xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำคุกเป็น 50 ปี “สวัสดิ์ แสงบางปลา” ฟอกเงินโกงสหกรณ์จุฬาฯ 42 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เพิ่มโทษจำคุก “สวัสดิ์ แสงบางปลา” เป็น 50 ปี คดีฟอกเงิน 42 ล้านบาท ที่ได้จากการหลอกลงทุนซื้อโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านสหกรณืออมทรัพย์จุฬาฯ

วันนี้ (25 ส.ค.) ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีฟอกเงิน หมายเลขดำที่ ฟย.20/2560 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายสวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 80 ปีเศษ อดีตประธานกรรมการบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.ส.จิรัชญา หรือไข่เจียว คุณยศยิ่ง อายุ 24 ปีเศษ และ น.ส.ภวิษย์พร หรือชมพู่ ใบเกตุ อายุ 29 ปีเศษ ทั้งสองเป็นชาว กทม. และเป็นคู่รักกัน ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กรณีจำเลยร่วมกันฟอกเงิน 42 ล้านบาท ที่ได้จากการฉ้อโกงเงินประชาชนที่นำมาร่วมลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ โดยจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

คดีนี้สืบเนื่องจากคดีฉ้อโกงประชาชน หมายเลขดำที่ อ.2438/2560 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายสวัสดิ์เป็นจำเลย กรณีเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2559 - 9 มิ.ย. 2560 ต่อเนื่องกัน จำเลยเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ชักชวนประชาชนให้มาลงทุนอ้างว่าได้รับโควตา หรือการจัดสรรเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อไปจำหน่าย โดยจะได้ค่าตอบแทนร้อยละ 1 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ให้กู้ยืม และเดือนสุดท้ายจะได้รับผลตอบแทนคืนพร้อมดอกเบี้ย จนมีประชาชนหลงเชื่อจำนวนมาก นำเงินมาลงทุนทั้งสิ้น 183,730,000 บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อาญา มาตรา 341, 343 และ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อ วันที่ 31 ม.ค. 2562 พิพากษาว่านายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 และ น.ส.ภวิษย์พรที่ 3 มีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำผิดฐานฟอกเงินแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันฟอกเงินซึ่งเป็นบทหนักที่สุด โดยให้จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 มีความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม โดยจำคุกกระทงละ 4 ปี ซึ่งขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจจัดการของสถาบันการเงินตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ มาตรา 10 วรรคแรก จะต้องระวางโทษเป็นสองเท่า ดังนั้นจึงให้จำคุกกระทงละ 8 ปี ลดโทษคนละ 1 ใน 4 คงจำคุกจำเลยที่ 1 รวมทั้งสิ้น 20 ปี สจำเลยที่ 3 ให้จำคุก 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ และจำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์


วันนี้ ศาลเบิกตัวนายสวัสดิ์ จากเรือนจำมาฟังคำพิพากษา ส่วน น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 ซึ่งได้ประกันตัวเดินทางมาศาล

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวยปรึกษากันแล้วเห็นว่ามีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีนี้ นายสวัสดิ์จำเลยที่ 1 และ น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 คบหากันมานานหลายปี ย่อมมีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง จนมีความสนิทสนมและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ส่วนจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 คบหากันในลักษณะหญิงรักหญิง ระหว่างเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ได้โอนเงินให้จำเลยที่ 3 ผ่านบัญชีธนาคารที่ใช้ร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นเงินกว่า 42 ล้านบาท และร่วมกันเบิกถอนเงินไปใช้จ่าย โดยไม่ได้โอนเงินคืนให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 อ้างคบหากันในเชิงชู้สาวกับจำเลยที่ 1 และมีการขอยืมเงินกันโดยทั่วไปเท่านั้น เพราะจำเลยที่ 3 ติดหนี้จากการพนันเป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่อาจเชื่อถือได้ พยานหลักฐานของโจกท์มีเหตุผลเพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนเงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชนและการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยร่วมกันกระทำความผิดและแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยที่ 3 และพวกของจำเลยที่ 1 ส่งต่อเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โดยผ่านบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 รับโอนเงินดังกล่าว อันเป็นการร่วมกันซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงินหรือทรัพย์สินนั้น โดยจำเลยที่ 3 รู้ในขณะรับโอนทรัพย์สินนั้น มาว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด กระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ส่วนใหญ่เป็นพยานบอกเล่าไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความจึงไม่อาจรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226 นั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ไม่ได้โต้แย้ง ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ส่วนใดเป็นพยานบอกเล่าและไม่ควรรับฟังด้วยเหตุผลใดจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ขัดต่อป.วิ อาญา มาตรา195 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยที่ 3นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นด้วย


ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ไว้ถูกต้องแล้วหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2543 ซึ่งตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ที่กระทำความผิดต้องรับโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นและการกระทำอันเป็นความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 60 มีอัตราโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นโทษสองเท่าที่กำหนดไว้ จึงต้องเป็นโทษจำคุกตั้งแต่ 2-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 40,000-400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดอยู่ในหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (3) เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกระทงแล้ว จึงต้องจำคุกไม่เกิน 50 ปี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 6 ปีรวม 10 กระทงเป็นโทษจำคุก 60 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงต้องลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ได้ไม่เกิน 50 ปี ไม่ใช่จำคุกเพียง 20 ปี ไม่อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น


ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่าความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3256 ถึง 3257/2561 ของศาลชั้นต้นเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ไม่ใช่คดีต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน จึงนับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวได้ เห็นว่าความผิดตามสำนวนคดีดังกล่าว ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันนั้น เป็นคดีที่โจทก์ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งเป็นการกระทำความผิดที่อาศัยความผิดมูลฐานมาจากการกระทำความผิดฐานการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งคดีทั้งสองคดีข้างต้นกับสำนวนคดีทั้งสองสำนวนที่รวมการพิจารณาพิพากษาคดีเข้าด้วยกันเป็นคดีนี้นั้น เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระและมีเจตนาในการกระทำผิดแยกต่างหาก โดยไม่มีความเกี่ยวพันกัน ผู้เสียหายและพยานหลักฐานเป็นคนละชุด ลักษณะคดีและความผิดคนละประเภทไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือพิจารณาพิพากษารวมกันไปได้ จึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (3) ศาลย่อมนับโทษต่อกันได้ที่ศาลชั้นต้นไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวนั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น


อย่างไรก็ตาม สำหรับสำนวนที่ 2 นั้น เมื่อความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามที่สมคบกันกับความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากันเห็นควรให้ลงโทษฐานร่วมกันฟอกเงิน การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินต่างกรรมกันอีกกระทงนั้น จึงไม่ถูกต้องและเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง

พิพากษาแก้เป็นว่าจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 6 ปี รวม 9 กระทง รวมเป็น 54 ปี แต่คงจำคุกได้เพียง 50 ปีตามกฎหมาย และให้นับโทษต่อจาก คดีเลขที่ อ.3256/2561, อ.3257/2561 โดยให้หักวันคุมขังจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาให้ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำตัดสินศาลชั้นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น