xs
xsm
sm
md
lg

ประธานศาลฎีกาเปิดโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใยฝ่าภัยโควิด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา
ประธานศาลฎีกาเปิดโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใยฝ่าภัยโควิด” ผุด 4 โครงการ ช่วยลดภาระประชาชน และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้ต้องขัง ช่วงสถานการณ์โควิด-19

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมใหญ่สำนักประธานศาลฎีกา นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เปิดโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใยฝ่าภัยโควิด” ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพไปยังศาลยุติธรรมทั่วประเทศ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดภาระของคู่ความและประชาชนผู้ใช้บริการศาลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบหรือความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเนื่องจากการขาดรายได้ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ อีกทั้งเพื่อเป็นการช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวด้วย

โดย นายไสลเกษ กล่าวว่า ที่มาและลักษณะของโครงการ เกิดจากสถานการณ์ไวรัสโควิดเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงัก ประชาชนตกงาน ไม่มีรายได้เพียงพอ อยู่อย่างลำบาก ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ ศาลยุติธรรมก็อยู่นิ่งไม่ได้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการควรได้ลดภาระตามสมควร จึงเป็นที่มาของโครงการในครั้งนี้ ประกอบด้วย

โครงการที่ 1 การงดหรือลดภาระค่าใช้จ่ายของคู่ความในการดำเนินคดี เช่น การให้ลดค่าส่งหมาย หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ลง 20 เปอร์เซ็นต์, คืนค่าฤชาธรรมเนียมเป็นกรณีพิเศษ, การใช้กระบวนวิธีพิจารณาทางอิเล็กทรอนิกส์-ออนไลน์ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์และเว็บไซต์, การนัดคดีโดยเหลื่อมเวลากัน ลดไม่ให้คนมาศาลพร้อมกันในเวลาเดียวกัน ไม่กระจุกตัวรอที่ศาล รักษามาตรการจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย, มีจุดบริการ One Stop Service และ Drive thru รับคำร้องโดยไม่ต้องลงจากรถ, ส่งเสริมการฟ้องทาง e-Filng มากขึ้น ซึ่งไม่ยากลำบาก มีเจ้าหน้าที่แนะนำ ลดค่าใช้จ่ายได้มาก, การตรวจสอบข้อมูลโดยใช้แอปพลิเคชั่น และการใช้โปรแกรมคัดถ่ายคำพิพากษา เป็นต้น

โครงการที่ 2 การพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยออนไลน์ในศาลยุติธรรม เพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดเวลามาศาล เมื่อไกล่เกลี่ยสำเร็จศาลรับรองให้ หรือศาลทำคำพิพากษาตามยอม บังคับคดีให้ รวมถึงพร้อมไกล่เกลี่ยก่อนการฟ้องคดี ยิ่งลดค่าใช้จ่าย แค่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถไกล่เกลี่ยได้ จบด้วยความเข้าใจและนำมาซึ่งสันติ ได้สิ่งที่คนพอใจ และตนขอร้องให้แต่ละศาลรายงานความคืบหน้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อประเมินผล จะช่วยให้เราพัฒนาประสิทธิภาพโครงการนี้ในอนาคต

โครงการที่ 3 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น ถือเป็นปีทองของประชาชนที่จะปล่อยชั่วคราวให้มากที่สุด เนื่องจากคดีคนยากจนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ศาลมีการนำร่องไปสัมภาษณ์คนที่ถูกคุมขังในเรือนจำถึงเหตุที่ไม่ประกันตัว ทั้งที่เขาอยากประกันตัว เราจึงทำแบบยื่นคำร้องใบเดียวไม่ต้องมีหลักทรัพย์ประกัน และทำแบบประเมินความเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันคณะทำงานปรับปรุงแบบประเมินให้ง่ายขึ้น สามารถทำเสร็จได้ภายใน 12 นาที ขอร้องให้ผู้พิพากษาศึกษาคำแนะนำเรื่องนี้จากศาลนำร่องทุกภาค ได้แก่ ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ศาลจังหวัดขอนแก่น ศาลจังหวัดมหาสารคาม ศาลจังหวัดนาทวี ศาลจังหวัดภูเก็ต ศาลจังหวัดธัญบุรี ศาลจังหวัดลำพูน และศาลอาญาธนบุรี

