xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง “อดีต ผกก.ป.-อัจฉริยะ” ถูกกล่าวหาร่วมกันถอนเงินคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายร้านจำหน่ายมือถือ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง “อดีต ผกก.ป.-อัจฉริยะ” ปธ.ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันถอนเงินคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ

วันนี้ (14 ก.ย.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาทอุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ อท.(ผ) 23/2559 ที่ น.ส.รัฏฏิการ์ ชลวิริยะบุญ เจ้าของร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือย่านมาบุญครอง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.อ.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก อดีต ผกก.สอบสวน บก.ป., พ.ต.ท.ชัยพร นิตยภัตร์ สว.สอบสวน กก.1 บก.ป., พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข (ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง), นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม, นายณัฐพสิษฐ์ ชาญจรูญจิต, น.ส.วิภาณี ต๊ะมามูล น.ส.ธนสร แก้วเทพ เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เเละร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า คดีนี้โจทก์คือ น.ส.รัฏฏิการ์ เจ้าของกิจการร้านรับซื้อขายแลกเปลี่ยนและซ่อมแซมอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ย่านมาบุญครอง ชื่อร้าน EST2001, ร้าน INSTALL และมีร้านของสามีชื่อร้าน 55 โฟน ส่วนจำเลยที่ 1-3 เป็นพนักงานสอบสวนสังกัดกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม จำเลยที่ 4 เป็นประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม จำเลยที่ 5-7 เป็นผู้สั่งซื้อโทรศัพท์มือถือเพื่อนำไปขายต่อ โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ถึงมกราคม 2557 น.ส.บุศรินทร์ ยื่อโหนด และนายมนัส โชติขัน มาซื้อโทรศัพท์ที่ร้านของโจทก์ และร้านอื่นๆ ในย่านมาบุญครอง ในราคาท้องตลาดจำนวน 2,000 กว่าเครื่อง นำไปหลอกลวงผู้อื่นว่าจะขายในราคาต่ำกว่าทุน แต่เมื่อหลอกลวงได้จำนวนมากแล้ว (โดยได้หลอกลวงจำเลยที่ 5-7 ด้วย) ได้หลบหนีไป ต่อมา น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส ถูกจับ และถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 20 ปี

พนักงานสอบสวนตรวจสอบบัญชีของ น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส พบการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์และผู้อื่นอีก 20 กว่าราย แต่เลือกบัญชีของโจทก์เพียงบัญชีเดียว ว่าเป็นบัญชีที่รับโอนเงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชน และแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้อายัดเงินในบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง ชื่อบัญชีโจทก์ เลขที่บัญชี 7022883555 เลขที่บัญชี 7022484499 และบัญชีของโจทก์อีก 3 บัญชี ซึ่งโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านแล้ว ต่อมา ปปง.มีหนังสือถึงโจทก์ ลงวันที่ 24 เม.ย. 2558 แจ้งมติคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. เห็นชอบให้เลขาธิการ ปปง.ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย และให้ดำเนินการกับทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.ปปง. 2542 มาตรา 49 วรรคหก และ ป.วิฯ อาญา มาตรา 85 หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนได้ส่งมอบพยานหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินให้จำเลยที่ 5-7 ไปแจ้งความดำเนินคดีโจทก์ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน จึงถือว่าจำเลยทั้ง 7 ได้ร่วมกันกระทำความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษ กล่าวหาว่า โจทก์ร่วมกับนางสาวบุศรินทร์ และ นายมนัส ฉ้อโกงประชาชน โดย น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส โอนเงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชนให้โจทก์ ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายโทรศัพท์ระหว่างจำเลยที่ 5-7 กับ น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส ส่วนเงินที่โอนมาเป็นเงินค่าโทรศัพท์ ไม่ใช่เงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชน

ต่อมาระหว่างเดือน ก.ย. - 8 ต.ค. 2558 จำเลยที่ 5 มีหนังสือถึงผู้บังคับการปราบปราม เร่งรัดให้ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. โดยออกคำสั่งให้ธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง อายัดบัญชีเลขที่ 7022883555 จำนวนเงิน 11,534,800.70 บาท และบัญชีเลขที่ 7022484499 จำนวนเงิน 94,550.79 บาท ผู้บังคับการปราบปรามจึงส่งให้จำเลยที่ 1-3 พิจารณาและออกคำสั่งไปยังธนาคารกสิกรไทย

กระทั่งวันที่ 8 ต.ค. 2558 จำเลยที่ 1-3 นัดจำเลยที่ 4 และ 5 มารับเงินทั้งสองจำนวนที่ธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง และจำเลยที่ 1-3 ให้ธนาคารถอนเงินในบัญชีของโจทก์ จำนวนเงิน 11,534,800.70 บาท และจำนวนเงิน 94,550.79 บาท ส่งมอบให้จำเลยที่ 5 ในเวลา 18.18 น. การกระทำของจำเลยที่ 1-3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทั้งยังเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษหนักขึ้น ส่วนจำเลยที่ 4-7 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1-3 เพื่อเอาเงินของโจทก์ไปโดยมิชอบ จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด

โดยคดีนี้ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งยกฟ้องในชั้นตรวจฟ้อง เเต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นไต่สวนเเล้วมีมูลจึงให้ประทับรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และ 2 ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เฉพาะกรณีเกี่ยวกับจำนวนเงินที่คณะกรรมการ ปปง.มีมติให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายกรณีนำเงินที่ได้จากการถอนเงินในบัญชีของโจทก์ในส่วนที่เป็นการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายและส่วนที่เกินอันเนื่องมาจากการแจ้งผิดหลงของคณะกรรมการ ปปง.มาแบ่งกัน และจำเลยที่ 4-7 ในข้อหาสนับสนุนจำเลยที่ 1-2 เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5-7 ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อกลั่นแกล้งให้บุคคลอื่นต้องได้รับโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 174, 200

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2563 ยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวไม่ใช่ผู้ที่รับรู้เหตุการณ์โดยตรงหรือประจักษ์พยานถือเป็นเพียงพยานบอกเล่าอีกทั้งเทปบันทึกเเละข้อความในไลน์ที่กล่าวอ้างเป็นพยานก็ไม่ได้มีการตรวจสอบเเละเซ็นรับรองจากผู้เชี่ยวชาญทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงไม่ใช่พยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ

ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ วันนี้นัดฟังคำพิพากษาจำเลยทั้งหมดเดินทางมาศาล

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกว่าการกระทำของจำเลยที่ 5-7 มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172,174 หรือเป็นผู้สนับสนุนในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 หรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 5-7 แจ้งความดำเนินคดีกับนางสาวบุศรินทร์ ยี่โหนดและนายมนัส โชติขันจนบุคคลทั้งสองถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อต่อมาพนักงานสอบสวนตรวจสอบพบว่าบุคคลทั้งสองโอนเงินที่ได้มาจากการฉ้อโกงซึ่งรวมเงินของจำเลยที่ 5-7 ด้วยแล้วมีการโอนเงินไปเข้าบัญชีผู้อื่นหลายรายรวมทั้งบัญชีเงินฝากของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 5-7 ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ร่วมกับบุคคลทั้งสองกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเห็นได้ว่าเป็นการแจ้งข้อเท็จจริงไปตามลำดับเหตุการณ์โดยข้อเท็จจริงที่แจ้งดังกล่าวก็มีมูลความจริงที่โจทก์เองก็ยอมรับว่ามีการรับโอนเงินจากบุคคลทั้งสองจริงจึงมิได้มีข้อความใดที่จำเลยที่ 5-7กล่าวอ้างอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 5-7 แจ้งหรือไม่ไม่ใช่ข้อสำคัญถึงแม้จำเลยที่ 5-7 จะแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับโจทก์ก็น่าเชื่อว่าเป็นการที่จำเลยที่ 5-7 กล่าวอ้างไปตามที่รับทราบข้อมูลมาจากพนักงานสอบสวนตามความเข้าใจของตน

ส่วนที่โจทก์รับโอนเงินมาดังกล่าวจะเป็นความผิดหรือไม่เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานต่อไปการกระทำของจำเลยที่ 5-7 ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา172,174 หรือเป็นผู้สนับสนุนในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าคดีโจทก์ส่วนนี้ไม่มีมูลชอบแล้วศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนกระทำของจำเลยที่1-3 มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157,200 และการกระทำของจำเลยที่4-7มีมูลเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่1-3 ในส่วนนี้หรือไม่

โจทก์อุทธรณ์ว่าความจริงเส้นทางการเงินได้โอนไปยังผู้รับโอนหลายราย เหตุที่จำเลยที่ 5-7เลือกที่จะแจ้งเอาเฉพาะกับโจทก์ก็อาจเป็นเพราะรายของโจทก์มีการรับโอนเงินเป็นจำนวนมากมียอดเงินสูงรวมถึงยอดเงินคงเหลือในบัญชีเงินฝากของโจทก์เพราะการแจ้งก็เป็นการสืบเนื่องมาจากเพื่อต้องการให้ได้รับเงินคืน

เห็นว่าการแจ้งเฉพาะโจทก์นั้นจำเลยที่ 5-7อาจเห็นได้ว่าเพียงพอที่ตนเองจะได้รับบรรเทาความเสียหายได้ดีกว่าผู้รับโอนรายอื่นเท่านั้นการไม่แจ้งหรือไม่ดำเนินการแจ้งเอากับรายอื่นก็หาทำให้การกระทำของโจทก์เป็นความผิดไป แต่เพียงผู้เดียวโดยที่ผู้รับโอนเงินรายอื่นจะพ้นผิดไปก็หาไม่จึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1-3 มีพฤติการณ์ไม่สุจริตเลือกปฏิบัติเฉพาะรายของโจทก์ ทำนองเดียวกันการที่จำเลยที่1-3นัดให้จำเลยที่ 5-7 มารับเงินที่เบิกถอนจากบัญชีของโจทก์ในเวลาหลัง18.00 น.ก็เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาและการร่วมกันเบิกถอนเงินในวันที่ 8 ตุลาคม 2558 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่ามีการแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและมีการบังคับใช้ฉบับที่แก้ไขใหม่แล้วจำเลยที่1-3ก็ทราบอยู่แล้วเพราะทนายความโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบก่อนแล้ว

ก็ได้ความจากที่ทนายโจทก์เองเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 เเละที่ 5-7 ถามค้านว่าพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่เบิกความว่ามีการแก้ไขใหม่คือพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ในมาตรา 2 ระบุให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป การเบิกถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารซึ่งเป็น วันเกิดเหตุคดีนี้จึงเป็นวันก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับจึงเป็นอำนาจที่ยังสามารถกระทำได้จำเลยที่1-3 หาจำต้องดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับที่ได้มีการแก้ไขใหม่ไม่

การกระทำของจำเลยที่ 1-3 ในส่วนนี้จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157,มาตรา 200 การกระทำของจำเลยที่ 4-7 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1-3 ในส่วนนี้ด้วยคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบ แล้วศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
กำลังโหลดความคิดเห็น