xs
xsm
sm
md
lg

สร้างโอกาสแก่ผู้ก้าวพลาด ส่งมอบความรู้ทางการเงินให้กับ “เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง” เพื่อชีวิตหมุนต่อได้!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สร้างความรู้พื้นฐานทางการเงิน เพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้ก้าวพลาดในเรือนจำ กับ “เงินติดล้อ” โดยให้การสนับสนุน “โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พัชรกิติยาภา” ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก เพื่อนำไปพัฒนา และปรับใช้ ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเยี่ยมชม “เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง” แห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตร

สร้างโอกาสทางการเงิน ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง

“คุก” แค่ได้ยินชื่อก็อยากจะวิ่งหนี ไม่มีใครอยากอยู่ในนั้น แม้แต่ผู้ต้องขังเองก็ตาม แต่ทำไมผู้พ้นโทษออกไปแล้วจึงกระทำผิดซ้ำจนต้องกลับเข้าเรือนจำอีก แต่ก็มีอีกสำนวนมากที่พ้นโทษออกไปแล้วก็ยังต้องการโอกาสจากสังคมเพื่อไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่ได้กระทำมา
เช่นเดียวกับ บริษัท เงินติดล้อ จึงได้ส่งมอบความรู้และการบริหารเงินทุนให้กับผู้ก้าวพลาดได้มีโอกาสนำไปพัฒนา และปรับใช้ ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเยี่ยมชมเรือนจำแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตร
นำโดย พุฒิพงศ์ ภักดีพิพัฒน์กุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารสาขาแลพัฒนาศักยภาพผู้นำฝ่ายขายบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ร่วมด้วย สมคิด ปริมิตร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย ภวัต พลวัฒน์ หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จังหวัดเชียงราย พยอม ราชสม หัวหน้ากลุ่มงานนวัตกรรมและพัฒนาระบบงานฯ กองพัฒนานวัตกรรมการยุติธรรม ผู้แทนโครงการกำลังใจในพระราชดำริ และกลุ่มพนักงาน “เราอาสา เงินติดล้อ” เยี่ยมชมกิจกรรม “สร้างความรู้พื้นฐานทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้ก้าวพลาด” ณ เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จังหวัดเชียงราย



พี่แอ๊ด ผู้ต้องขังวัย54 ปี เล่าให้กับทีมข่าว MGR Live ฟังว่า เริ่มเข้าโครงการมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว หลังจากเข้ามาได้ไม่นานก็ได้เรียนรู้วิธีเกี่ยวกับการจัดระบบการเงินเพิ่มมากขึ้น
“เข้าโครงการมาเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ก็ได้ความรู้เกี่ยวกับการจัดระบบเงินในการใช้จ่าย เวลาใช้จ่ายจากที่ว่าเราหาเงินได้เราไม่เคยคิดว่าต้องเก็บออม เหลือแล้วค่อยเก็บ ตอนนี้ก็ได้วิธีคิดจากเงินติดล้อมา เวลาจะทำการค้าอะไร เขาก็ให้ความคิดว่า เราต้องคิดต้นทุนเท่านี้ อะไรหลายๆ อย่าง



เราก็ได้ความรู้เรื่องเงินเพิ่มมากขึ้น เราก็ได้จัดสรรเงินเวลาใช้จ่ายๆ เราจะได้เซฟต้นทุนตรงนี้ได้ด้วย ถ้าเราเซฟต้นทุนได้ กำไรก็จะเพิ่มขึ้น และยังรู้สึกดีใจมากที่ได้เข้าโครงการกำลังใจ ผมไม่กลัวที่จะต้อออกไปข้างนอก ผมไม่สนอยู่แล้ว เพราะลูกเมียผมไม่ได้รังเกียจผม”
นอกจากนี้พี่แอ๊ด ยังเล่าอีกว่า ตัวเองเหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือนเท่านั้นก็จะพ้นโทษ หลังจากนี้ก็คิดว่าจะกลับไปสานต่ออาชีพเกษตรกรที่เคยทำ เนื่องจากที่บ้านมีพื้นที่ให้ทำกินอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่ขอเงินสนับสนุนกับโครงการเงินติดล้อก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ความรู้ที่มีไปต่อยอดอาชีพต่อไป
“ถ้าออกไปก็ไปต่อยอดสิ่งที่เราเคยทำไว้ ทำพวกสวนยาง สวนผลไม้ แล้วก็ทำนา ก็ได้จากตรงนี้ไปต่อยอดในเรื่องของปุ๋ย จากนี้เราก็ไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีอีกต่อไป เพราะเมื่อก่อนใช้ปุ๋ยเคมี ต้นทุนก็สูง ถ้าเราทำอย่างที่เรือนจำสอน เราก็หาวัตถุดิบได้ง่ายๆ ครับ เราหาจากที่บ้านเรา ปุ๋ยชีวภาพเราก็ใช้กล้วย ใช้มะละกอ หมักในระยะเวลา 3 เดือน เพราะว่าเราไม่ได้แค่วันสองวัน เราใช้นานก็หมักทิ้งไว้
ผมมีที่นาประมาณ 40 กว่าไร่ สวนยางก็ประมาณ 20 กว่าไร่ เดี๋ยวออกไปก็กลับไปดูแลต่อ และสำหรับผมก็ไม่จำเป็นขอทุนสนับสนุน แต่ได้เรียนรู้จากเงินติดล้อว่าเราต้องมีวิธีคิดยังไง จากที่เราเคยเรียนมาเขาก็ให้ทำบัญชี คือผมจบแค่ ม.3 เขาก็เคยสอนบัญชีให้เรา แต่ไม่เคยนำมาใช้ เวลาหาเงินได้อยากได้อะไรก็ซื้อ อยากได้อะไรก็ใช้จ่ายไป
ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีอย่างหนึ่ง ถึงแม้เราโดนจับเข้ามาในนี้ ไม่ใช่ว่าเข้ามาอยู่เปล่าๆ เราได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง จากที่ว่าได้ยินแล้วเราไม่เคยปฏิบัติ เราไม่เคยสนใจเลย อยู่ข้างนอกก็คือหาเงินอย่างเดียว ไม่เคยคิดว่ามีเงินแล้วซื้อปุ๋ยหรือซื้ออะไรมาใส่นาก็ถือว่าดี แต่จะทำให้ดินมันไม่ดี แต่ที่เราใช้ปุ๋ยชีวภาพพวกนี้ ปุ๋ยที่เราหมักเองมันก็จะทำให้ดินไม่เสื่อมไม่เสีย คือถ้าระยะเวลานานๆ ไป ก็จะทำให้ดินเราดีขึ้น
พอเข้ามาอยู่ในนี้ได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง ได้เรียนรู้วิธีการใช้จ่าย ได้เรียนรู้เรื่องปุ๋ย ได้เรียนรู้การทำสบู่ เรื่องการทำแชมพู เมื่อถึงเวลานั้นเราก็ประหยัดต้นทุนการใช้จ่าย เพราะสบู่เราต้องใช้ทุกวันอยู่แล้ว เขาก็สอนให้เราทำ สอนให้เราได้หลายอย่าง”

 

สำหรับกิจกรรมการ “สร้างความรู้พื้นฐานทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้ก้าวพลาด” บริษัทเงินติดล้อให้การสนับสนุน “โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พัชรกิติยาภา” ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ การให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ และ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากกลุ่มผู้ก้าวพลาด การสนับสนุนดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เงินติดล้อ นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้”
สำหรับกิจกรรมการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ เริ่มจากทีมงานเงินติดล้อมีโอกาสได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการของกลุ่มผู้ก้าวพลาดที่เรือนจำจังหวัดระยองและจันทบุรี และทดลองสอนหลักสูตรแก่ผู้ก้าวพลาดที่เรือนจำชั่วคราว เขาระกำ จังหวัดตราด ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสำรวจความต้องการของผู้ก้าวพลาดและนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรอบรมในรูปแบบการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม (activity-based learning)
เพื่อให้การเรียนรู้ด้านการเงินเป็นเรื่องสนุกและเข้าใจง่าย หลักสูตรการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้ “หลักการเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อช่วยให้ผู้ก้าวพลาดเข้าใจถึงต้นทุนประเภทต่าง ๆ การบริหารต้นทุนเพื่อเพิ่มผลกำไร การบริหารค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพื่อการออมและการเขียนแผนธุรกิจ
โดยมุ่งให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจเบื้องต้นกับอาชีพต่าง ๆ ว่าหากต้องการจะต้องเริ่มต้นลงทุนในอาชีพนั้น ๆ แล้วจะต้องเตรียมการอย่างไรบ้างโดยเน้นไปที่ต้นทุนของแต่ละอาชีพ ผ่านการระดมความคิดเห็นของผู้เรียน เช่น วัตถุดิบประเภทต่าง ๆ อุปกรณ์ สถานที่ ทำเลที่ตั้งในการขาย ซึ่งหลังจากระดมความคิดแล้ว ผู้เรียนยังได้วิธีการคิดประเภทของต้นทุนที่กล่าวมานั้นว่าจัดเป็น “ต้นทุนคงที่” หรือ “ต้นทุนผันแปร”



และยังได้ทดลองคิดคำนวณค่าใช้จ่ายจากต้นทุนในการเริ่มทำธุรกิจผ่าน model ธุรกิจขายลูกชิ้นปิ้ง โดยผู้เรียนจะได้ฝึกฝนการแยกประเภททต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร และการประมาณต้นทุนด้วยตนเอง
เรียนรู้วิธีการลดต้นทุน การเพิ่มยอดขายและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าในแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถกำหนดราคาของสินค้าของตนเองได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า สถานที่ และเวลา นอกจากนี้ผู้เรียนยังต้องประมาณการค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้ชีวิตและการออมเพื่ออนาคตได้
เน้นให้ผู้เรียนลงมือวางแผนการทำธุรกิจของตนเอง โดยเริ่มต้นจากการพิจารณาถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการทำธุรกิจของตนเอง ลักษณะธุรกิจที่ต้องทำ ผ่านการเขียนแผนธุรกิจ

เติบโตแบบยั่งยืน ต่อยอดอาชีพมั่นคง

ไม่เพียงเท่านี้ กิจกรรมความรู้ทางการเงินจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกจะเป็นกิจกรรมให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ก้าวพลาดโดยตรง และ ส่วนที่สองจะเป็นการจัดอบรม Train the Trainer ให้ความรู้แก่ผู้คุมเรือนจำ และผู้คุมประพฤติอาสาสมัคร เพื่อให้สามารถส่งต่อความรู้พื้นฐานด้านการเงิน
ตลอดจนให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่กลุ่มผู้ก้าวพลาดได้ด้วยตนเอง โดยในปีนี้จัดเป็นโครงการนำร่อง ณ เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จังหวัดตราด, เรือนจำชั่วคราวแคน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ และเรือนจำดอยฮาง จังหวัดเชียงราย ภายหลังจากเสร็จสิ้นการทำกิจกรรมแล้ว เงินติดล้อจะติดตามผลเพื่อนำมาประเมินหลักสูตรโดยรวมสำหรับกิจกรรมในครั้งต่อไป
ด้าน พุฒิพงศ์ ภักดีพิพัฒน์กุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารสาขาแลพัฒนาศักยภาพผู้นำฝ่ายขายบริษัท เงินติดล้อ จำกัด เปิดใจว่าเริ่มทำโครงการนี้มาได้เกือย 2 ปี อยากให้โครงการเป็นไปแบบอย่างยืน ขณะเดียวกันก็ให้การสนับสนุนผู้ก้าวพลาด 4-5 รายแล้ว
“รูปแบบของแนวคิดที่บริษัทเรามอง คือ ต้องให้เขาเติบโตแบบยั่งยืนให้ได้ การช่วยเหลือก็ต้องเป็นแบบยั่งยืน เพราะฉะนั้นเงินกู้ที่เราให้ไป ควรจะคิดแบบไหน เราบอกว่าเราต้องพิจารณาโครงการความเป็นไปได้ของเขาก่อน เพราะถ้าเราสร้างความรู้สึกแต่แรกว่าคนที่ได้เงินจากเราไปไม่ต้องใช้คืนก็ได้แบบนี้มันไม่ยั่งยืนแน่นอน
แต่คอนเซปเราก็คือเงินที่เราปล่อยในรุ่นก่อนๆ เมื่อผู้ก้าวพลาดได้นำไปใช้แล้ว มีการส่งคืนกลับมามันก็หมุนกลับมาเป็นเงินกองทุนไปเรื่อยๆ เราก็สามารถเพิ่มจำนวนของผู้ก้าวพลาดที่จะมาขอกู้สินเชื่อเราได้


[พุฒิพงศ์ ภักดีพิพัฒน์กุล]

