ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง “ธาริต เพ็งดิษฐ์” ไม่หมิ่น “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แถลงข่าวเปลี่ยนแปลงก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง ชี้ การกระทำตามอำนาจหน้าที่อธิบดีดีเอสไอ
วันนี้ (20 ก.พ.) ที่ห้องพิจารณา 716 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.1940/2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), บ.มติชน จำกัด, นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการนสพ.มติชน, บ.ข่าวสด จำกัด และนายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน บรรณาธิการ นสพ.ข่าวสด เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328
กรณีเมื่อวันที่ 27 ก.พ.- 5 มี.ค.2556 นายธาริต จำเลยที่ 1 แถลงข่าวกล่าวหาโจทก์ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีว่า ทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทนจำนวน 396 โรงพัก จากรายภาครวมเป็นรายเดียว ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ อันเป็นข้อความเท็จ ทำให้โจทก์เสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2558 ให้ยกฟ้องก่อนชั้นพิจารณาคดี ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 ให้ศาลชั้นต้นประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2561ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการแถลงข่าวของจำเลยที่1จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ที่จะแถลงข่าวเนื่องจากโครงการก่อสร้างโรงพักเป็นโครงการที่ประชาชนให้ความสนใจถือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะต่อประชาชน ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวไปตามที่จำเลยที่ 1 แถลง ซึ่งเป็นการติชมติชม โดยสุจริตด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของวิญญูชนกระทำ โดยที่จำเลยที่ 2-5ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนที่จะกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย
ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการแถลงข่าวในช่วงใกล้เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 กับพวกต้องการทำลายฐานคะแนนเสียงพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่า กทม.แข่งขันกับพรรคเพื่อไทยเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ส่วนที่อ้างว่าศาลเคยประทับรับฟ้องจำเลยที่ 1ในคดีหมิ่นประมาทอีกสำนวนจากเรื่องการก่อสร้างโรงพักเช่นกันนั้นข้อเท็จจริงในสำนวนคดีย่อมมีความแกตกต่างกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่การใส่ความ เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ส่วนจำเลยที่ 2-5 นำไปตีพิมพ์ข่าวเสนอข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 แถลงข่าว เป็นการกระทำโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของวิญญูชนพึงกระทำ จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง
โดยวันนี้จำเลยทั้งห้าเดินทางมาศาล พร้อมทนายความ ขณะที่ฝ่ายโจทก์ไม่ได้เดินทางมาศาล
โดยศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า จำเลยที่1รับราชการตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจำเลยที่2-5เป็นสื่อมวลชน ในวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่1แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนมีจำเลยที่2และ4อยู่ด้วยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงการก่อที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งมีสาระสำคัญว่าเดิมคณะรัฐมนตรีให้แยกประมูลจ้างก่อสร้างเป็นรายภาคแต่โจทก์กลับสั่งการยกเลิกการดำเนินการจัดจ้างเป็นรายภาคแล้วอนุมัติให้เป็นการจัดจ้างรวมศูนย์เพียงสัญญาเดียวที่ส่วนกลาง ต่อมามีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าการดำเนินจัดจ้างน่าจะไม่ถูกต้องเป็นการกระทำผิดมติคณะรัฐมนตรี กรมสอบสวนคดีพิเศษพบหลักฐานใหม่ การกระทำของโจทก์นอกจากจะกระทำผิดคณะรัฐมนตรีแล้วยังเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542 เนื่องจากเป็นการอนุมัติเปลี่ยนโครงการจากรายภาคเป็นศูนย์สัญญาเดียวทำให้เกิดความเสียหาย จำเลยที่1จึงมีคำสั่งตั้งคณะทำงานสืบสวนต่อมาพนักงานสืบสวนสรุปสำนวนว่า ข้อกล่าวหาโจทก์อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ปปช.
