MGR Online - “จักรทิพย์” เยือนสำนักงานใหญ่ตำรวจสากลเมืองลียง ฝรั่งเศส หวังใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวนำ “อดีตพระพรหมเมธี” มาดำเนินคดีในไทย คาด รู้ผลไม่เกิน 15 มิ.ย.นี้ - แฉอีก “อดีตพระพรหมสิทธิ” อมเงินค่าเรียนปริยัติธรรมของพระเณรโอนเงินให้สีกาคนสนิท
วานนี้ (13 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการติดตามตัวอดีตพระพรหมเมธี อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ที่หลบหนีไปยื่นขอลี้ภัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ว่า จนถึงขณะนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พร้อมด้วยคณะ ยังคงอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ระบุว่า ไม่ได้เดินทางไปเพื่อประสานงานติดตามตัวอดีตพระพรหมเมธี แต่เดินทางเพื่อไปดูงานเรื่องอาวุธตามที่ได้รับเชิญจากตำรวจฝรั่งเศส แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังคงยืนยันว่า การเดินทางไปครั้งนี้ นอกจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ จะดูงานด้านอาวุธแล้ว ยังมีเจตนาไปประสานงานกับตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล ที่สำนักงานใหญ่ในเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ตำรวจสากลช่วยเจรจาในการส่งตัวผู้ต้องหารายนี้กลับไปดำเนินคดีในประเทศไทย
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ทางการเยอรมนีได้ปฏิเสธคำขอตัวอดีตพระพรหมเมธีจากตำรวจไทยที่ขอให้ส่งมอบตัวผู้ต้องหาให้ทันที เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีร่วมกันฟอกเงินและข้อหาอื่นๆ รวม 3 คดี โดยทางการเยอรมนีอ้างถึงความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่กลุ่มสหภาพยุโรป มองว่าเป็นประเทศที่ยังไม่อยู่ในสภาวะปกติ และไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้คณะตำรวจไทยที่นำโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ต้องเดินทางกลับไทยมือเปล่า แต่เมื่อกลับมาหารือในข้อกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ก็พบช่องทางที่สามารถจะนำตัวอดีตพระพรหมเมธีกลับมาดำเนินคดีได้ โดยใช้ความร่วมมือกันระหว่างตำรวจต่อตำรวจผ่านช่องทางตำรวจสากลที่ไทยมีความร่วมมือกับตำรวจสากลหลายๆ ประเทศทั่วโลก
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นนายตำรวจมีความสนิทสนมกับวงการตำรวจสากล จึงเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ตำรวจสากลช่วยเจรจากับตำรวจท้องถิ่นและตำรวจสากลของประเทศเยอรมนีในการส่งมอบตัวอดีตพระพรหมเมธีให้กับทางการไทย โดยคาดว่า จะทราบผลการเจรจาไม่เกินวันศุกร์ที่ 15 มิ.ย. นี้ และหากผลการเจรจาสำเร็จ พล.ต.อ.จักรทิพย์ และคณะ จึงจะเดินทางไปรับตัวอดีตพระพรหมเมธีจากเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 16 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยเที่ยวบินที่ TG931 ซึ่งออกเดินทางจากกรุงปารีสสู่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยล่าสุด ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการแกะรอยหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหารายอื่นๆ นั้น มีรายงานว่าในส่วนของวัดสระเกศวรมหาวิหารนั้น พนักงานสอบสวนกองปราบปรามมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการทุจริตที่เข้าข่ายการฟอกเงิน ซึ่งต่างจากการทุจริตเงินทอนวัดที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ โดยวัดสระเกศฯ ได้รับงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเงินจำนวน 30 ล้านบาท โดย พศ. จ่ายเป็นเช็คเมื่อ วันที่ 21 ธ.