นายไสลเกษ กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการนี้ที่ผ่านมาว่า สามารถนำคนยากจนออกจากคุกระหว่างรอพิจารณาได้กว่า 3,000 คน ขณะที่ช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด ก็ใช้การสัมภาษณ์และทำแบบประเมินออนไลน์ไปในคุก ถ้าหากใช้ทั่วประเทศ ผู้ต้องขังในคดีเล็กน้อยจะได้รับโอกาส คุกก็จะว่างขึ้น ไม่แออัด ส่วนจำเลยที่ไม่สมควรได้รับโทษจำคุก ก็มีแนวทางพิพากษาด้วยการให้คุมประพฤติ รอการกำหนดโทษ บริการสาธารณะประโยชน์ หรือผสมผสานกัน แทนการลงโทษจำคุกระยะสั้นที่ไม่จำเป็น พร้อมให้บริการดูแลป้องกันความปลอดภัยแก่สังคม โดยตั้งผู้ดูแลคุมประพฤติ ซึ่งมีระเบียบจ่ายค่าตอบแทนผู้ดูแลใช้แล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมพร้อมสนับสนุน และต้องหาคนมาขึ้นทะเบียนผู้ดูแล

ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า การรอการกำหนดโทษ ตนรณรงค์ให้ใช้ เพราะบางกลุ่มทำผิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำความผิดครั้งแรก เป็นผู้อ่อนวัยหรือเปราะบาง ไม่ให้มีตราบาปติดตัว เพราะถ้าพ้นเวลาไม่ทำผิดซ้ำ จะไม่มีประวัติ และมีศักยภาพมากกว่าการให้รอลงอาญา เพราะจำเลยกลัวไม่รู้ว่าจะโดนลงโทษแค่ไหนหากทำผิดซ้ำ ใช้บวกมาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยประคองให้มีโอกาส นักเรียนหรือเยาวชนไม่ควรมีตราบาป

ส่วนโทษกักขังแทนค่าปรับนั้น ให้ขอความสมัครใจทำบริการสาธารณประโยชน์แทนการกักขัง เขาจะไม่ตกงาน ให้ทำบริการสาธารณะวันหยุด ยุคนี้ต้องช่วยให้มีงานทำ มีประสิทธิภาพตรงกับสถานการณ์เช่นนี้ และให้ลดวงเงินการยื่นประกันตัวตามสถานการณ์โควิดเนื่องจากบางคนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งเกณฑ์การปรับลดจะพิจารณาได้มากน้อยแค่ไหน คณะทำงานฯกำลังจะพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า ก็คิดว่าจะได้เกณฑ์ที่ชัดเจน ว่าจะปรับลดได้ถึง 50% ต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง ซึ่งแนวคิดลักษณะนี้ จะเรียกได้ว่าลดกระหน่ำช่วง Justice On Sale แต่ไม่ว่าจะลดวงเงินแค่ไหน ก็จะไม่เป็นการแทรกแซงดุลพินิจของผู้พิพากษาที่จะพิจารณาว่าให้หรือไม่ให้ประกัน โดยเฉพาะจำเลยที่เป็นคนอันตรายไม่ต้องปล่อย หรือมีความเสี่ยงสูงก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะหลบหนี หรือถ้าให้ประกันจะใช้วงเงินเท่าใดหรือหลักทรัพย์เท่าใด หรือไม่ให้ประกันตัวเลยหากกระทบคดีหรือผู้เสียหาย ให้ยืดหยุ่นปรับใช้ได้ตามสถานการณ์

โครงการที่ 4 การพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนด้านแรงงาน เนื่องจากผู้ใช้แรงงานจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม หรือไม่สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ จึงให้เผยแพร่ความรู้กฎหมายแรงงานทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์, มีโครงการคลินิกแรงงาน ให้คำปรึกษากรณีแรงงานจะถูกเลิกจ้าง หรือถูกเลิกจ้างแล้ว และมีโครงการศาลแรงงานเคลื่อนที่ ใช้รถไปบริการตามศาลต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ศาลแรงงานก็ให้บริการออนไลน์มากขึ้น

