xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ชิงเหลี่ยมผู้บริหารแผนฟื้นฟู ระวัง! ทำการบินไทยกู้ยาก!?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2563 ตอน ชิงเหลี่ยมผู้บริหารแผนฟื้นฟู ระวัง! ทำการบินไทยกู้ยาก!?




การเดินหน้าผ่าตัดใหญ่ บริษัท การบินไทย ด้วยการนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ คืบหน้าออกมาเป็นระยะ และนับจากนี้ น่าจะมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน การบินไทย มีสภาพพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา 22 พ.ค. กระทรวงการคลัง ได้ขายหุ้น บริษัท การบินไทย ให้กองทุนรวมวายุภักษ์ จำนวน 69 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.17% ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทย ของกระทรวงการคลัง เหลือ 47.86% จาก 51.03%

ส่งผลให้การบินไทยสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจทันที ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ การบินไทย ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมแล้วเช่นกัน

ระหว่างนี้ อำนาจหลักการบริหารจะอยู่ที่บอร์ดการบินไทย ไปจนกว่าจะมีการตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง จากนั้น บอร์ดการบินไทย ก็จะสิ้นสภาพไปเช่นกัน

แต่ดุลอำนาจ การบริหารหลัก กระทรวงการคลัง จะยังคงมีบทบาทต่อไป ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ การบินไทย

มีข่าวว่าการประชุมครม.อังคารนี้ จะมีการเปลี่ยนมติ ครม.ผู้รับผิดชอบดูแลแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย จากเดิมมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ให้กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ ให้เปลี่ยนมาเป็นกระทรวงการคลัง ท่ามกลางร่องรอย ความขัดแย้ง เรื่องการแย่งซีน การบริหารงาน การบินไทย

ระหว่าง นายอุตตม สาวนายน รมว.คลังและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่เกิดขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องการชิงหน้าเสื่อ เรื่องการเข้าไปมีบทบาทในการนำการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

โดยเฉพาะร่องรอย ความไม่ลงรอยกันของแกนนำสองพรรค พลังประชารัฐ กับภูมิใจไทย ในเรื่องการหาตัวผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย ที่แย่งซีนกันไปมา

จนทั้งสองคน ต้องเข้าไปคุยกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯที่ทำเนียบรัฐบาล สองรอบ สองวันติดๆกัน คือเมื่อวันศุกร์กับเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ แผนการผ่าตัด กู้ซาก การบินไทย ต้องมีการพลิกแผน เปลี่ยนท่าทีกันแบบวันต่อวัน

เช่น จากเดิมที่จะให้มีการตั้ง ซูปเปอร์บอร์ด
ทำหน้าที่กลั่นกรองงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ การบินไทย ในส่วนของฝ่ายรัฐบาล โดยให้ วิษณู เครืองาม มาเป็นประธานกรรมการกลาง ระหว่าง ตัวแทนคมนาคม กับตัวแทน กระทรวงการคลัง

แต่พอ กระทรวงการคลัง เร่งขายหุ้น การบินไทยแบบรวดเร็วติดจรวด ชนิด กระทรวงคมนาคม ตั้งหลักไม่ทัน จน การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้ หลุดจากการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม

ทำเอา ศักดิ์สยามและถาวร เสนเนียม ที่เตรียมจะเข้าไปเป็น ซูเปอร์บอร์ด คุมเรื่องการทำโผ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย ถึงกับออกอาการเคว้ง ตั้งรับไม่ทันกันทั้งสองคน ต้องรีบล่าถอย

และในวันเดียวกัน คือเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ศักดิ์สยาม ไปออกข่าว ไปแล้ว รัฐบาล จะให้มีซูปเปอร์บอร์ด โดย คมนาคม ส่งชื่อ ถาวร เป็นหัวเรือใหญ่อยู่ในซูเปอร์บอร์ด

แต่ตอนดึก วันเดียวกัน ก็มีข่าว การบินไทย โอนขายหุ้นแล้ว เหตุเพราะฝ่าย คมนาคม คงไม่คิดว่า อุตตม จะสั่งให้ เร่งโอนหุ้นการบินไทยแบบรวดเร็วและไม่มีการแจ้งกันไว้ก่อน ทำเอา ฝ่ายคมนาคม หน้าม้าน เสียฟอร์ม กันไป

