... รายงาน
ปฏิบัติการเข้าตรวจค้น 3 วัด ของตำรวจกองปราบปรามฯ และจับกุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่ 7 รูป เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา หนึ่งในวัดที่พบการทุจริตที่น่าสนใจ ก็คือ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
เพราะในขณะนั้นมี “อดีตพระพรหมสิทธิ” หรือ นายธงชัย สุขโข เป็นเจ้าอาวาส รูปแบบการทุจริต แตกต่างไปจากคดีเงินทอนวัด ล็อต 1 และ 2 โดยสิ้นเชิง
โดยเฉพาะ “ส่วนต่าง” จากการทุจริต ไม่ได้เป็นเงินทอนให้แก่ข้าราชการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่กลับเข้ากระเป๋าส่วนตัวของพระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปนั้น
เมื่อเงินแผ่นดิน ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ สุดท้ายก็ต้องติดคุกตามกันไป
ที่มาที่ไปของการทุจริตในวัดสระเกศฯ แหล่งข่าวในคดีนี้เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ว่า พบหลักฐานการทุจริตที่เข้าข่ายการฟอกเงิน จากงบประมาณที่จะต้องจัดสรรให้กับวัดสาขา 13 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ในปีงบประมาณ 2559 วัดสระเกศฯ ได้รับงบประมาณจากสำนักพุทธฯ 2 ครั้ง ได้แก่
1. โครงการอุดหนุนอบรมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนฯ สำนักพุทธฯ จ่ายเช็คให้แก่วัดสระเกศฯ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 จำนวน 30 ล้านบาท
2. โครงการอุดหนุนศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา สำนักพุทธฯ โอนเงินเข้าบัญชีวัดสระเกศฯ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2559 จำนวน 32.5 ล้านบาท
รวม 2 โครงการทั้งสิ้น 62.5 ล้านบาท
วัดสระเกศฯ เขียนโครงการระบุว่า จะนำไปอุดหนุนไปยังโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตามวัดสาขา 13 แห่ง ให้พระเณรต่างจังหวัดที่ด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือ ค่าใช้จ่าย 2.6 หมื่นบาทต่อรูป
ปรากฏว่า มีเพียง 4 วัดเท่านั้น ที่ได้รับงบประมาณ แห่งละ 2 ล้านบาท รวมกันแล้ว 8 ล้านบาท
ได้แก่ 1. วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จ.ราชบุรี 2. วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จ.เชียงใหม่ 3. วัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง) จ.อุบลราชธานี และ 4. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
ส่วนอีก 9 วัดที่เหลือ ไม่ได้รับงบประมาณแม้แต่บาทเดียว ได้แก่ 1. วัดไตรธรรมาราม จ.สุราษฎร์ธานี 2. วัดบุดดา จ.สิงห์บุรี 3. วัดมหาพุทธาราม บ้านเมืองเหนือ จ.ศรีสะเกษ 4. วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม
5. วัดอัมพวัน จ.ยโสธร 6. วัดบ่อชะเนง จ.อำนาจเจริญ 7. วัดพระพุทธบาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ 8. วัดศรีมงคลใต้ จ.มุกดาหาร และ 9. วัดแห่งหนึ่งใน จ.สงขลา
แล้วเงินที่เหลืออีก 54.5 ล้านบาท หายไปไหน?
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า อดีตพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ยักย้ายถ่ายเทไปยังบัญชี “สีกาคนสนิท” ให้ผลิตสื่อโฆษณาให้กับวัด
ใครที่ได้ติดตามข่าวในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า สีกาคนสนิทของอดีตพระพรหมสิทธิ คือ นางฑัมม์พร นิพนธ์พิทยา เคยเป็นเจ้าของ หจก. ดี ดี ทวีคูณ ผู้ผลิตรายการสารคดีสั้นให้วัดสระเกศฯ ที่ตอนหลังให้ น.ส.นุชรา สิทธินอก แม่บ้าน เป็นเจ้าของนิติบุคคล
ซึ่งก่อนหน้านั้น ตำรวจกองปราบฯ ได้บุกค้นบ้านพักของ ร.ต.ฐิติทัตน์ นิพนธ์พิทยา ลูกชายนางฑัมม์พร ตามที่อยู่ที่ หจก. ดี ดี ทวีคูณ ได้จดทะเบียนไว้ หลังพบว่า น.ส.นุชรา เป็นผู้รับเงินโอนจากวัดสระเกศฯ 25 ล้านบาท
จากการสอบปากคำ อดีตพระพรหมสิทธิ ให้การว่า ที่โอนไปบัญชีของสีกาคนสนิทนั้น เป็นวิธีหนึ่งในการเลี่ยงภาษี แต่ตำรวจและ ปปง. ตรวจสอบแล้ว พบว่าเงินจำนวนนั้นถูกเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
โดยเฉพาะ “กิจการส่วนตัว” ของอดีตพระพรหมสิทธิจำนวนมาก ทั้งที่ควรจะเป็นเงินอุดหนุนให้พระเณรไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนหนังสือ
อีกข้อสงสัยหนึ่งที่องค์กรชาวพุทธฯ ออกมาเคลื่อนไหวโจมตีว่า ที่จับกุมพระสงฆ์หลายรูป ทำไมไม่ไปดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ ที่เกี่ยวข้องด้วย?