นายไสลเกษ กล่าวช่วงท้ายว่า ถึงเวลาที่เราต้องมีส่วนในการเยียวยา หวังว่าเราต้องช่วยกันดูแลเสียสละในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งอยู่ในกรอบกฎหมาย ดุลพินิจ และความเป็นอิสระของผู้พิพากษา สอดคล้องกับนโยบายที่สัญญาประชาชนไว้ ทุกโครงการเราทำเชิงรุก ไม่นั่งรับปัญหาอยู่กับที่ อย่างการลงพื้นที่สัมภาษณ์คนที่ถูกคุมขังในเรือนจำ ศาลไทยเป็นศาลแรกที่ทำ และจะขยายความคิดนี้ชี้นำศาลในอาเซียนให้ไปดูแลประชาชน ทั้ง 4 โครงการ เริ่มตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 หลังจากนี้ อะไรที่มีประสิทธิภาพ มีประโยชน์ต่อประชาชน ขอให้พัฒนาต่อยอด

ภายหลัง นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า โครงการทั้ง4 ได้เริ่มไปแล้วตั้งแต่ มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เมื่อหมดระยะเวลาวันที่ 30 ก.ย. เป็นไปได้หรือไม่ที่โครงการทั้ง4 ดังกล่าวจะดำเนินต่อในสถานการณ์ปกติ ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอผลการประเมินการดำเนินโครงการจากทุกศาลก่อน แต่โดยส่วนตัวก็คาดหวังว่าโครงการเหล่านี้จะดำเนินต่อไปได้อีกในชุดของผู้บริหารต่อไปที่มารับไม้ต่อ

สำหรับโครงการที่ 3 เรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีและลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น ในส่วนของการพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องหา จำเลยหรือ ผู้ต้องขัง มีแนวทาง 3 ลักษณะ 1.การปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันแต่ให้มีการสาบานตัว 2.การพิจารณาเรียกหลักประกันโดยให้มีผู้ดูแล 3.การพิจารณาร่วมกับการใช้อุปกรณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลก็ได้ทำงานในเชิงรุกด้วยการดำเนินโครงการที่ผู้พิพากษาจะเข้าไปพบผู้ต้องขังในเรือนจำเพื่อพิจารณาการประกันตัวด้วยการยื่นคำร้องใบเดียว ของศาลทั่วประเทศ (กว่า 200 แห่ง) ซึ่งที่ได้ดำเนินการไปส่วนใหญ่จะเป็นความผิดโทษเล็กน้อยได้มีการปล่อยตัวไปแล้วประมาณ 3000 กว่าคน ขณะที่การดำเนินโครงการใหม่นี้ที่จะยกระดับการคุ้มครองสิทธิตนก็ขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจพิจารณารอการกำหนดโทษ (เป็นวิธีการที่ศาลใช้กับจำเลยซึ่งถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดในกรณีที่จำเลยนั้นยังไม่สมควรได้รับโทษ ซึ่งเป็นการให้โอกาศจำเลยกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลรอการกำหนดโทษไว้) เพื่อจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น โดยจะให้พิจารณาถึงกลุ่มเปราะบาง ที่ถูกดำเนินคดี เช่น เด็ก ผู้สูงวัย ผู้พิการ ซึ่งจะให้พิจารณาถึงลักษณะว่ามีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ มีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร หากถูกคุมขังจะเป็นประโยชน์หรือสูญเสียโอกาศหรือไม่ เช่น กลุ่มกระทำความผิดครั้งแรก เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาทิ คดีคนเก็บขายซีดีเก่า ซึ่งเป็นซีดีที่มีลิขสิทธิ์ แล้วถูกฟ้องดำเนินคดีผิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ถูกปรับเป็นเงินจำนวนสูง หรือ คดีที่พ่อแม่ขโมยซาลาเปาในห้างสรรพสินค้าไปเพื่อเลี้ยงลูก

เมื่อถามว่า การรอการกำหนดโทษจะสามารถดำเนินการกับคดีนักการเมืองหมิ่นประมาทกันด้วยหรือไม่ นายไสลเกษกล่าวว่า กรณีของการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่เป็นสาธารณะ และ บุคคลที่มีชื่อเสียง ในลักษณะของการตรวจสอบ เชื่อว่าในประเทศสังคมที่มีประชาธิปไตยน่าจะยอมรับได้มากกว่า แต่ถ้าเป็นการวิจารณ์เพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนรวมไม่ใช้กลั่นแกล้งส่วนบุคคล กรณีเช่นนี้ต้องมีเหตุที่ต้องพิจารณาดูจากพฤติกรรมและเจตนา ซึ่งการให้ใช้ดุลยพินิจพิจารณารอการกำหนดโทษนั้นก็จะใช้กับคดีที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงและสมควรให้โอกาศกลับตัว

