xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญาจับมือ 4 หน่วยงาน เปิดโอกาสผู้กระทำผิดทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
ศาลอาญาร่วมกรมคุมประพฤติ กทม. บช.น. และกระทรวงวัฒนธรรม เปิดโอกาสผู้กระทำผิดทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ หวังช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทำโควิด-19 ในคดีกระทำผิดเล็กน้อย

วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 10 อาคารศาลอาญา ศาลอาญาร่วมกับกรมคุมประพฤติ กระทรวงวัฒนธรรม กทม. และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการทำงานบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญาในการนี้ นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ และ พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ดังกล่าว โดยมี นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกาและประธานที่ปรึกษาโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใยฝ่าภัยโควิด” ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน

นายชูชัย อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า โครงการทำงานบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญาเป็นส่วนหนึ่ง ของโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใยฝ่าภัยโควิด” เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นตามนโยบายของประธานศาลฎีกาโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดภาระแก่คู่ความและประชาชนผู้ใช้บริการศาลในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของการติดเชื้อโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทำให้ขาดรายได้ ซึ่งโดยปกติแล้วการตัดสินคดีอาญาศาลจะใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ของทั้งโจทก์และจำเลย หากศาลเห็นว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดศาลจะพิพากษายกฟ้อง แต่หากศาลพิจารณาได้ความว่ามีการกระทำผิดและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยกำหนดวิธีการลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด
การลงโทษจำคุกจะใช้เฉพาะกรณีที่จำเลยทำความผิดร้ายแรง และน่าจะเป็นอันตรายต่อสังคม แต่หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดไม่ร้ายแรงจำเลยไม่เคยต้องโทษมาก่อนศาลอาจกำหนดโทษจำคุก แต่ให้รอการลงโทษไว้ หรือเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยไม่มีมลทินติดตัวศาลอาจใช้วิธีการรอการกำหนดโทษแทนก็ได้ สำหรับโทษปรับ ซึ่งอาจมองว่าเป็นโทษเบา แต่ถ้าไม่ชำระค่าปรับผู้ต้องโทษปรับอาจต้องถูกจำกัดอิสรภาพ ด้วยการกักขังแทนค่าปรับ

ศาลอาญาจึงนำนโยบายของประธานศาลฎีกาที่ให้ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น โดยนำการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับมาใช้ในศาลอาญาเพื่อเป็นทางเลือกให้จำเลยที่ศาลพิพากษาลงโทษปรับสถานเดียว หรือพิพากษารอการลงโทษและปรับ แต่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าปรับ สามารถยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับต่อศาลชั้นต้นได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีจำเลยผู้ต้องโทษปรับจำนวนมากที่ไม่ทราบถึงสิทธิดังกล่าว ทำให้ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับเพียงเพราะความยากจน ศาลอาญาจึงบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเพื่อให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ให้ผู้ต้องโทษปรับทราบถึงสิทธิที่จะขอทำงานแทนค่าปรับ และดูแลเพื่อให้การทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับของผู้ต้องโทษปรับครบถ้วนตามเงื่อนไขและบรรลุความมุ่งหมายของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว

โครงการนี้จะช่วยลดความแออัดในเรือนจำ และลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่กักขัง นอกจากนี้ การทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องโทษปรับได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและยังทำให้ผู้ต้องโทษปรับรู้สึกว่าได้ใช้ความรู้ความสามารถบำเพ็ญความดี ชดเชยให้แก่สังคมผ่านงานที่ทำด้วย ซึ่งโครงการนี้จะต้องมีการติดตามประเมินผลร่วมกับหน่วยงานภาคีเป็นระยะ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งแก่ผู้ต้องโทษปรับเองและสังคมโดยรวม

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้ผู้กระทำความผิด ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับมานานแล้ว การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์อย่างไร

นายชูชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องจริงที่กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และแก้ไขล่าสุดปี 2550 ที่ผ่านมา การบังคับใช้น้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนไม่ทราบว่ามีกฎหมายนี้ หรือเป็นความผิดของศาลที่ไม่ประชาสัมพันธ์เท่าที่ควร ซึ่งเราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์ ที่ควรจะต้องนำมาใช้มากขึ้น เพราะเราต้องการช่วยบุคคลที่ยากจนไม่มีเงินชำระค่าปรับ จนทำให้ต้องถูกกักขังแทนโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้การทำงานบริการสังคม 1 วัน แทนค่าปรับเป็นเงิน 500 บาท ทั้งยังสามารถประหยัดงบประมาณการเลี้ยงดูผู้ถูกคุมขังในเรือนจำด้วย

เมื่อถามถึงนโยบายที่ศาลจะนำวิธีการรอการลงโทษ มาใช้ กับการกระทำความผิดที่ไม่รุนแรง

นายชูชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศาลจะไม่ใช้วิธีรอการลงโทษ มากนัก แต่ละศาลก็จะมีบัญชีกำหนดอัตราโทษ ที่ไม่ได้ระบุเรื่องการรอการลงโทษไว้ แต่เมื่อประธานศาลฎีกามีนโยบาย ตอนนี้ศาลอาญาก็เริ่มใช้ไปแล้วหลายคดี เป็นคดีความผิดเล็กน้อย สำหรับเรื่องที่จะมีคนกล้าทำผิดมากขึ้นเพราะการรอการลงโทษ ต้องเรียนว่าทางศาลมีเงื่อนไขหลักเกณฑ์ ว่าต้องเป็นความผิดครั้งแรก โทษไม่สูง ไม่ใช้กระทำผิดซ้ำซาก ทั้งนี้ หากภายในระยะเวลาที่ศาลรอลงโทษ บุคคลนั้นกระทำผิดซ้ำ อัตราโทษที่รอไว้อาจจะรุนแรงขึ้นก็เป็นได้ ตนคิดว่ากับผู้กระทำผิดครั้งแรก ที่มีโทษเล็กๆ น้อยๆ ควรให้โอกาสได้กลับตัว เพราะถึงจะลงโทษขั้นรุนแรงไป ตนก็ไม่เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ยิ่งตอนนี้ทางราชทัณฑ์ก็บอกว่าผู้ต้องขังล้นคุกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น