ค. 2558 เนื่องจากวัดเสนอของบทำโครงการเงินอุดหนุนอบรมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนฯ ครั้งที่สองวัดสระเกศฯ ได้รับงบประมาณอีกจำนวนเงิน 32.5 ล้านบาท โดย พศ. จ่ายเงินเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2559 เนื่องจากวัดได้เสนอโครงการอุดหนุนศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้ ในรายละเอียดของโครงการนั้น ในเอกสารได้ระบุทั้ง 2 โครงการ ว่า เป็นงบประมาณเพื่อหนุนด้านการเผยแผ่ศาสนา โดยจะนำงบประมาณเพื่อนำไปอุดหนุนให้วัดสาขา 13 แห่ง แต่เมื่อตรวจสอบรายละเอียดกลับพบว่ามีวัดจำนวน 9 วัด ที่ไม่ได้รับงบประมาณอุดหนุนเลยตามที่ระบุไว้ ประกอบด้วย วัดไตรธรรมาราม จ.สุราษฎ์ธานี, วัดบุดดา จ.สิงห์บุรี, วัดมหาพุทธาราม จ.ศรีสะเกษ, วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม, วัดอัมพวัน จ.ยโสธร, วัดบ่อชะเนง จ.อำนาจเจริญ, วัดพระพุทธบาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์, วัดศรีมงคลใต้ จ.มุกดาหาร และวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา
ส่วนวัดที่เหลืออีก 4 วัด คือ วัดหลวงพ่อสด จ.ราชบุรี, วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่, วัดปากน้ำ จ.อุบลราชธานี และ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ได้รับงบประมาณไปแห่งละ 2 ล้านบาท รวม 8 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่เหลืออีกกว่า 50 ล้านบาท พบว่า อดีตพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ได้ยักย้ายถ่ายเทไปยังบัญชีของ นางสาวนุชรา สิทธินอก อายุ 32 ปี คนในบ้านของ นางฑัมม์พร นิพนธ์พิทยา อายุ 50 ปี อดีตเจ้าของ ห้างหุ้นส่วนจำกัดดีดีทวีคูณ ซึ่งเป็นสีกาคนสนิทของอดีตพระพรหมสิทธิ เพื่อให้ผลิตสื่อโฆษณาให้กับวัด
แหล่งข่าวพนักงานสอบสวน กล่าวต่อว่า จากการสอบปากคำอดีตพระพรหมสิทธิในเบื้องต้นได้ให้การว่าที่โอนไปยังบัญชีของ นางสาวนุชรา นั้น ก็เพราะ นางฑัมพร แนะนำว่าเป็นวิธีการเลี่ยงภาษี แต่เมื่อชุดสืบสวนร่วมกับ ปปง. ตรวจสอบแล้ว กลับพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเงินจำนวนดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์และมีการนำไปใช้ส่วนตัวจำนวนมาก ทั้งที่เงินจำนวนนี้ควรจะถูกจัดส่งไปยังวัดจำนวน 9 วัดเพื่อให้พระเณรในต่างจังหวัดที่ด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือตามที่วัดเขียนโครงการมาซึ่งระบุว่าจะส่งเงินไปยังโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นเงินค่าใช้จ่ายประมาณ 26,000 บาทต่อพระ 1 รูป รวมทั้งสองโครงการเป็นเงิน 62.5 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า รูปแบบของการทุจริตเงินวัดของ วัดสระเกศ วัดสัมพันธวงศ์ และ วัดสามพระยาวรวิหาร ครั้งนี้นั้นแตกต่างจากการดำเนินคดีเงินทอนวัดในครั้งที่ผ่านๆ มา เนื่องจากรูปแบบเดิมที่พบในวัดต่างจังหวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะเป็นฝ่ายเสนองบประมาณให้วัดไปทำโครงการต่างๆ แต่เงินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ถูกโอนคืนกลับไปให้ข้าราชการในสำนักพุทธฯ บางวัดพระจึงกลายเป็นเหยื่อของการกระทำความผิด ตำรวจจึงไม่ได้ดำเนินคดีกับพระแต่ได้กันไว้เป็นพยาน เพราะถือว่าไม่มีเจตนา แต่กรณีของวัดดังในกรุงเทพฯทั้ง 3 วัดนั้น พระไม่ได้โอนเงินกลับไปยังเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ แต่เงินที่ได้รับมาเพื่อทำโครงการต่างๆ กลับถูกโอนเข้าบัญชีของฆราวาส บัญชีตัวเอง หรือมูลนิธิฯบางแห่งแทน ในรูปแบบของการฟอกเงิน ซึ่งตัวพระเป็นผู้ที่กระทำทุจริตด้วยตัวเองจึงต้องถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันฟอกเงิน เพราะพระไม่ได้เป็นเหยื่อเหมือนคดีเงินทอนวัดที่ผ่านมา