อัยการเผยสถิติผู้กระทำผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 14 วัน ระหว่างวันที่ 3-17 เม.ย. จำนวนทั้งสื้น 9,061 คดี แนวโน้มทำผิดกฎหมายลดลง
วันนี้ (17 เม.ย.) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ตามที่ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้มีหนังสือกำชับพนักงานอัยการทั่วประเทศ ให้บังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ กับผู้กระทำการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยรวดเร็ว เฉียบขาด และมีคำขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยยับยั้ง และหยุดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) ซึ่งจะเป็นการป้องกันให้กับทุกคน ครอบครัว สังคม และประเทศชาติให้มีความปลอดภัย และกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด พร้อมกำชับให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ประมวลผล และรายงานภาพรวมของการดำเนินคดีผ่านสารบบคดีอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานอัยการสูงสุด และวันนี้ (17 เม.ย.) นายรัชต์เทพ ดีประหลาด ผอ.สำนักงานบริหารกิจการสำนักงานอัยการสูงสุด และนางณฐนน แก้วกระจ่าง ผอ.สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รวบรวมผลการดำเนินคดีของพนักงานอัยการทั่วประเทศในช่วงระหว่างวันที่ 3-17 เม.ย. 2563 ปรากฏผล ดังนี้ภาพรวมทั้งประเทศมีการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ทั้งสิ้น 9,061 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดี จำนวน 11,827 คน
นายประยุทธ กล่าวว่า จากสถิติจำนวนคดี และจำนวนผู้กระทำความผิดดังกล่าว เมื่อเทียบกับช่วงแรกที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระยะหลังมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อดูปริมาณจำนวนคดี และผู้กระทำความผิดโดยรวมแล้ว เห็นได้ว่ายังมีปริมาณการกระทำผิดค่อนข้างสูงอยู่ ซึ่ง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ยังคงกำชับให้พนักงานอัยการทั่วประเทศ ยังคงบังคับใช้กฎหมายและมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้นต่อไป
นอกจากนี้ นายประยุทธ กล่าวอีกว่า นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด มีความห่วงใยในคุณภาพชีวิตบุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุดทั่วประเทศ โดยเฉพาะราชการชั้นผู้น้อย และลูกจ้างของสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น สามีหรือภรรยาต้องหยุดงาน หรือถูกเลิกจ้างทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอจนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อัยการสูงสุดได้มอบหมายให้ นายธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ เลขานุการอัยการสูงสุด ดำเนินการรวบรวมข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบตังกล่าวเพื่อหาทางเยียวยา ช่วยเหลือตามความเหมาะสมโดยเร่งด่วนแล้ว
“กำลังเร่งสำรวจเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย หรือลูกจ้างของสำนักงานอัยการทั่วประเทศ ที่ครอบครัวประสบความปัญหาวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 เช่น ภรรยาหรือสามีเป็นลูกจ้าง ไม่ได้ทำงาน หรือมีบุตรต้องหาซื้อสาธารณูปโภคในการเลี้ยงชีพ เพื่อจะได้หาทางเยียวยาตามความเหมาะสมของแต่ละราย อาจจะให้เป็นเงิน หรือเครื่องอุปโภค สาธารณูปโภค โดยจะมีคณะทำงานช่วยกันพิจารณา ซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่ธุรการมีประมาณ 5,000 คน แต่เป็นระดับชั้นผู้น้อยที่เดือดร้อนจำนวนเท่าไหร่นั้น อยู่ระหว่างสำรวจ” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว