รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 22 มกราคม 2563 ตอน คะแนนผีทำร่าง พ.ร.บ.งบฯ ฉาว แค้นต้องชำระ ปชป.-ภูมิใจไทย
คะแนนผีในการพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2ล้านล้านบาท เป็นเรื่องอื้อฉาวดังกระฉ่อนกระทบต่อภาพลักษณ์รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์
สำหรับเรื่องนี้ แม้ที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันอังคารที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา จะมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันฑ์ 225 เสียง เห็นชอบไปแล้ว อันถือว่าร่างพรบ.งบฯ ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาคือสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภา เรียบร้อยหมดแล้ว และต่อไปก็คือส่งให้ นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ
แต่ทว่ากระบวนการขั้นตอนต่อจากนี้ อาจทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ต้องนำร่างพรบ.งบประมาณขึ้นทูลเกล้าถวายฯ เพื่อทรงโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายงบประมาณ ต้องหนักใจเสียแล้ว
หลังเกิดกรณีมีข้อกังขา เรื่อง "คะแนนผี"ในการลงมติออกเสียง ของส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่มาจากพรรคภูมิใจไทย คือ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง เขต2 หลัง จากที่ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง ประชาธิปัตย์ ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น ที่ปรึกษารองนายกฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ออกมาเปิดประเด็นว่า
นายฉลอง ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมสภาฯตอนโหวตร่างพรบ.งบประมาณ ในวาระ 2และ 3 ที่ผ่านมา ในช่วงระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม เพราะปรากฏภาพถ่ายของนายฉลอง ว่าอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งพัทลุง
โดยเฉพาะการไปเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ และข้อมูลจากการตรวจสอบการเดินทางด้วยเครื่องบิน ที่สามารถยืนยันการเช็คอิน ขึ้นเครื่อง ได้แบบไม่มีผิดตัว
ซึ่งตัวนายฉลอง ก็ยอมรับว่าไม่ได้อยู่ในห้องประชุมสภาฯ จริง เพราะไปทำภารกิจสำคัญที่พัทลุง แต่เจ้าตัวยืนกราน ผ่านสื่อและกับแกนนำพรรคภูมิใจไทยว่า ไม่ได้ขอให้ส.ส.ของพรรคช่วยเสียบบัตรแทนกันตอนโหวตร่างพรบ.งบฯ
แต่เกิดจาก ก่อนจะออกจากห้องประชุมสภาฯ มาไม่ได้เอาบัตรลงคะแนนกลับบ้านติดตัวออกมาด้วย ซึ่งก็ทำลักษณะแบบนี้บ่อยคือจะวางไว้หรือเสียบค้างไว้ในห้องประชุม และตอนเย็นจะมีเจ้าหน้าที่มาเก็บ แล้ววันต่อมา ก็จะไปแจ้งขอบัตรคืนจากเจ้าหน้าที่สภาฯ
แต่เรื่องดังกล่าว ก็ถูกทักล้าง ด้วยผลการตรวจสอบของฝ่ายสภาฯ ที่ตรวจสอบพบว่า กรณีของนายฉลอง มีการเสียบบัตรแทนกันจริง
ส่งผลให้ ผลการลงคะแนนเสียงร่างพรบ.งบวาระสอง รายมาตรา รวมแล้วเกือบ 24 มาตรา ที่มีการเสียบบัตรแทนกัน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นเรื่องอื้อฉาว ของสภาไทย อีกครั้งหนึ่ง
ประเด็นของเรื่องนี้ แน่นอนว่าในทางการเมือง อาจมองได้ว่า เป็นเรื่องของการแก้แค้น เอาคืนของ นิพิฎฐ์ อดีตส.ส.พัทลุง ประชาธิปัตย์ แปดสมัยซ้อน ที่มีดีกรี อดีตรมว.วัฒนธรรมและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่รับผิดชอบพื้นที่เลือกตั้งภาคใต้ของพรรคตอนเลือกตั้ง 24 มีนาคม
ต้องกลายเป็นส.ส.สอบตก แพ้แบบไม่เห็นฝุ่น ให้กับ ฉลอง อดีตปลัดจังหวัดพัทลุงที่ลาออกจากราชการ มาสู้กับ นิพิฎฐ์
โดยมี นางนาที ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวฯ สองสามีภรรยา แกนนำพรรคภูมิใจไทยในภาคใต้ ที่เป็น เจ้าของกิจการปั้มน้ำมัน พีที ฯ เป็นพี่เลี้ยงใหญ่อัดฉีดให้ นายฉลอง เต็มที่
จนสุดท้าย ฉลอง เอาชนะอดีตส.ส.แปดสมัยอย่าง นิพิฏฐ์ ไปแบบขาดลอย คือฉลองได้ 47,584 คะแนน ส่วน นิพิฏฐ์ ได้แค่ 22,428 คะแนน จนกลายเป็นรอยแค้น ที่รอคอยวันเอาคืนทั้งฉลองและนางนาที ของนิพิฏฐ์
โอกาสก็มาถึงจึงไม่ปล่อยไป และไม่มียั้งมือ การเปิดประเด็น เสียบบัตรลงคะแนนของนายฉลอง และล่าสุด ลามมาถึงนางนาที กับข้อมูลของนิพิฏฐ์ ที่ออกมาปูดว่า นางนาที ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเสี่ยหนู อนุทิน ในช่วงสภาฯพิจารณางบ ฉบับดังกล่าว
ก็พบว่าร่วมคณะของจังหวัดระนอง ไปประเทศจีน ช่วง 11-15 ม.ค. ซึ่งวันที่ 11 ม.ค. ตรงกับการพิจารณางบวาระสองและสามพอดี จึงทำให้นางนาที อาจไม่ได้อยู่ร่วมโหวตร่างพรบ.งบ ด้วยเช่นกัน
จริงอยู่ว่า ทั้งสองกรณีที่นิพิฏฐ์ ออกมาเปิดประเด็น เป็นเรื่องการเมืองในพื้นที่ภาคใต้และพัทลุง ระหว่างนายนิพิฏฐ์และประชาธิปัตย์ กับนายฉลอง นางนาที และภูมิใจไทย
แต่ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ เมื่อมีการตรวจสอบจนได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้วว่า มีการเสียบบัตรกันจริง กรณีของนายฉลอง กระบวนการต่อจากนี้ ก็ต้องไปดูว่า จะนำไปสู่ถึงขั้นการเอาผิดใดๆ กับการเสียบบัตรแทนกันดังกล่าวได้หรือไม่ เช่น
การทำให้ต้องพ้นจาการเป็นส.ส.ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การถอดถอนออกจากตำแหน่ง ทั้งเจ้าของบัตร และส.ส.ที่ไปเสียบบัตรให้ โดยหากพบว่ามีพฤติการณ์จงใจ ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย
ขณะเดียวกัน ปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อเกิดคะแนนผี แบบนี้เกิดขึ้นกลางห้องประชุมสภา โดยเฉพาะกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญํติ ที่ต้องมีการนำขึ้นทูลเกล้า
ทุกประเด็นปัญหา ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ต้องหาทางออก ทำเรื่องนี้ ให้ถูกต้อง หมดจด ไม่ควรให้ข้อกังขาใดๆ ทั้งเรื่องข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ก่อนนายกฯ นำร่างพรบ.งบฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ
เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นหากต้องนำร่างกฎหมายที่มีปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯถวาย