xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง “พระครูกิตติ พัชรคุณ” อดีตเจ้าคณะอำเภอชนแดน คดีฟอกเงินทอนวัด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 “พระครูกิตติ พัชรคุณ” อดีตเจ้าคณะอำเภอชนแดน (แฟ้มภาพ)
ศาลอุทธรณ์พิพากษาพิพากษากลับให้ยกฟ้อง “พระครูกิตติ พัชรคุณ” อดีตเจ้าคณะอำเภอชนแดน คดีฟอกเงินทอนวัด ตจว. 12 แห่ง

วันนี้ ( 26 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีฟอกเงินทอนวัด สำนวนคดีดำหมายเลข อท.38/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามทุจริต เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “พระครูกิตติ พัชรคุณ” อดีตเจ้าคณะอำเภอชนแดน จ.เพชรบูรณ์ และเจ้าอาวาสวัดลาดแค หรือ นายสมเกียรติ ขันทอง อายุ 56 ปี เป็นจำเลย ในความผิดฐานฟอกเงินโดยสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินนั้น ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3, 5 (1) (2) (3), 9, 60

กรณีที่ “พระครูกิตติ” ร่วมกับ “นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์” อดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. ซึ่งตัวยังหลบหนีตั้งแต่ชั้นสอบสวนของ ปปป. (อัยการมีความเห็นสั่งให้ฟ้องไว้แล้ว พร้อมให้ออกหมายจับติดตามตัวมาดำเนินคดีภายในอายุความ 20 ปี) วางแผนยักย้าย-ถ่ายโอนเงินทอนวัดราว 24 ล้านบาทเศษ ที่ได้เบียดบังจากการทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ที่เป็นเงินอุดหนุนให้ 12 วัด 13 รายการ จำนวน 28 ล้านบาท ในการบูรณะซ่อมแซมวัด หรือเพื่อโครงการศึกษาพระปริยัติธรรม หรือโครงการเผยแผ่กิจกรรมทางศาสนา

โดยพวกจำเลย ร่วมกันเบียดบังเงินส่วนที่ให้กับวัดในเขต จ.เพชรบูรณ์, ตาก, นครสวรรค์, ชุมพร ไป ด้วยการแบ่งส่วนเงินงบประมาณเพียงเล็กน้อยประมาณ 50,000 บาท ถึงหลักแสนบาท จูงใจให้วัดยินยอมนำเงินงบประมาณฯ ที่จะถูกจัดสรรมานั้นเข้าบัญชีวัด แล้วให้โอนคืนเงินนั้นกลับให้พวกตนโดยใช้บัญชีธนาคารของวัดเป็นเครื่องมือปกปิดอำพรางการกระทำความผิดของพวกตน ให้ดูเสมือนว่าเงินที่โอนและถอนออกจากบัญชีวัดเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่เงินซึ่งถูกทอนมานั้นจะนำเข้าบัญชี หรือส่งมอบเป็นเงินสดให้แก่ “พระครูกิตติ” เพื่อรวบรวมมอบให้ “นายนพรัตน์” อดีต ผอ.พศ. อันเป็นการกระทำผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งอัยการฟ้องเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 ขณะที่จำเลยให้การปฏิเสธ พร้อมต่อสู้คดี โดยระหว่างการพิจารณาได้ประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล โดยให้เก็บรักษาหนังสือเดินทางของจำเลยไว้และให้คืนเมื่อสิ้นสุดสัญญาประกันแล้วด้วย

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2562 ว่า ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลย ร่วมกับนายนพรัตน์ ที่ได้จัดสรรงบ พศ. มาให้กับ 12 วัด ใน จ.เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, ตาก และชุมพร โดยที่แต่ละวัดไม่ได้ทำคำของบแต่อย่างใด แต่นายนพรัตน์ให้นำบัญชีของวัดมาเพื่อจะโอนเงินให้แต่ละวัดนับล้านบาท โดยเมื่อโอนเงินแล้วให้แต่ละวัดโอนเงินกลับส่งคืนให้จำเลย เพื่อส่งต่อให้นายนพรัตน์ อ้างว่า จะนำไปให้วัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่ไม่มีการนำไปดำเนินการดังกล่าวจริง และได้นำมาแบ่งปันกัน และบางส่วนจำเลยนำมาให้จ่ายส่วนตัว เช่น ที่อ้างว่าได้พาพระและสามเณรไปแสวงบุญที่ประเทศอินเดีย ซึ่งการกระทำนั้นเป็นการจัดสรรงบโดยมิชอบและหลักเกณฑ์ที่ พศ. ยึดถือปฏิบัติ ซึ่งงบที่อ้างว่าที่จะใช้บูรณปฏิสังขรณ์วัดจะต้องมีคำขอจากวัด ไม่ใช่ พศ. ดำเนินการจัดสรร
การที่จำเลยอ้างว่าเข้าใจว่าการที่มีเจ้าหน้าที่ พศ. มาแจ้งและรับเงินคืน แต่งชุดราชการและนั่งรถตู้ตราสัญลักษณ์ จึงเชื่อว่าเป็นการจัดสรรงบโดยชอบนั้น เป็นการกล่าวอ้างง่ายเกินไป เพราะจำเลยได้รับการแต่งตั้งเป็นพระชั้นปกครอง ย่อมทราบถึงระเบียบหลักเกณฑ์ที่ได้ปฏิบัติมา จะอ้างวิธีการคนหมู่มากนำมาปฏิบัติใช้นั้นก็ย่อมจะไม่ชอบ ซึ่งขณะกระทำผิดจำเลยเป็นเจ้าคณะอำเภอถือเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ก็จะต้องรับโทษ 2 เท่า

พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ลงโทษ 13 กระทง กระทงละ 3 ปี แต่ทางนำสืบของจำเลยมีประโยชน์อยู่บ้าง ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 ให้จำคุกจำเลย 26 ปี

ต่อมาอัยการโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้นั้นจะต้องได้ความเสียก่อนว่าเป็นการนำเงินหรือทรัพย์สินของกลาง ที่ได้มาจากการกระทำผิดมูลฐาน หรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำที่เป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมาเปลี่ยนสภาพเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบ เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้อง “…จำเลยกับพวก และ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ.ได้ร่วมกันวางแผนโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่ตนมีแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมิชอบ และโดยทุจริต จนทำให้มีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ประเภทงบอุดหนุน การบูรณปฏิสังขรณ์และการพัฒนาวัด หรืองบอุดหนุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาหรืองบประเภทอื่นๆ ที่รัฐจัดสรรเพื่อประโยชน์ในทางศาสนา ในปีงบประมาณ 2555-2559 ให้แก่วัดอย่างมิชอบด้วยระเบียบ กฎหมาย เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น...ต่อมาหลังจากการกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว อันเป็นความผิดมูลฐาน (5) ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 จำเลยกับพวก...”

จึงแสดงว่าเงินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานที่โจทก์ฟ้องมานั้น จะต้องได้มาจากการที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำให้มีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินประเภทต่างๆ ให้แก่วัดตามคำฟ้องโดยมิชอบ หรือโดยทุจริต สำหรับการดำเนินการเพื่อให้มีการอนุมัติสั่งจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินประเภทงบอุดหนุน การบูรณปฏิสังขรณ์และการพัฒนาวัดจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้นั้น ได้ความจากนักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษปฏิบัติหน้าที่ ผอ.กลุ่มบูรณพัฒนาวัดและศาสนสงเคราะห์ สังกัดกองพุทธศาสนสถาน สำนักงาน พศ. เบิกความประกอบบันทึกคำให้การว่า ช่วงปี 2555-2560 สำนักงาน พศ.ได้จัดงบประมาณประเภทงบอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์ให้แก่วัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีขั้นตอนคือ กลุ่มบูรณพัฒนาวัด จะเสนอคำของบประมาณไปยังสำนักงานเลขาธิการ พศ. โดยส่วนแผนงานจะรวบรวมคำของบประมาณเสนอไปยังสำนักงบประมาณ เมื่อได้รับการจัดสรรงบตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยงบประมาณแต่ละปีงบประมาณแล้ว กลุ่มบูรณพัฒนาวัด จะจัดทำแผนโครงการเสนอต่อ ผอ.พศ. เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ซึ่งจะมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมจำนวนหนึ่งร่วมอยู่ด้วย ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้จะกำหนดหลักเกณฑ์หรือคุณสมบัติในการจัดสรรงบอุดหนุน และทำหน้าที่รวบรวมคำขอของวัดต่างๆ และตรวจสอบความครบถ้วนว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ก่อนที่จะมีมติจัดสรรเงินให้แก่วัดต่างๆ ซึ่งการตรวจสอบก็จะต้องเสนอผ่าน รอง ผอ.พศ.และ ผอ.พศ. เพื่ออนุมัติตามลำดับ โดยในปีงบประมาณ 2555-2559 มีการอนุมัติงบประมาณ ซึ่งเป็นงบอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและศาสนสงเคราะห์ให้แก่ 12 วัด ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ,ชุมพร, ตาก, เพชรบูรณ์

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารเกี่ยวกับคำสั่งสำนักงาน พศ.เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณา ขอรับสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด, รายงานการประชุม, รายงานการขอเบิกเงินคงคลัง ประกาศสำนักงาน พศ.เรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด และเอกสารอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขอสนับสนุนงบประมาณและการตอบรับเงินอุดหนุนการพัฒนาวัด โดยเอกสารเหล่านี้สอดคล้องเชื่อมโยงกับคำเบิกความของพยานนักวิชาการดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ในการอนุมัติงบประมาณ งบอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดจะต้องปฏิบัติตามระเบียบ มีการแต่งตั้งกรรมการประกอบด้วยบุคคลจากหลายภาคส่วน และมีการประชุมรวมทั้งต้องผ่านการรวบรวมแบบคำขอสนับสนุนงบประมาณของรัฐต่างๆ ที่จะตรวจสอบความครบถ้วน จนกระทั่ง ผอ.พศ.ลงลายมือชื่ออนุมัติให้จัดสรร ซึ่งลำพังแต่ ผอ.พศ.เพียงคนเดียวไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการหรือสั่งการให้อนุมัติแก่วัดใดวัดหนึ่งตามใจชอบได้

ส่วนการที่วัดต่างๆ จะได้รับเงินอุดหนุนจำนวนเท่าใดนั้น ได้ความจากบันทึกคำให้การของพยานอีกปากหนึ่งว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาอนุมัติจากกองพุทธศาสนสถาน ส่วนกลุ่มบริหารการเงินและบัญชีและงบประมาณ นอกจากนี้ ยังได้ความจากผอ.ระดับสูงสำนักงาน พศ. จ.นครสวรรค์ และ จ.ชุมพร ทำนองเดียวกันว่าวัดต่างๆสามารถยื่นคำขอรับเงินอุดหนุนไปที่สำนักงาน พศ.ประจำจังหวัด หรือ สำนักงาน พ.ศ.(ส่วนกลาง) โดยตรงก็ได้

ส่วนจำเลยกับพวกจะร่วมกันทำให้มีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินประเภทต่างๆ ให้แก่วัดทั้ง 12 แห่งตามฟ้องโจทก์โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต อันเป็นความผิดมูลฐานในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาเอกสารประกอบการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีใน จ.นครสวรรค์ ประจำปีงบประมาณ 2559 จะเห็นได้ว่ามีหนังสือเรื่องการขอเงินอุดหนุนงบประมาณ บูรณะซ่อมแซมอาคารแบบคำขอรับเงินผ่านธนาคาร ใบตอบรับเงินอุดหนุนการพัฒนาวัดและภาพถ่ายต่างๆ ของวัดรวมอยู่ด้วย รวมทั้งมีรายงานการประชุมคณะทำงานพิจารณาขอรับสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด จึงเห็นได้ว่าเป็นการดำเนินไปตามลำดับขั้นตอนในการอนุมัติของสำนักงาน พศ. โดยยังไม่ปรากฏรายละเอียดใดๆ ที่จะทำให้ฟังได้ว่า จำเลยร่วมดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณโดยมิชอบหรือโดยทุจริต

เมื่อวัดได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนแล้วก็ยังไม่ได้ความว่า จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องหรือเรียกร้องเงินใดๆ แต่กลับได้ความว่าสำนักงาน พศ.ประจำจังหวัดเข้ามาตรวจสอบการใช้เงินต่างๆ ของแต่ละวัดตามระเบียบอีกด้วย ในส่วนของนายนพรัตน์ ผอ.พศ.ก็พ้นจากตำแหน่งโดยเกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี 2557แล้ว ไม่ปรากฏว่ายังคงเป็นเจ้าพนักงานที่เข้ามามีบทบาท หรือมีอำนาจสั่งการจัดสรรอนุมัติเงินอุดหนุน พยานหลักฐานที่ได้ในส่วนนี้จึงไม่อาจยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยและนายนพรัตน์ แบ่งหน้าที่กันทำจนทำให้มีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ในส่วนของวัดในจังหวัดอื่น คำเบิกความที่เกี่ยวข้องกับจำเลยยังมีข้อสงสัยไม่สมเหตุสมผล พยานหลักฐานยังขัดแย้งกันหลายประเด็น ซึ่งยังไม่เป็นการแน่ชัดว่ามีการจัดทำเรื่องขอเงินอุดหนุนหรือรู้เห็นยินยอมให้มีผู้ดำเนินการจัดทำคำขอไปยังสำนักงาน พศ.แทนหรือไม่

ส่วนวัดลาดแคที่จำเลยเป็นเจ้าอาวาสพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนก็ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะรับฟังว่า เคยได้รับการจัดสรรงบอุดหนุนงบประมาณบูรณปฏิสังขรณ์วัดในปี พ.ศ. 2555 และ 2557 โดยมิชอบด้วยระเบียบ เมื่อไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นใดที่ได้จากการไต่สวนที่จะบ่งชี้ให้เห็นว่าระหว่างปีงบประมาณ 2555-2559 จำเลยกับพวกและนายนพรัตน์แบ่งหน้าที่กันทำเพื่อดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนโดยทุจริตอย่างไร ในขั้นตอนใดจนทำให้มีการอนุมัติเบิกจ่าย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ตามคำฟ้อง ดังนั้น เงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์ที่วัดรวม 12 แห่งได้รับ จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ส่วนหลังจากที่วัดต่างๆ ได้รับเงินแล้วจะไม่นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไปใช้ผิดระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หรือนำไปใช้จ่ายอย่างไร อันจะเป็นการกระทำโดยทุจริตหรือมิชอบ อันจะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากเป็นคนละกรณีกัน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น