“ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2563 ตอน จ้องงบโควิด 4 แสนล้านบาท ด่านสกัดโกงอาจเอาไม่อยู่
เม็ดเงินร่วม 4 แสนล้านบาท ในพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ ที่มีอยู่ 1 ล้านล้านบาท แต่อีก 6 แสนล้านบาท มีการจัดสรรใช้ไปแล้วหลายส่วน เช่นเงินช่วยเหลือประชาชนเดือนละห้าพันบาท ที่ให้กับประชาชนหลายสิบล้านคน
เงินอีก 4 แสนล้านบาท ที่เหลือ ซึ่งจะเริ่ม กดปุ่ม รอการเบิกจ่าย ในเร็ววันนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะแม้ไม่ใช่ ยาวิเศษ ทำให้ทุกอย่างฟื้นตัวได้ทันทีทันใด แต่ก็น่าจะพอช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
และด้วยเม็ดเงิน จำนวนมาก4แสนล้านบาท จึงทำให้หลายฝ่าย อดเป็นห่วงไม่ได้ ว่าจะมี เหลือบรอเขมือบ
แร้งจ้องรุมทึ้ง หรือบรรดาเสือหิว รอแบ่งเค้ก กินหัวคิว
เพราะมันเหมือนตู้ปันสุขทิ้งไว้ข้างถนน มือไวใจกล้าหน้าด้าน ก็เอาไป
หากมีคอรัปชั่น ไม่ต้องมาก งาบแค่ 10 เปอร์เซนต์ของ 4 แสนล้านบาท ก็ 4 หมื่นล้านบาท แล้ว
โดยที่กฎหมายยังไม่ผ่านสภา ข่าวลือ ออกมา ว่ามีการเตรียมตั้งโต๊ะ แบ่งผลประโยชน์ การเสนอและอนุมติโครงการ ที่จะเสนอของบที่อยู่ใน 4 แสนล้านบาท ที่มีการแฉกันกลางสภาที่ฝ่ายค้าน ปูดว่าได้ยินจะมีการกันเงินให้ส.ส.หัวละหลักหลายสิบล้านบาท
จริงอยู่ เรื่องแบบนี้ ยังเป็นเรื่องที่หาพยานหลักฐานไม่ได้ เพราะยังไม่มีอนุมัติ โครงการอะไร จะมาพูดว่าโกงกินกันแล้ว มันก็เกินไป แต่เรื่องแบ่งผลประโยชน์กันแบบนี้ คนที่วางแผน กับคนที่ร่วมสมคบคิด ต้องคุยกันไว้ก่อน แล้วค่อยไปทำแผนงานกันทีหลัง
เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง กับการที่ ส.ส.ทั้งหมดในสภาฯ จะต้องลงมติ เห็นชอบให้สภาฯ ตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ
เพื่อกมธ.ของสภาฯ ที่มีทั้งรัฐบาลและ ฝ่ายค้าน จะได้เข้ามา คอยร่วมเป็นหู เป็นตา ติดตามตรวจสอบการใช้เงินทุกบาทไม่ให้เกิดการแบ่งเค้กเงิน 4 แสนล้านบาท
เพราะหากฝ่ายค้าน มีข้อมูลอะไร ได้กลิ่นตุๆ ที่ไหน ก็ใช้ช่องทางกรรมาธิการ เรียกคนที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงทันที แบบนี้ก็ป้องกันการโกงกินได้ระดับหนึ่ง
ตอนนี้ มีญัตติด่วน จากห้าพรรคการเมือง เสนอเข้าสภาฯไปเรียบร้อยแล้ว คือญัตติของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่มาเป็นพรรคแรก -พรรคเพื่อไทย -พรรคประชาธิปัตย์-พรรคภูมิใจไทย และเสรีรวมไทย
ที่พลาดอย่างแรง ก็คือ พลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล ที่คุมทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลัง ซึ่งสองกระทรวงนี้ เป็นหลักในการใช้เม็ดเงิน 4 แสนล้านบาท
แต่กลับ ไม่มีส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ คนไหน ยื่นญัตติให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการตรวจสอบ การใช้เงินดังกล่าว ต้องถือว่า เป็นก้าวที่พลาดของพลังประชารัฐ ที่ต้องถูกสังคมมองว่า
พลังประชารัฐ ลับลมคมในอะไร หรือไม่ถึงไม่ยอม ให้ใช้กลไกสภา คอยตรวจสอบการใช้เงินจำนวนมากและสำคัญต่อการฟื้นฟูประเทศนี้
แม้พลังประชารัฐ จะมาโหนกระแส ด้วยการไฟเขียวให้ วิปรัฐบาลมีมติให้ตั้งกรรมาธิการ ในด้านความเชื่อถือ ถือว่าสายเกินไปแล้ว เพราะตามหลังพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองอย่าง ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย จนเสียฟอร์มพรรคแกนนำ