เป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นถึง ความไม่ลงรอยกัน ในการแก้ปัญหา การบินไทย ของกระทรวงการคลัง ในความรับผิดชอบ พลังประชารัฐ กับ กระทรวงคมนาคม ที่สองรัฐมนตรีจากภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ คือ ศักดิ์สยาม กับ ถาวร แท็กทีมกันเพื่องัดกับ ฝ่ายอุตตม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

สอดรับกับกระแสข่าว ที่ออกมาตลอดว่า กระบวนการเดินหน้า ผ่าตัดใหญ่ การบินไทย มีความไม่ลงตัว ระหว่างกัน ในการ ชิงหน้าเสื่อ แก้ปัญหาการบินไทย ที่ สามพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล คือ

พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ที่มีการแย่งซีนกันมาตลอด ในการเข้าไปกุมสภาพ การแก้ปัญหาการบินไทย ทั้งเรื่อง การนำการบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ-การขอมีส่วนร่วมสำคัญในการตัดสินใจ ส่งคนเข้าไปเป็น ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ

เมื่อกระทรวงคลังชิงขายหุ้น การบินไทย ออกไปทำให้ หลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่คมนาคม ดูแล ส่งผลให้ ศักดิ์สยามกับถาวร ได้แต่ยืนอยู่ขอบเวที การฟื้นฟู การบินไทย ไปแล้ว

และนับจากนี้ ดุลอำนาจ ในการวางพิมพ์เขียว นำการบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ จะอยู่ในการคอนโทรลของ อุตตม จากพลังประชารัฐ โดยมี สมคิด คอยกำกับ

แต่กระนั้น ก็ยังมีกระแสข่าว ยังคงมีการต่อรอง แชร์อำนาจการบริหารงานการบินไทย ของสามพรรค รัฐบาล คือพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ กันอยู่ตลอดเวลา

จึงไม่แปลก ที่พอมีการตั้งบอร์ดการบินไทย เมื่อ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา หลายฝ่าย ก็วิจารณ์กันขรม กับรายชื่อที่ออกมา อันประกอบด้วย

1.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร จากพรรคพลังประชารัฐ

2.บุญทักษ์ หวังเจริญ ซึ่งชื่อของ บุญทักษ์ ถือว่า โปร์ไฟล์ เกรดเอ เพราะเป็นระดับ อดีตประธานแบงค์ ธนาคารทหารไทยมาแล้ว แถมคอนเน็คชั่นก็ไม่ธรรมดา เพราะด้วยความเป็นอดีตบิ๊กแบงค์ทหารไทย จึงย่อมรู้จักกับบิ๊กๆสายทหาร เป็นอย่างดี

3.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรมช.คมนาคม รัฐบาลประยุทธ์ และอดีตซีอีโอ ปตท. ชื่อนี้ไม่ต้องบอก ก็รู้ว่า สายตรง ตึกไทยคู่ฟ้า

4.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตดีดีการบินไทย อดีตประธานบอร์ดบริษัท ปตท. อดีตรมว.พลังงาน สำหรับ ปิยสวัสดิ์ ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวลอยมาจากแถว ๆห้องทำงานของนายถาวร แล้วว่า จะถูกดึงมาช่วยแก้ปัญหาการบินไทยอีกสักครั้ง

โดยปิยสวัสดิ์ ถือว่า มีความสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นอดีตดีดีการบินไทย ยุค กรณ์ จาติกวนิช เป็นรมว.คลัง ภรรยา คือ อานิก อัมระนันทน์ ก็คือ อดีตส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2554

ช็อตต่อไป หลังจากนี้ ต้องติดตาม กระบวนการทำโผ รายชื่อ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย ที่มีตัวเต็งออกมาแล้วหลายชื่อ ซึ่งแม้ว่า เวลานี้ ฝั่งพลังประชารัฐจะดึง อำนาจในการทำโผรายชื่อผู้บริหารแผน มาไว้กับฝ่ายตัวเอง

แต่หาก ฝ่ายภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ไม่ถอย ก็อาจเกิดการงัดข้อให้เห็นกันอีกรอบ ในช่วงการเคาะโผ รายชื่อผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย อันทำให้การฟื้นซากการบินไทยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เป็นปัญหาซ้อนปัญหาที่ผลอาจจะทำให้ ยากต่อการกอบกู้ จริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น