นายไสลเกษกล่าวถึงการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไปยังเรือนจำว่า นโยบายข้อนี้ศาลฎีกาจะใช้วิธีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังเรือนจำกรณีที่ผู้ต้องขัง หรือจำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องขัง เพราะที่ผ่านมาขั้นตอนการส่งคำพิพากษาศาลฎีกาไปรออ่านยังศาลชั้นต้นจะต้องผนึกใส่ซองและส่งไปเก็บรักษาไว้ในตู้เซฟ ออกหมายนัดให้คู่ความทราบ ซึ่งกว่าจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ก็ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเศษ ซึ่งไม่ควรที่ผู้ต้องขังจะต้องอยู่ในเรือนจำอีก 1 เดือนกว่า เมื่อคำพิพากษาฎีกาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ซึ่งการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไปยังเรือนจำผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จะใช้เวลาเร็วกว่า และจะอ่านทุกฐานความผิดคดีอาญาทั่วไป รวมทั้งคดีความมั่นคง ซึ่งศาลเราจะอ่านทั้งคำพิพากษาศาลฎีกายกฟ้องและคำพิพากษาศาลฎีกาลงโทษจำคุก เพราะหากอ่านเฉพาะคำพิพากษาฎีกายกฟ้องก็จะทำให้ผู้ต้องขังสามารถคาดเดาคำพิพากษาได้

นอกจากนี้นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา กรรมการ ป.ป.ช
ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติการสรรหาผู้ที่จะดำรงตำเเหน่งในองค์กรอิสระ
นายไสลเกษ กล่าวว่า คณะกรรมการสรรหาในแต่ละชุดต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ดังนั้นประเด็นคือต้องดูว่าคณะกรรมการสรรหาเหล่านั้นทำตามขั้นตอน หรือตามข้อกฎหมายหรือไม่ ถ้าทำตามขั้นตอนแล้ว คิดว่าคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุดก็จบ เพราะได้ทำตามอำนาจหน้าที่ของตัวเองแล้ว
“ส่วนเรื่องการเปิดช่องไว้ให้มีการขัดแย้งกันได้ เป็นปัญหาในเรื่องการออกแบบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญ ถ้ารอบคอบตั้งแต่แรก ต้องปิดช่องไม่ให้เกิดความขัดแย้งอย่างนี้”

นายไสลเกษ กล่าวว่า คณะกรรมการสรรหาทุกชุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดที่ตนเป็นประธานกรรมการสรรหา ยืนยันว่าทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองโดยสุจริต และมีความเห็นของตัวเอง ทุกคนมีความเห็นต่างได้ มุมมองการตีความแตกต่างได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกิดความขัดแย้งกัน

“ถ้าตั้งแต่แรกมีการออกแบบไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน ปัญหาก็ไม่เกิด แต่ตอนนี้ถ้าตีความไม่เหมือนกัน จะไปที่ไหนล่ะ ถ้ามีการออกแบบรองรับไว้ ก็แก้ไขปัญหาได้ แต่ว่าผมนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าต้องไปที่ไหน ลองพลิก ๆ กฎหมายดูก็ไม่เห็นว่าต้องไปที่ไหนชัดเจน”

เมื่อถามว่ากรณีปัญหาการตีความอย่างนี้สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้หรือไม่ นายไสลเกษ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ

เมื่อถามว่า ในอนาคตจะมีบรรทัดฐานในประเด็นเหล่านี้อย่างไร นายไสลเกษ กล่าวว่า ถ้าคิดว่าไม่ได้แตะต้องในขั้นตอนของกฎหมาย และไม่มีใครสามารถชี้ขาดเรื่องนี้ได้ ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นอย่างนี้เป็นระยะ ๆ เพราะในเมื่อให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุดเป็นอิสระ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกกับเหตุการณ์ขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญคือหากคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุดดำเนินการโดยสุจริต ทำตามหน้าที่ กระบวนการลุล่วงไป ส่วนใครต้องการแสวงหาข้อยุติ ให้ไปดูว่าช่องไหนหาข้อยุติได้ ถ้ามีข้อยุติก็ผ่าน แต่บังคับใครได้หรือไม่ ไม่แน่ใจ เพราะกฎหมายเปิดช่องให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการได้อย่างอิสระ




กำลังโหลดความคิดเห็น