สาเหตุสำคัญ เพราะปกติถ้าเป็นคดีเงินทอนวัด จะมีข้าราชการสำนักพุทธฯ ไปเสนอวัดต่างๆ ว่า ต้องการงบประมาณไหม ถ้าอยากได้จะจัดสรรมาให้ แต่ต้องเขียนโครงการแล้วบวกส่วนต่างเพิ่ม บางครั้งสูงกว่า 80%
หลังจากนั้น เมื่องบประมาณจากสำนักพุทธฯ โอนมาให้วัดแล้ว วัดจะต้องไปถอนเงินสด แล้วนำส่วนต่างที่เป็นเงินสดมาให้ข้าราชการสำนักพุทธฯ เรียกกันว่า “เงินทอน” ส่วนวัดได้เงินไปเพียงแค่ 10 - 20% เท่านั้น
ขณะที่วัดซึ่งตกเป็นเป้าหมายในคดีเงินทอนวัด พบว่าส่วนใหญ่กลายเป็นเหยื่อ เพราะตอนนำเงินส่วนต่างคืนมาให้กับข้าราชการสำนักพุทธฯ คิดว่าเป็นไปตามระเบียบราชการ แต่ความจริงไม่ใช่
ตำรวจจึงทำได้แค่กันไว้เป็นพยานเพราะถือว่าไม่มีเจตนา ไม่ได้ดำเนินคดี ยกเว้นพระชั้นผู้ใหญ่บางรูป ที่ไปร่วมมือกับข้าราชการสำนักพุทธฯ ชักชวนวัดต่างๆ ของบประมาณ ซึ่งมีอยู่ 4 รูป ต้องถูกดำเนินคดี
แต่การทุจริต 3 วัดดัง ทั้งวัดสระเกศฯ วัดสัมพันธวงศ์ฯ และ วัดสามพระยาฯ ต่างจากคดีเงินทอนวัดในช่วงที่ผ่านมา เพราะงบที่โอนไป เข้ากระเป๋าพระชั้นผู้ใหญ่ทั้งนั้น ข้าราชการสำนักพุทธฯ ไม่ได้เงินทอนเลย!
โดยพบว่า พระชั้นผู้ใหญ่ที่วันนี้กลายเป็นผู้ต้องหา ไม่ได้โอนเงินกลับไปให้ข้าราชการสำนักพุทธฯ เหมือนคดีอื่น แต่ถูกฟอกเงินโดยโอนเข้าบัญชีฆราวาส บัญชีส่วนตัว หรือมูลนิธิบางแห่งที่ตั้งขึ้่นบังหน้าแทน
ในช่วงที่ตำรวจกองปราบฯ ตรวจค้นวัดสระเกศฯ พบเอกสารหนึ่งในนั้นคือ “รายการเดินบัญชี” ที่มีชื่อบัญชีวัดสระเกศฯ พบว่า มีการโอนเงินคืนไปยังบัญชีของฆราวาสที่ถูกจับกุมไปแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่หลักแสนยันหลักล้าน
นอกจากนี้ ยังพบว่า บัญชีส่วนตัวของอดีตพระพรหมสิทธิ มีเงินฝาก 10 บัญชี รวมกันแล้ว 132 ล้านบาท ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดบัญชีไปตั้งแต่ช่วงตรวจค้นแล้ว
เพราะฉะนั้น พระรูปใดที่กระทำการทุจริตด้วยตัวเอง ก็ต้องถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันฟอกเงินเสียเอง