xs
xsm
sm
md
lg

ตร.แจงปิด BTS-MRT เพื่อดูแลความปลอดภัย ไม่มีเจตนาสกัดม็อบ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - กอร.ฉ.แถลงวันนี้ ม็อบชุมนุมใน 4 จุดหลัก ใช้กำลัง 12 กองร้อยดูแล ไม่มีการปิดจราจร-ระบบขนส่งมวลชนหลัก แจงปิด BTS-MRT เพื่อความปลอดภัย ไม่มีเจตนาสกัดมวลชน

วันนี้ (19 ต.ค.) ที่กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการดำเนินการของตำรวจและสรุปภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมตลอดทั้งวัน

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ภาพรวมผู้ชุมนุมได้มีการนัดหมายใน 4 จุดหลัก ได้แก่ 1. บริเวณแยกเกษตร 2. ใต้สะพานภูมิพล 3. บริเวณถนนงามวงศ์วาน ด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 4. รถไฟฟ้า MRT สถานีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอยู่ในเขต จ.นนทบุรี สำหรับการเตรียมกำลังกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้จัดกำลังกองร้อยควบคุมฝูงชน ทั้งหมด 12 กองร้อย จำนวน 1,860 นาย ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รอง ผบช.น. และ พล.ต.ต.พีระพงศ์ วงษ์สมาน รอง ผบช.น. โดยเน้นการจัดเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วในการเข้ารักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่มีการชุมนุมในสถานที่ต่างๆ และป้องกันเหตุร้ายจากมือที่สาม ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ขอย้ำเตือนมายังพี่น้องประชาชน ว่า การบังคับใช้กฎหมายในช่วงเวลานี้ กับกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นไปตามกฎหมายภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม. ซึ่งใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มิใช่ช่วงสถานการณ์ปกติ จึงไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์อันก่อให้เกิดความร้ายแรงใดๆ ทั้งสิ้น

“การนำเสนอข่าวสารไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว อันจะเป็นการปลุกปั่นหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องทางโชเซียลมีเดีย ที่มีการชักชวน เชิญชวน เข้ามาชุมนุม มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้กระทำอาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย ฝากเน้นย้ำการใช้โซเซียลมีเดียในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโพสต์รูปหรือข้อความอันเป็นเท็จอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ซึ่งการกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และอาจมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย”

พล.ต.ต.ปิยะ ยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทางกรมราชทัณฑ์และตำรวจท้องที่ได้ประสานงาน เพื่อวางมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการอำนวยความสะดวก รถของผู้ต้องขัง เข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หากมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก จนไม่สามารถนำรถเข้าได้ อาจมีการเปลี่ยนเส้นทาง หรือรอให้ผู้ชุมนุมยุคิการชุมนุมก่อน เพื่อความปลอดภัย ส่วนความคืบหน้าล่าสุดกรณีกลุ่มบุคคลทำลายป้อมตำรวจบริเวณแยกบางนา ล่าสุด พนักงานสอบสวน สน.บางนา ได้ยื่นขออำนาจศาลอาญาพระโขนง ออกหมายจับ นายขวัญ จินา อดีตนักศึกษาโรงเรียนเทคนิคบุรณพนธ์ และออกหมายจับบุคคลตามภาพถ่ายอีก 5 ราย ในข้อหาร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความไม่สงบในบ้านเมือง, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งทรัพย์สินของราชการ ส่วนภาพที่มีการแชร์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการสร้างสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ตำรวจไม่มีแผนดังกล่าว แต่บุคคลในภาพอยู่ในขั้นตรวจสอบว่าเป็นตำรวจจริงหรือไม่

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า ตำรวจจราจรนครบาลขอรายงานสถานการณ์ประกอบการเดินทาง เนื่องจากวันนี้เป็นวันจันทร์การเดินทางของประชาชนอาจเกิดผลกระทบกับการเดินทางพอสมควร ซึ่งอาจจะมีการชุมนุมใน 4 จุดด้วยกัน ประการแรก การเตรียมความพร้อมสำหรับการปิดการจราจร ทั้งหมด 4 จุด ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ 1. จุดหลักบริเวณแยกเกษตร กรณีของแยกเกษตรจะกระทบกับถนนพหลโยธินทั้งขาเข้าและขาออก ถนนงามวงศ์วาน และถนนประเสริฐมนูกิจ ถ้าหากมีการลงบริเวณแยกจริงๆ จะต้องปิดการจราจรตั้งแต่แยกรัชโยธิน ส่วนถนนพหลโยธินขาเข้า จะตัดรถที่ซอยพหลโยธิน 49 ส่วนแนวของงามวงศ์วานไปออกประเสริฐมนูกิจบริเวณนั้น มีอุโมงค์ก็น่าจะใช้สัญจรได้ ยกเว้นกรณีมีกลุ่มผู้ชุมนุมก็จะพิจารณาปิดตามสถานการณ์ 2. หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เลยบริเวณแยกบางเขนไปบริเวณถนนงามวงศ์วาน ที่มี 4 ช่องทาง มีกลุ่มผู้ชุมนุมหลักร้อยคน อยู่บนฟุตปาธ ถ้าหากมีการปิดการจราจรกระทบจริงๆ จะกระทบกับเส้นถนนงามวงศ์วานขาออก จำเป็นต้องปิดก่อน และถนนวิภาวดีที่จะเลี้ยวซ้ายไปถนนงามวงศ์วาน 3. ใต้สะพานภูมิพล ถนนยานนาวา ซึ่งเชื่อมต่อถนนพระราม 3 และถนนสาธุประดิษฐ์ กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมจะลงจุดนั้นก็จะกระทบเฉพาะถนนยานนาวา จะพยายามระบายรถในถนนพระราม 3 และถนนสาธุประดิษฐ์ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ บริเวณจุดดังกล่าวยังไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด 4. สถานีรถไฟฟ้า MRT กระทรวงสาธารณสุข อยู่บริเวณถนนติวานนท์ ขณะนี้มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณกว่า 100 คน ถ้ากระทบกับถนนจะอยู่ที่ถนนติวานนท์ต่อเนื่องมาในเขตนครบาล บริเวณถนนวามวงศ์วานขาออก ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถ้าติดต่อเนื่องยาวก็จะกระทบถนนรัชดาภิเษกขาออก ทั้งหมดเป็นการรายงานสถานการณ์การจราจรทั้งหมดขอให้ติดตามใน 4 จุดนี้ เพื่อประกอบในการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาเลิกงาน ขอให้วางแผนการจราจรให้ดี

“ระบบขนส่งสาธารณทั้งหมด ขณะนี้ยังไม่มีการปิดให้บริการแต่อย่างใด ทั้ง BTS, MRT, APORT Rail Link ยังเปิดให้บริการทุกสถานี นอกจากนี้ เป็นคำวิงวอนจากตำรวจจราจร ในส่วนกรณีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ตำรวจจราจรจำเป็นต้องไปทำการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อความสะดวก ความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกับพี่น้องประชาชนทั่วไป ขอให้ทั้งประชาชน และกลุ่มผู้ชุมนุม เข้าใจว่า ตำรวจจราจรนั้นไปดูแลอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจจะเกิดความไม่สะดวก แต่ตำรวจจราจรจะใช้หลักการว่าอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเป็นหลักจนกว่ากลุ่มผุ้ชุมนุมจะลงไปกีดขวางการจราจรทุกช่องทาง จึงจะพิจารณาปิดการจราจร และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบทุกช่องทาง เพื่อจะได้วางแผนการเดินทางล่วงหน้า ทั้งนี้ หากต้องการทราบข้อมูลสถานการณ์การจราจร ว่าจุดใดปิดการจราจรบ้าง รวมถึงเส้นทางเลี่ยง สามารถสอบถามได้ที่โทร. 1197 ตลอด 24 ชั่วโมง” รอง ผบช.น.ระบุ

พล.ต.ต.จิรสันต์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการปิดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) และรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที (MRT) เป็นการปิดตรงที่มีการชุมนุมในจุดนั้น อาจจะเกิดเหตุหรือความไม่สะดวกและความไม่ปลอดภัย เลยต้องมีการพิจารณาเป็นบางจุด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ แต่ในการพิจารณานั้นต้องดูในเรื่องของความปลอดภัยเป็นหลัก ก็อาจจะเกิดความไม่สะดวกบ้าง

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวเสริมในประเด็นนี้ ว่า การออกข้อกำหนดและประกาศในแต่ละครั้งของ กอร.ฉ.ได้มีการพิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ยกตัวอย่างในการปิดรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีการปิดเป็นห้วงๆ บางสถานีบางเวลา ไม่ได้มีการปิดตั้งแต่เช้า ถ้ายังมีการปิดแล้วมีการก่อความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายมากกว่าการเปิดสถานีด้วยซ้ำไป

“ประการที่สอง ในเรื่องของถนน แม้ว่าจะมีการชุมนุมในบางจุดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตำรวจจราจรก็ยังไม่ได้มีการพิจารณาในการปิดเส้นทางการจราจรทั้งหมด เนื่องจากเราดูตามสถานการณ์ ในบางกรณีถนนนั้นจะถูกปิดไปโดยปริยายโดยผู้ชุมนุมเอง เราก็มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและก็อำนวยความสะดวกในการเลิกการชุมนุม และในเรื่องของการปิดรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น เนื่องจากในช่วงแรกมีการทำลายทรัพย์สินที่เป็นของในส่วนรถไฟฟ้า การบังคับใช้กฎหมายของ กอร.ฉ. ทางใดทางหนึ่งต้องส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนแน่นอน แต่จะทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด” รองโฆษก ตร. กล่าว

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า เพราะถ้าห่ากเป็นการสกัดจริงก็คงห้ามไม่ให้รถวิ่งเลยทั่วกรุงเทพมหานคร ต้องมองกลับไปด้วยว่าการออกข้อกำหนด ข้อบังคับ คำสั่งต่างๆ กระทำเพียงเพื่อให้ส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด การพิจารณามีการกลั่นกรอง ไม่ได้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ฝากเรียนพี่น้องประชนที่สัญจรไปมาใช้รถใช้ถนน การที่คนอื่นไม่สามารถขับรถผ่านแยกได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร ไม่อยากไปโทษกลุ่มผู้ชุมนุม ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลในการปฏิบัติหน้าที่ การออกข้อกำหนดข้อบังคับเป็นไปตามความเหมาะสมความจำเป็นของสถานการณ์จริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น