ยิ่งตอนนี้ พลังประชารัฐ กำลังมีปัญหาภายในพรรค เรื่องการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค ที่จะมีผลไปถึงการปรับคณะรัฐมนตรี ที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนตัว รัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญอย่าง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากอุตตม สาวนายน เป็นคนอื่น ซึ่งกระทรวงการคลัง คือเจ้าภาพหลักในการทำเรื่อง พ.ร.ก.โควิดสามฉบับ 1.9 ล้านล้านบาท แล้วยังจะมี พรบ.โอนงบประมาณอีก 8 หมื่น 8 พันล้านบาทที่กันออกมาเป็นงบกลาง
เพื่อใช้ ในเรื่องแก้ปัญหาผลกระทบจากวิกฤติโควิดและปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้กำลังจะมีร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 อีกหลายล้านล้านบาท ตามมาอีกในช่วงเดือนสิงหาคม
เรียกได้ว่า หากใครได้เป็น รมว.คลัง หรือได้เป็น รัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับ การอนุมัติโครงการต่างๆ ที่จะใช้งบโควิดฯ ได้ ก็มีอำนาจเพิ่มขึ้นจากปกติ อย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย รับไม้ต่อคุมการใช้เงินจากคลัง เพราะการเสนอและอนุมัติโครงการขึ้นมาจากแต่ละพื้นที่ในแต่ละจังหวัด โดยผ่าน คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ หรือก.บ.จ.
จากนั้น เสนอต่อไปยัง คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่เป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ที่คอยอนุมัติการใช้เงิน
ซึ่งรัฐบาล การันตีมาตลอดว่า ฝ่ายการเมืองเข้าไปสั่งการ แทรกแซงการอนุมัติการใช้เงิน 4 แสนล้านบาท ไม่ได้ เพราะโครงการที่จะนำเงินไปใช้ได้ ต้องเป็นโครงการที่เกิดจากความต้องการของคนในพื้นที่ ที่มีการกลั่นกรองแล้วว่า เข้าองค์ประกอบตามกฎหมายที่วางไว้
แต่ในความเป็นจริง มันก็ยังมีช่องทาง เปิดช่องให้มีการต่อรอง แสวงหาผลประโยชน์ได้อยู่ดี เพราะการที่วางขั้นตอนเสนอโครงการไว้กว้างๆ เช่น ให้ทำโครงการ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ หรือ ระบบชลประทาน โดยให้แต่ละจังหวัดทำผ่าน ก.บ.จ.ขึ้นมา
เมื่อไปดูโครงสร้าง ก.บ.จ. ก็พบว่ามี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน โดยรองผู้ว่าฯทุกคน เป็นกรรมการหมด ส่วนกรรมการคนอื่นๆ ก็มี ตัวแทนส่วนราชการกระทรวงอื่นๆ ในพื้นที่ ,ผู้แทนผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ,ผู้แทนภาคประชาสังคม, ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด
แค่นี้ก็เห็นแล้วว่า ก.บ.จ. ก็คือ กลุ่มอำนาจในจังหวัด เช่น พวกข้าราชการมหาดไทย ที่ก็ต้องขึ้นตรงกับ ส่วนกลางในมหาดไทย ตลอดจน ข้าราชการหน่วยอื่นๆในพื้นที่ ซึ่งล้วนใกล้ชิดกับ นักการเมือง-ส.ส.-รัฐมนตรีในพื้นที่ และส่วนกลาง จึงเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์กัน
จนน่าเป็นห่วงไม่ได้ว่า อาจเปิดช่องให้มีรายการคุณขอมาได้ตั้งแต่ระดับพื้นที่ จนถึงส่วนกลางในการทำและขออนุมัติโครงการ ขณะที่กรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการประจำ ที่ถูกตั้งมาในรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น
จึงเป็นที่มาของความหวั่นเกรง จะมีรายการ ใบสั่ง ให้ทำโครงการ เพื่อขอใช้เงิน แล้วก็เกิดการรั่วไหล แบ่งเค้ก ทุจริต เกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีเสียงทักท้วง ให้รัฐบาลตั้งการ์ดสูงๆ วางกลไกป้องกันการโกงเงิน 4 แสนล้านบาทนี้ให้โปร่งใส มีการตรวจสอบได้ รัฐบาลก็ควร รับไปดำเนินการ
เพราะลำพัง กลไก ก.บ.จ. -กระทรวงมหาดไทย-กระทรวงการคลัง -คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ หรือแม้แต่จะเอาพวกองค์กรอิสระทั้งหลายอย่าง สตง.-ป.ป.ช. -ปปท. มาคอยสกัดไม่ให้มีการทุจริตเงิน 4 แสนล้านบาท สุดท้าย อาจต้านไม่ไหว เขื่อนแตก