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์เพียงข้อเดียวว่าจำเลยทั้ง5ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ที่โจทก์นำสืบและอุทธรณ์ทำนองว่าจำเลยที่1แถลงและรีบให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมีจำเลยที่2และที่4อยู่ด้วย ว่าโจทก์จงใจฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการประมูลจัดจ้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมาตรา 157 และกฎหมายอื่น โดยจำเลยที่2และ4นำข้อความจำเลยที่1 แถลงหรือให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันและข่าวสดรายวัน โดยมีจำเลยที่3และที่5 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ด้วยเจตนาให้ร้ายโจทก์ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังจากบุคคลที่สาม เห็นว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาผู้กระทำผิดจะต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคแรก และข้อความที่เป็นหมิ่นประมาทที่ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามจะต้องเป็นข้อความที่ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังแล้วผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาจะต้องไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329(1)ถึง(4) เมื่อได้ความจากคำเบิกความของพยานว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งตั้งหัวหน้าคณะสืบสวนเกี่ยวกับข้อร้องเรียนโจทก์เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งที่กระทำขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี คณะสืบสวนทำการสืบสวนไปตามอำนาจหน้าที่ส่วนการให้ข่าวหรือสัมภาษณ์เป็นอำนาจของจำเลยที่1โดยจะมีคณะทำงานเป็นผู้ให้ข้อมูลต่างๆ แก่จำเลยที่1โดยจะสรุปประเด็นข้อเท็จจริงที่สำคัญพร้อมรายละเอียดและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ตรวจสอบพบและเป็นดุลพินิจของจำเลยที่1 ว่าจะแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์มากน้อยเพียงใด
จากข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้ง5จะเห็นได้ว่าจำเลยที่1ในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจที่จะแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ใดๆเกี่ยวกับคดีความที่อยู่ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษทำการสืบสวนสอบสวนให้ประชาชนและสื่อมวลชนรับทราบว่าคดีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนใด ข้อเท็จจริงจากการศึกสวนสอบสวนได้ความว่าอย่างไร มีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง
จากข้อความที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องและนำสืบกล่าวอ้างโดยมีพยานเอกสารต่างๆ จะเห็นได้ว่าข้อความที่โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้ง5ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณานั้นเมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าว ทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่าข่าวที่ปรากฏล้วนแต่เป็นการแสดงให้ความเห็นเป็นไปของข้อกล่าวหาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มาจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบและเป็นการแสดงความเห็นของจำเลยที่1ประกอบเอกสารที่จำเลยที่1กระทำในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนถึงการกระทำของโจทก์ว่าเข้าข่ายความผิดใดบ้าง ส่วนรายละเอียดของคดีในสำนวนจะเป็นอย่างไรก็ปรากฏว่าจำเลยที่1ไม่ได้ให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์เข้าไปในรายละเอียดของสำนวนอันเป็นดุลพินิจของจำเลยที่1ที่จะพึงพิจารณาว่าจะให้ข้อเท็จจริงได้เพียงใดที่จะไม่กระทบต่อรูปคดีที่จะเกิดความเสียหายคดี
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยที่1เป็นการกระทำที่หวังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็เป็นการกล่าวอ้างลอยลอยไม่มีพยานหลักฐานใดมาสืบยืนยันให้เห็นเจตนาที่แท้ของจำเลยที่1ที่แถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง ด้วยหวังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกทั้งโจทก์ไม่ได้ดำเนินการใดเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่1ดำเนินการกับจำเลยที่1ไม่ว่าจะเป็นทางวินัยหรือทางอาญาฐานเป็นข้าราชการที่ไม่วางตัวเป็นกลางทางการเมืองจึงเป็นความเข้าใจโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว ว่าการกระทำของจำเลยที่1มีเจตนาหวังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็เป็นไปได้
ดังนั้นการแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่ตนมีหาได้มีเจตนาที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังจะเห็นได้จากคำแถลงของจำเลยที่1ที่ไม่มีข้อความตอนใดที่บ่งชี้ว่าโจทก์ต้องถูกลงโทษในความผิดที่ถูกร้องเรียนและการเสนอข่าวของจำเลยที่2-5ก็เป็นการสรุปข่าวตามข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่1แถลงหรือให้สัมภาษณ์เป็นการย่อข่าวให้สั้นกระชับเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายอันเป็นการเสนอข่าวให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีได้รับทราบความคืบหน้าของข้อร้องเรียนว่ามีการดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้ว่าเป็นการเสนอข่าวโดยชี้นำให้เห็นว่าได้กระทำผิดตามข้อร้องเรียนแล้ว
การกระทำของจำเลยที่1จึงเป็นการกระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่และการเสนอข่าวของจำเลยที่2-5เป็นการกระทำในฐานะสื่อมวลชนที่มีหน้าที่เสนอข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบถึงผลการดำเนินคดีโจทก์ตามที่ถูกร้องเรียนว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสืบสวนสอบสวนไปถึงขั้นตอนใดแล้ว มีความเห็นอย่างไร หาได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหายการกระทำของจำเลยทั้ง5เป็นการกระทำไปโดยสุจริตในกรอบของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ตามมาตรา 329 (2) และ(3) จึงไม่มีความผิดตามฟ้องตามมาตรา 329 วรรคท้าย
เมื่อการกระทำของจำเลยทั้ง5ไม่มีความผิดตามที่ได้วินิจฉัยแล้วเหตุผลอื่นๆ ที่โจทก์กล่าวมาในอุทรณ์จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเพราะไม่ว่าจะวินิจฉัยไปทางหนึ่งทางใดก็ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนยกฟ้อง