MGR online - ศาลฎีกาไม่รับฎีกากองทัพบก ยังไม่จ่ายค่าเสียหายชดใช้แม่สิบโทกิตติกร คดีถูกซ้อมทรมานตายเรือนจำทหาร เป็นผลให้คดีสิ้นสุดชั้นอุทธรณ์ ต้องจ่ายชดเชย 1.87 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ (16 ม.ค.)ที่ผ่านมา ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ พ.1131/2560 คดีหมายเลขแดงที่ พ.858/2561 ที่ นาง บุญเรือง สุธีรพันธุ์ มารดาสิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งต่อกองทัพบกให้รับผิดกรณีละเมิดเป็นเหตุให้ สิบโทกิตติกร จนเสียชีวิต จากเหตุการณ์สิบเวรหรือผู้คุมเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 (มทบ.25) กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายสิบโทกิตติกร เสียชีวิตในเรือนจำทหาร จ.สุรินทร์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ก.พ.2559
โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิเคราะห์เเล้วเห็นว่า ขณะที่สิบโทกิตติกร ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 สิบโทกิตติกรถูกพลอาสาสมัคร ชูเกียรติ นันทะพันธ์ ตำแหน่งพลสารวัตรร้อย ส.ห. มทบ.25’ชรก.รจ.มทบ.25 ทำหน้าที่ผู้คุมพิเศษปฏิบัติหน้าที่นายสิบเวรเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 ร่วมกับ พลทหาร นลธวัช ใจมนต์ พลทหารยุทธพิชัย เสนพาท และ พลทหาร จีระศักดิ์ สิทธิศร ทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย การตายของสิบโทกิตติกร จึงเกิดจากการจงใจกระทำ(ละเมิด) ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่ พลอาสาสมัคร ชูเกียรติได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ของตนซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิด ดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ และเนื่องจากตาม พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.39 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐไว้ โดยเฉพาะจึงต้องนำกำหนดอายุความ 10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,870,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 21ก.พ.2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้กองทัพบกชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นค่าจัดการศพและค่าขาดไร้อุปการะ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,870,000 บาท แก่ บุญเรือง สุธีรพันธุ์ มารดาสิบโทกิตติกร
ต่อมา กองทัพบกโจทก์ยังยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาล
โดยศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่าฎีกาของโจทก์ไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 เพราะพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาของศาลอุทรจึงมีคำสั่งไม่รู้ญาติให้ฎีกายกคำร้องและไม่รับฎีกาของโจทก์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการตายของสิบโท กิตติกรนั้น ศาลจังหวัดสุรินทร์ได้เคยมีคำสั่งไต่สวนการตายเป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2559 แล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2559 ว่าผู้ตายถูกพลอาสาสมัครซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้คุมเรือนจำกับพวกรวม 4 คน ทำร้ายสิบโทกิตติกร มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารแตก จนถึงแก่ความตาย อีกทั้งรายงานการผ่าศพของแพทย์พบว่าภายในศีรษะมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง สมองบวม บริเวณทรวงอกภายในมีกระดูกซี่โครงหัก 2 ซี่ บริเวณปอดมีรอยฟกช้ำที่กลีบปอดซ้าย บริเวณท้องมีของเหลวสีน้ำตาลอยู่ภายในช่องท้องประมาณ 200 มิลลิลิตร กระเพาะอาหารแตก และมีรอยฟกช้ำเล็กน้อยที่บริเวณกลีบซ้ายของตับ
โดยรายงานการชันสูตรพลิกศพสรุปว่าสาเหตุการตายเกิดจาก มีการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยพลอาสาสมัครซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้คุมเรือนจำทำร้ายสิบโทกิตติกรถึงแก่ความตาย มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณเรือนจำที่ตนเป็นสิบเวรประจำวัน มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยต่อหน่วยงานและบุคคลผู้ต้องขัง แต่ได้จงใจสั่งการและร่วมกันกับพลทหารผู้ช่วย ทำร้ายสิบโทกิตติกรฯโดยทรมานและทารุณโหดร้าย และจงใจไม่แจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการบาดเจ็บของสิบโทกิตติกรฯ และไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ มีพฤติการณ์ข่มขู่ไม่ให้ผู้ต้องขังที่อยู่ภายในห้องขังเดียวกันช่วยเหลือสิบโทกิตติกรฯ และได้สั่งผู้ต้องขังในห้องขังทำร้ายร่างกายสิบโทกิตติกรฯ ที่นอนไม่ได้สติอยู่ที่พื้นห้องหลายครั้งจนกระทั่งสิบโทกิตติกรถึงแก่ความตาย