ไม่ใช่ทุกคนต้องการเงินทุน บางคนเขาอาจจะต้องการแค่รู้นำไปใช้ ที่บ้านเขาหลายคนอาจจะมีฐานะทางการเงินที่ดีอยู่แล้ว เขาได้ความรู้เราไปก็ช่วยให้เขาบริหารได้ง่ายขึ้น
แต่แน่นอนกลุ่มคนกลางๆ ที่พอจะมีความรู้บ้าง แต่เขาอาจจะขาดเงินทุน กลุ่มคนเหล่านี้ก็สามารถเขียนแผนธุรกิจขึ้นมาปรึกษากับเรา โดยที่เราก็ให้คำปรึกษา ค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เขาไม่จำเป็นต้องมี เราก็เสนอหรือให้เขาลดลงไป แล้วสร้างตัวที่เป็นสินทรัพย์หรืออะไรที่ก่อให้เกิดรายได้จริงๆ เราก็มีการแนะนำให้
สำหรับบางคนที่ไม่มีทุนต้นทางสังคมเลย เราแนะนำว่าให้เขาไปใช้แรงก่อน ไปเป็นลูกจ้าง อย่างน้อยการเป็นลูกจ้างก็ได้เรียนรู้ในธุรกิจที่เขาอยากจะทำ พอเขาเรียนรู้ระหว่างการเป็นลูกจ้าง ก็ได้มีการเก็บเงินได้บางส่วน ตรงนั้นก็จะเป็นเงินทุนเริ่มต้น ยิ่งไปกว่าเงินทุนเริ่มต้น ก็คือประสบการณ์ที่เขาจะได้รับจากธุรกิจที่เขาอยากทำ พอได้ประสบการณ์เมาเขียนแผนธุรกิจมันยิ่งง่ายในการที่เราจะตัดสินใจในการช่วยเหลือ”
นอกจากนี้ ภวัต พลวัฒน์ หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จังหวัดเชียงราย ได้เล่าถึงกิจกรรมดังกล่าวนี้ว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ต้องขัง เพราะผู้ต้องขังส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องการบริหารเงิน
“อย่างโครงการเงินติดล้อ ก็คือเป็นโครงการที่ดี อบรมให้ในเรื่องของแหล่งเงินทุน การบริหารธุรกิจ ทำยังไง จะไปหาทุนที่ไหน จะบริหารอย่างไรให้มีผลกำไร ก็ช่วยได้ดีมากครับ เงินติดล้อก็ถือว่ามาให้ความรู้กับผู้ต้องขังได้เป็นอย่างดี แล้วผู้ต้องขังส่วนใหญ่ก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย จากการพูดคุยสอบถามผู้ต้องขัง ก็บอกว่าดีจังเลย ผมได้รู้เรื่องนั้น เรื่องนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ต้องขังเป็นคนชนเผ่า
อย่างคนที่พ้นโทษออกไป เขามีพื้นที่เขาก็ออกไปทำต่อ บางคนออกไปเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ขายข้าวมันไข่ ขายขนมจีนน้ำเงี้ยว ตั้งแต่ผมทำงานมา อาชีพที่นำมาสอนผู้ต้องขังมีเป็นร้อยๆ อาชีพแล้ว แต่ว่ามันก็หมุนเวียนไปเรื่อย ไม่ได้ตายตัว

[ภวัต พลวัฒน์]

หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง เปิดเผยอีกว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ต้องโทษคดียาเสพติด ส่วนสถิติที่กลับเข้ามาในเรือนจำอีกนั้นมีเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น
“ส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นคดียาเสพติด จำนวนผู้ต้องขังที่เรือนจำกลางเชียงราย เกือบ 6,000 คน ที่เรือนจำชั่วคราวดอยฮางมี 159 คน เพราะที่นี้เรารับได้เต็มที่ 200 คน เพราะมีที่นอนจำกัด
ส่วนการคัดเลือกผู้ต้องขังมาอยู่ที่นี้ จำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 ของโทษเหลือไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน สถิติการกลับเข้ามาของผู้ต้องขังอยู่ที่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ แล้วส่วนใหญ่ผู้ที่กลับเข้ามาจะมาจากครอบครัวขาดความอบอุ่น ออกไปแล้วไม่มีครอบครัว ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีงานทำ จะเป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ ลักทรัพทย์อะไรพวกนี้มากกว่า
จากการติดตาของงานสังคมสงเคราะห์ 70 เปอร์เซ็นต์จะออกไปประกอบอาชีพที่เราสอน แต่บางคนเขาก็ไม่ยอมให้ข้อมูล ถ้าเขาไม่ยอมให้ข้อมูลเรา เราก็ไม่สามารถที่จะเก็บข้อมูลเขาได้
ส่วนในเรื่องของการบริหารจัดการ หรือในเรื่องของการฝึกวิชาชีพ เน้นในเรื่องของการเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์เป็นหลัก เพราะเรามีพื้นที่เยอะ และอีกอย่างผู้ที่ได้รับการคัดเลือกมา ส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานทางด้านการเกษตร อยู่บ้านบางทีก็อาจจะปลูกข้าวโพด ปลูกสับปะรด แต่พอมาที่นี้เราก็เพิ่มในเรื่องของการทำปุ๋ย ในเรื่องของพืชผักสวนครัว แล้วก็มีการอบรมจากวิทยากรจากภายนอกมาอบรมในเรื่องวิชาชีพระยะสั้น”





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น