MGR Online - กอร.ฉ.ใช้กำลัง 12 กองร้อย 1,860 นายดูแลการชุมนุมวันนี้ รอประเมินเซอร์ไพรส์ จัดชุดเคลื่อนที่เร็วประกบม็อบดาวกระจาย เผยรวบผู้กระทำผิดเพิ่ม 3 ราย เมินคำขู่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
วันนี้ (20 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร., พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. และนายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันแถลงสรุปภาพรวมสถานการณ์การชุมนุม และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อย
พล.ต.ต.ปิยะเปิดเผยว่า ภาพรวมการชุมนุมเมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) ผลการปฏิบัติไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด การควบคุมสถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนการนัดรวมตัวการชุมนุมในวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ใด อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตรียมความพร้อมในด้านการอำนวยความสะดวกการจราจรและการดูแลความสงบเรียบร้อยแล้ว ส่วนสถานการณ์การชุมนุมในรอบ 24 ชั่วโมง มี 6 จุด คือ 1. แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) 2. หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 3. มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) 4. บริเวณถนนตัดใหม่สาธุประดิษฐ์ 5. หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2 6. สภ.เมืองนนทบุรี โดยได้เลิกชุมนุมก่อนเวลา 20.00 น.
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวต่อไปว่า ส่วนการดำเนินการทางกฎหมายมีการจับกุมผู้กระทำความผิดจำนวน 2 ราย ได้แก่ (1. นายปฏิวัติ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงก์ ถูกเจ้าหน้าที่ สภ.เมืองขอนแก่น จับกุมได้ที่บ้านพักใน อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น ตามหมายจับศาลอาญาที่ 1589 ลงวันที่ 15 ต.ค. 63 ของ สน.ชนะสงคราม ในความผิดร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดโดยอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยทุจริตเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามม.116 (2. นายขวัญ จีนา จากกรณีที่มีเหตุชุลมุนป้อมตำรวจ สน.บางนา โดยจับกุมได้ตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง ที่ จ.628/2563 ลงวันที่ 19 ต.ค. 63 ของ สน.บางนา ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก (3. นายประวิทย์ สมรัตน์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ปรากฏตามสื่อโซเชียลต่างๆ ว่าเป็นตำรวจปลอมตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม ขอเรียนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พิสูจน์ทราบแล้วว่าไม่ใช่ตำรวจ จึงได้ติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เสียทรัพย์ และชุมนุมเกิน 10 คนขึ้นไป สำหรับการจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมช่วงที่ผ่านมา จำนวน 76 คน แบ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา 21 คน ความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 54 คน และขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน 1 คน
“สำหรับการเตรียมกำลังในวันนี้จะดูตามสถานการณ์ โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลเตรียมกำลังไว้ 12 กองร้อย จำนวน 1,860 นาย ภายใต้การบังคับบัญชา พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย รอง ผบช.น. โดยเน้นการปฏิบัติเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วในการเข้ารักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่มีการชุมนุม และป้องกันมือที่ 3 ก่อความไม่สงบเรียบร้อย” รอง ผบช.น.ระบุ
ส่วนกรณีผู้ชุมนุมขีดเส้นตายให้ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ภายในเวลา 18.00 น. ทางศูนย์ กอร.ฉ.จะดำเนินการอย่างไร พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยหลังจากนี้จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมแล้ว ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมประกาศจะมีการเซอร์ไพรส์เจ้าหน้าที่เชื่อว่าจะเป็นการแยกย้ายชุมนุมตามจุดต่างๆ โดยทางเจ้าหน้าที่ได้เตรียมความพร้อมโดยการจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว
เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่ประเมิรว่าผู้ชุมนุมจะยกระดับการชุมนุมหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า จากการประเมินเชื่อว่าผู้ชุมนุมขณะนี้สามารถยกระดับได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ส่วนการดาวกระจายจะเป็นการเคลื่อนตัวไปตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ เชื่อว่าชุดเคลื่อนที่เร็วจะสามารถเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยในส่วนนี้ได้ ส่วนกรณีแกนนำหลายคนที่ได้รับการปล่อยตัวแล้วนั้น มีเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว บางคนมีเงื่อนไขห้ามเข้าพื้นที่การชุมนุมซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่มีหมายจับที่กำลังดำเนินการอยู่หลาย 10 หมาย โดยทางเจ้าหน้าที่ขอย้ำเตือนไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมว่าการกระทำในทุกกรณีที่เข้าข่ายผิด มีเจ้าหน้าที่คอยรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายทุกราย
ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส ได้ตรวจสอบพบบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการยุยงทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ได้ส่งเรื่องมาให้ กอร.ฉ.ดำเนินรวมแล้ว 58 เรื่อง ส่วนกรณีการบิดเบือนข้อมูลในลักษณะข่าวปลอม หรือเฟกนิวส์ ได้มีการปลุกระดมโดยผู้ไม่หวังดีโดยใช้บัญชีปิดบังตัวตนผ่านทวิตเตอร์ชักชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมใช้วิธีการ Looting คือ การปล้นสะดมในระหว่างสถานการณ์ที่มีความไม่สงบ โดยในทวิตเตอร์มีการแชตอ้างการกระทำลักษณะดังกล่าวในสถานการณ์การชุมนุมระหว่างประเทศ ซึ่งมีการชักชวนให้ทำลายทรัพย์สินของทางราชการและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไปในพื้นที่บริเวณการชุมนุม เพื่อยกระดับการชุมนุม ในเรื่องนี้ทาง กอร.ฉ.มีความเป็นห่วง และขอแจ้งเตือนประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมอย่าตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีที่พยายามยุยง ปลุกปั่นให้กระทำการดังกล่าว เพราะนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ยังผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เข้าข่ายฐานลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ หรือทำให้เสียทรัพย์แล้วแต่กรณี ส่วนผู้ที่ไม่หวังดีที่ทำการยุยง ปลุกปั่นในโลกออนไลน์ จะต้องถูกดำเนินคดีทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และเป็นการฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย
“จากการตรวจสอบกลุ่มผู้ชุมนุมหลายๆ คนได้รับข้อมูลลักษณะการเชิญชวนในทวิตเตอร์ แต่มีอีกหลายคนที่มีความเป็นห่วงเป็นใยได้มีการสื่อสารถึงกันและกัน พร้อมเตือนกันว่าอย่าตกเป็นเครื่องมือ ทาง กอร.ฉ.ต้องขอขอบคุณที่มีสติในการช่วยเตือนกันเป็นการป้องกันระวังภัยสำหรับบุคคลที่ 3 หรือบุคคลที่ไม่หวังดีมาแทรกแซงด้วยเจตนาร้าย” รองโฆษก ตร.ระบุ
ด้านนายภุชพงค์กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส รับผิดชอบในการดำเนินการของการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่ามีการเฝ้าระวังการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ในทุกด้านทุกแพลตฟอร์ม เมื่อพบการกระทำความผิดจะรวบรวมพยานหลักฐานและเสนอเรื่องขอความเห็นชอบต่อศาลให้มีคำสั่งปิดกั้น หลังจากนั้นประสานการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป นอกจากนี้ หลังจากมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กทม.เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63 กระทรวงดีอีเอสได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุมในการประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงพิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และประสานงานการตรวจพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับความผิดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และดำเนินการร้องขอคำสั่งศาลในการระงับหรือลบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย
“ในสภาวะปกติจะมีเจ้าหน้าที่ประจำ 2 ศูนย์ คือศูนย์เฝ้าระวังการกระทำความผิดทางเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยบูรณาการทั้ง 2 ศูนย์มาเฝ้าระวังการกระทำความผิดทางอินเตอร์เน็ตทุกประเภททั้งเว็บไซต์ ยูทูป ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และเทเลแกรม โดยหลักการปกติตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะรวบรวมหลักฐานและขอคำสั่งศาล เมื่อศาลมีคำสั่งเราจะแจ้งไปให้ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต หรือแพลตฟอร์มต่างประเทศดำเนินการปิด ซึ่งหลักการจะดำเนินการปิดเป็นรายการ URL หรือรายหน้า หรือเป็นราย IP Address บางรายเท่านั้น ที่มีข่าวว่าเราจะปิดทั้งระบบเลยคงไม่ใช่ เราจะปิดเฉพาะที่มีการกระทำความผิดชัดแจ้ง และตั้งแต่มีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้มีการทำงานร่วมกับ กอร.ฉ. โดยจะมีการรายงานการกระทำความผิด ใน 2 วันที่ผ่านมาเราพบผู้กระทำความผิดที่เข้าข่ายมากกว่า 3 แสนราย ซึ่งได้แจ้งผู้ที่มีความผิดชัดเจนมาที่ กอร.ฉ.58 ราย ประกอบด้วย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม จำนวน 46 ราย วันที่ 20 ต.ค. จำนาน 12 ราย” นายภุชพงค์กล่าว
นายภุชพงค์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีแอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) ศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุมกระทรวงดีอีเอส ตรวจพบการใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวในการนัดหมายเชิญชวนชุมนุม ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงแจ้งเรื่องต่อไปยัง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทราบและพิจารณาข้อมูลดังกล่าว หลังจากนั้นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้มีสั่งที่ 11/2563 เรื่องระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะโดยให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและกระทรวงดีอีเอส ดำเนินการเพื่อให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ (เทเลแกรม) ขอเรียนว่ากระทรวงดีอีเอสได้ดำเนินการตามหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามขั้นตอนตามกฎหมายและมีการขอความเห็นชอบต่อศาลมาโดยตลอด ไม่มีการทำเกินอำนาจหน้าที่หรือเลือกปฏิบัติโดยเคารพสิทธิการเข้าถึงสื่อทุกประเภทของประชาชนโดยเสรีภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด