MGR Online - ปธ.ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พาผู้เสียหาย 15 ราย เหยื่อในคดีแก๊งรีดทรัพย์อ้างลิขสิทธิ์ พาตำรวจพญาไทจับแต่ไม่มีบันทึกจับกุม ร้อง บช.น.
วันนี้ (12 พ.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อมผู้เสียหาย 15 ราย หลังถูกตำรวจ สน.พญาไท จับกุมฐานละเมิดลิขสิทธิ์แก้วเก็บความเย็นโดยมิชอบ เข้าร้องทุกข์ต่อ ผบช.น. โดย พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น.(ดูแลงานกฎหมายและคดี) เป็นตัวแทนได้รับเรื่องดังกล่าว
นายอัจฉริยะกล่าวว่า ได้พาผู้เสียหายมาร้องต่อ ผบช.น.ให้ตรวจสอบกรณีการจับกุมข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ว่ามีการมอบอำนาจให้แก่ผู้จับกุมถูกต้องหรือไม่ และพนักงานสอบสวนดำเนินการโดยชอบหรือไม่ เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำไว้ แต่ปล่อยให้ผู้ดำเนินการพาตำรวจไปจับโดยไม่มีบันทึกจับกุม ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวมา มีแต่ผู้จับกุมลิขสิทธิ์นำตัวมาโรงพัก ไม่มีการส่งมอบบันทึกจับกุมให้พนักงานสอบสวน รวมถึงมีการรีดเงินผู้ถูกจับกุมและยอมความกันโดยการจ่ายเงิน
นายบุญยวัตร์ หนูหงษ์ อายุ 55 ปี เจ้าของโรงกลึงแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เพื่อนของภรรยาได้ฝากลูกชายซื้อแก้วเยติลายโดเรม่อนไปส่งให้ที่บริเวณ รพ.ราชวิถี ก่อนถูกตำรวจ สน.พญาไท จับกุมเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา แล้วเรียกเงินเป็นจำนวน 30,000 บาท เพื่อแลกกับการปล่อยตัวลูกชาย บันทึกประจำวันยอมความและไม่มีใบเสร็จจ่ายเงิน ตนรู้สึกโกรธมากจากนั้น ช่วงเช้าวันต่อมาจึงขอบันทึกการจับกุม แต่ตำรวจไม่ให้ สำหรับตนนั้นเงิน 30,000 บาทคงไม่เท่าไหร่ แต่จะเอาผิดแก๊งชั่วที่เข้ามาจับกุมเอาเปรียบละเมิดลิขสิทธิ์
พล.ต.ต.สุคุณกล่าวว่า ชมรมฯ ขอให้เราตรวจสอบว่าผู้ร้องเป็นผู้ที่ถูกบริษัทลิขสิทธิ์จับกุมดำเนินคดี และตกลงค่าเสียหายถูกต้องหรือไม่ พร้อมได้ตรวจสอบการทำงานของตำรวจว่าได้ดำเนินการอย่างไร โดย บช.น.ได้รับเรื่องไว้และดำเนินการตรวจสอบตามที่ร้องขอ ขั้นตอนการจับกุมคดีลิขสิทธิ์เป็นความผิดยอมความได้ แต่ต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์ก่อนเท่านั้น
ทั้งนี้ ตามหลักการ ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หากถูกละเมิดลิขสิทธิ์ให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกับผู้ละเมิด ขั้นตอนแรกไปแจ้งความ จากนั้นสืบสวนติดตามจับกุม ผู้เสียหายมีสิทธิร้องขอเพื่อถอนคำร้องทุกข์ได้ เพราะเป็นคดียอมความได้ แต่หากไม่มีการแจ้งความไว้ถือว่าไม่มีการร้องทุกข์และไม่เป็นคดี ทั้งผู้แทนและพนักงานสอบสวนที่รับเรื่องอาจจะมีความผิดได้เนื่องจากไม่มีอำนาจมาดำเนินการดังกล่าว
“จากนี้จะตรวจสอบตำรวจที่เข้าไปกระทำความผิด ขณะที่ผู้เสียหายในพื้นที่อื่นๆ ถ้าต้องการให้ตรวจสอบก็ยินดีตรวจสอบให้ โดยมีมาตรการกำชับการปฏิบัติของพนักงานสอบสวน ซึ่งระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าพบว่าดำเนินการไม่ถูกต้องก็ต้องรับผิดชอบการดำเนินการในส่วนที่ไม่ถูกต้องนั้นด้วย” น.7 กล่าว