยหนึ่งข้อแล้ว คือ ข้อเรียกร้อง ข้อที่สอง ตามแถลงการณ์ตอนเปิดตัว คณะราษฎร ที่ชูประเด็นว่า ต้องมีการ“เปิดวิสามัญรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชน”
การแก้ปัญหาม็อบมุ้งมิ้ง ที่ชุมนุมกันทุกเย็นเป็นดาวกระจายทั่วประเทศ มีสัญญาณชัดมาจากนายกฯและวิปรัฐบาลแล้วว่า จะให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญฯ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
การที่รัฐบาลยอมให้มีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ก็ถือว่า ตรงกับข้อเรียกร้องของคณะราษฎรที่ประกาศไว้ก่อนชุมนุมใหญ่14 ตุลาคม ในระดับหนึ่ง เพียงแต่ที่ยังไม่ชัดก็คือ เมื่อมีการเปิดประชุมแล้ว
สามารถเอาเรื่องการโหวตแก้ไขรธน.6 ร่าง ของพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ค้างการพิจารณามาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน มาโหวตในรอบนี้ได้หรือไม่
ส่วนอีกสองข้อคือ ให้พลเอกประยุทธ์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรีและให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงตอนนี้ ดูเหมือน ยังคงเกิดขึ้นได้ยาก
การถอยร่น ของนายกฯ และพรรคพลังประชารัฐ ที่ยอมจะให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ในเดือนตุลาคม ที่เหลืออีกแค่ 11 วันก็จะหมดเดือน และรัฐสภาก็จะเปิดประชุมอย่างเป็นทางการ 1 พ.ย.
เห็นได้ชัดว่า คือการพยายามจะทำให้การเมือง การชุมนุมบนท้องถนนลดโทนลง หลังกระแสม็อบสามนิ้วขยายวงกว้าง นัดรวมตัวกันแต่ละครั้ง แต่ละจุด มีคนไปร่วมจำนวนมาก ที่เน้นข้อเรียกร้องหลักคือ ให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกรัฐมนตรี
เลยทำให้ พลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคและรองนายกฯ นิ่งเฉยไม่ได้ อะไรที่จะลดเงื่อนไข ลดโทนกระแสม็อบให้คลายความร้อนแรงได้ บิ๊กตู่ บิ๊กป้อม ก็เอาหมด
เหมือนคนกำลังจมน้ำ ขอนไม้ อะไรลอยมา ก็ต้องกอดไว้ก่อน และหนึ่งในนั้น ก็คือ การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ที่รัฐบาลจะใช้ช่องทาง รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๕ ที่เปิดช่องไว้ว่า หาก มีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของส.ส.และสว. นายกฯ จะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้
แต่การถอยของ พลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐรอบนี้ มันก็มี ราคาทางการเมืองที่ต้องจ่าย
เพราะเมื่อเปิดประชุมฯ แล้วนำเรื่อง สถานการณ์ม็อบทั่วประเทศเข้าไปหารือกันหลายชั่วโมง ตัว พลเอกประยุทธ์ ก็ต้องถูกส.ส.ฝ่ายค้าน ทั้งสับทั้งโขก โดยเฉพาะในสองประเด็นหลักที่ฝ่ายค้าน ตั้งแท่นไว้แล้ว คือ
คัดค้านการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ฯ และกรณีตำรวจ สลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ประเด็นหลังนี้รับรอง ดรามา มาเต็ม แน่
ส.ส.ฝ่ายค้าน ต้องอภิปราย อัดนายกฯ เป็นเผด็จการ สั่งตำรวจทำร้ายประชาชน ที่มีเด็กเยาวชนในชุดเครื่องแบบนักเรียนระดับมัธยมศึกษา อยู่ในที่ชุมนุมด้วย โดยหาก พลเอกประยุทธ์ แจงประเด็นนี้ไม่ได้ อาการก็น่าเป็นห่วง
เพราะถ้าพลาด ก็จะถูกนำไปขยายผล ในการชุมนุมนอกรัฐสภา โดยทันที ว่าพลเอกประยุทธ์ จนมุมกลางสภาฯ กระแสไล่นายกฯอาจยิ่งแรงหนักขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ ต้องยอมเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม กลวิธีการแก้เกมของพลเอกประยุทธ์ เพื่อรับมือกับการอภิปรายของฝ่ายค้าน ก็มีกระบวนท่าให้เลือก ว่าจะทำหรือไม่ทำ เช่น การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ฯ ก่อนถึงวันเปิดประชุมสภาฯ
หากพลเอกประยุทธ์ตัดสินใจทำเช่นนี้ อย่างน้อย ก็คงมีผลทำให้การอภิปรายของฝ่ายค้าน ลดโทนความร้อนแรงไปมากพอควร เพราะทุกฝ่ายก็เห็นว่า พลเอกประยุทธ์ ควรยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปจะดีกว่า
ขณะที่เรื่องการโหวตแก้ไขรธน. ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะสามารถลงมติได้เลยในการเปิดวิสามัญฯที่จะมีขึ้นหรือไม่ แต่ฝ่ายค้าน ก็พยายามจะผลักดันอยู่ เนื่องจากต้องการให้ รู้ดำรู้แดงกันไปเลยว่า ร่างแก้ไขรธน.ทั้งหมดที่ค้างอยู่หกร่าง สุดท้ายจะร่วงหมด หรือจะรับแค่บางร่าง
ถึงตอนนี้ พลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร และสว.ทั้งหลาย คงอ่านสถานการณ์ขาด เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่รัฐบาลเล่นเกมยื้อ ถึงตอนนี้ คงต้องคิดหนัก จะพลิกแพลงอะไรอีกไม่ได้ ถ้าเปิดสภาฯแค่ซื้อเวลา เป็นเกมการเมือง ก็เท่ากับยิ่งพาสถานการณ์ที่เลวร้ายไปติดทางตัน