xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : เสี่ยงได้-เสีย ไม่ลองไม่รู้ ผ่อนปรนเฟส 2 โควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม 2563 ตอน เสี่ยงได้-เสีย ไม่ลองไม่รู้ ผ่อนปรนเฟส 2 โควิด-19





การผ่อนปรนในระยะที่ 2 หรือเฟส 2 จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ หลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ศบค.เปิดไทม์ไลน์ให้รับรู้กัน


คือวันที่ 8-12 พฤษภาคม 2563 จะเปิดรับความคิดเห็น และรวบรวมข้อมูลทั้งหมด, วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ซักซ้อมความเข้าใจ, วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เริ่มยกร่างข้อกำหนดมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2

จากนั้นจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณา และวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 จะเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่ 2 ตามสัญญาณที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ออกมาย้ำถึงความตั้งใจการเรื่องนี้

สำหรับกิจการและกิจกรรมในระยะที่ 2 ที่ได้รับการผ่อนปรน จะเป็นกิจการและกิจกรรมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าระยะที่ 1

โดยในระยะที่ 1 ที่มีการปลดล็อคไปแล้วเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมนั้น มีทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ 1.ตลาด ได้แก่ ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย 2.ร้านจำหน่ายอาหาร : ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศครีม (นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น หาบเร่

3.กิจการค้าปลีก-ส่ง : ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง/ยืนรับประทาน รถเร่หรือรถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อม ร้านค้าชุมชน ร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม

4.กีฬาสันทนาการ : กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดิน รำไทเก็ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟและสนามซ้อม

5.ร้านตัดผมเสริมสวย : ร้านตัดผมเฉพาะตัด สระ ไดร์ผม 6.อื่น ๆ : ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับฝากเลี้ยงสัตว์

ส่วนในระยะที่ 2 คือ กิจการขนาดใหญ่ พื้นที่ที่มีการติดเครื่องปรับอากาศ มีคนจำนวนมาก อย่างห้างสรรพสินค้า ที่จะกลับมาเปิดเต็มรูปแบบ หลังในระยะที่ 1 ผ่อนปรนให้บางกิจการในห้างสรรพสินค้าเปิดได้บางชนิด เช่น ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านโทรศัพท์

นอกจากนี้ ยังเป็นกิจการที่มีพื้นที่ปิด และมีขนาดใหญ่ มีคนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เช่น ร้านค้าวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ ร้านเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงร้านอาหารในห้าง เนื่องจากช่วงนี้เกิดวาตภัยหลายแห่ง จำเป็นต้องเปิดให้ประชาชนได้ซื้อวัสดุไปซ่อมแซมได้

ขณะที่ “พื้นที่สีแดง” หรือ พื้นที่มีความเสี่ยงสูงเช่นสนามมวย สถานบันเทิง ที่มีผู้คนแออัดจำนวนมาก รวมไปถึงผับ บาร์ อาบอบนวด เหล่านี้จะเป็นลำดับท้ายๆ หรืออาจจะพร้อมๆ กับการเปิดโรงเรียนที่มีกำหนดการเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคม

การผ่อนปรนในระยะที่ 2 นี้ เป็นเพียงการปลดล็อกให้บางกิจการ กิจกรรม กลับมาเปิดได้ แต่มาตรการเข้มข้นของรัฐอื่นๆ จะยังคงอยู่ โดยเฉพาะ 4 มาตรการหลัก คือ

1. ควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ 2.ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. 3.งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยไม่มีเหตุจำเป็น

4.งดการดำเนินกิจกรรมคนหมู่มาก ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันหรือเสี่ยงต่อการแพร่โรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นการชั่วคราว

แต่...แม้ว่าภาครัฐจะส่งสัญญาณผ่อนปรนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่ได้หมายความว่า สถานที่ต่างๆ ที่ได้รับการผ่อนปรน จะไม่กลับมาถูกปิดอีกครั้ง โดยสถานการณ์ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งครบ 14 วัน หลังการผ่อนปรนระยะที่ 1 จะเป็นตัวชี้วัด

และแม้ช่วงกลางเดือน ตัวเลขผู้ป่วยรายวันจะยังไม่แตะ 50 รายต่อวัน อันแสดงเป็นดัชนีชี้วัดระบาดที่จะกลับมาอีกระลอก แต่ก็ต้องดูช่วง 14 วัน หลังการผ่อนในระยะที่ 2 ด้วย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้หลุดพ้น สถานการณ์ของการแพร่ระบาด

ยิ่งในกิจการและกิจกรรม ที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 2 เป็นกิจการและกิจกรรมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้คนหมู่มากมาแออัดยิ่งสุ่มเสี่ยง

ดูได้จากบทเรียนการผ่อนปรนในระยะที่ 1 ที่ผู้คนออกมาใช้ชีวิตกันเกือบจะปกติ ผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า การป้องกัน หรือการระวังตกลงไปเยอะมาก เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ที่รัฐบาลประกาศกึ่งล็อคดาวน์ประเทศ

การใช้หน้ากากอนามัย การใช้เจลล้างมือ การเว้นระยะห่างทางสังคมลดลงอย่างเห็นได้ชัด กิจการและกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนปรนไม่ได้เคร่งครัดเท่าที่ควร เกิดเหตุการณ์ผู้คนแออัดบนรถไฟฟ้า รถเมล์ และการจราจรตามท้องถนนกลับมาติดขัดแล้ว

ซึ่งในรอบสองแน่นอนว่า ปริมาณผู้คนที่จะออกมาใช้ชีวิตปกติจะมากขึ้นกว่ารอบแรก ดังนั้น ถือเป็นความเสี่ยงอย่างสูง หากไม่ได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค

กลางเดือนพฤษภาคมนี้ คือช่วงที่เรียกว่า “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่สำคัญจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม อาจเรียกได้ว่า “ชี้ชะตาประเทศ” เพราะเป็นการผ่อนปรนที่เรียกว่า เกือบจะเต็มรูปแบบ

งานนี้ ถึงอย่างไรต้องเสี่ยงบนตัวเลขและตัวชี้วัดอื่น เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสังคมความเป็นอยู่ ไม่เสี่ยงก็ไม่รู้.


กำลังโหลดความคิดเห็น