ศาลนัดตรวจหลักฐานคดีม็อบ นปช.ชุมนุมปลุกระดม-ยึดรถแก๊ส-เผารถเมล์กลางกรุง ปี 52 พร้อมเบิกตัว “จตุพร” ที่ถูกคุมขังในคดีหมิ่นประมาท “อภิสิทธิ์” เข้าห้องพิจาณาคดี จำเลยขอเลื่อน อ้างเหตุการณ์เกิดมานานแต่อัยการเพิ่งฟ้องคดี ขอเวลารวบรวมพยานหลักฐานก่อน ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปเป็น 31 ก.ค.นี้
วันนี้ (28 พ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 805 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำที่ อ.968/2561 พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กับพวกรวม 10 คน มายื่นฟ้องเป็นจำเลย กรณีกลุ่ม นปช.จัดการชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยปราศรัยปลุกระดมยุยง ที่เวทีบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ, ยึดและเผารถโดยสารประจำทางในพื้นที่ กทม. และนำรถบรรทุกแก๊สไปจอดไว้กลางถนนเพื่อข่มขู่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และประชาชนเดือดร้อนเสียหาย โดยกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เหตุเกิดที่แขวง-เขตดุสิต, แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี, แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร และแขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. - 14 เม.ย. 2552
ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 3 ข้อหา
โดยอัยการได้แยกข้อหาฟ้องจำเลยแต่ละคน ดังนี้ นายวีระกานต์ อายุ 70 ปี อดีตประธาน นปช.จำเลยที่ 1, นายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 53 ปี ประธาน นปช. จำเลยที่ 2 และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 43 ปี แกนนำ นปช. จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 67 ปี แกนนำ นปช. จำเลยที่ 4, นายสิระ หรือสรวิชญ์ พิมพ์กลาง อายุ 59 ปี แกนนำคนเสื้อแดง จ.สกลนคร จำเลยที่ 5, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 67 ปี แกนนำ นปช. จำเลยที่ 7, นายพิพัฒน์ชัย หรือสมชาย ไพบูลย์ อายุ 49 ปี แนวร่วม นปช. จำเลยที่ 8 และนายพายัพ ปั้นเกตุ อายุ 59 ปี แนวร่วม นปช. จำเลยที่ 9 ถูกยื่นฟ้อง 3 ข้อหา ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่วนนายณรงศักดิ์ มณี อายุ 52 ปี ชาว จ.นครสวรรค์ จำเลยที่ 6 ถูกยื่นฟ้องข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และนายพงศ์พิเชษฐ์ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง อายุ 60 ปี แนวร่วม นปช.จำเลยที่ 10 ถูกยื่นฟ้อง 2 ข้อหา ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215
วันนี้ นายวีระกานต์ จำเลยที่ 1, นายณัฐวุฒิ จำเลยที่ 3, นพ.เหวง จำเลยที่ 4 ซึ่งได้ประกันตัวระหว่างสู้คดีเดินทางมาศาล มีเพียงนายจตุพร จำเลยที่ 2 ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในคดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวมาร่วมกระบวนพิจารณาเช่นกัน
เมื่อถึงเวลานัด ศาลได้สอบถามอัยการโจทก์แล้วแถลงได้เตรียมพยานเอกสารรวมจำนวน 143 ฉบับ และพยานบุคคลที่จะนำสืบจำนวน 134 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยแถลงประสงค์จะนำพยานเข้าสืบจำนวน 120 ปาก ต่อมา นายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้เป็นตัวแทนจำเลยทั้ง 10 คน แถลงต่อศาลว่า อยากจะขอเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อนเนื่องจากคดีนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนานแล้วตั้งแต่ปี 2552 แต่อัยการเพิ่งฟ้องคดีเข้ามา จำเลยทั้ง 10 คน และทนายความจึงขอเวลาในการจัดเตรียมพยานหลักฐานไว้ต่อสู้คดี
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม และให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น. พร้อมกำชับให้อัยการโจทก์และฝ่ายจำเลยไปดำเนินการจัดแบ่งกลุ่มพยานบุคคลไว้ให้เรียบร้อยและจะใช้เวลาในการสืบพยานกี่นัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ภรรยานายจตุพรและลูกชาย รวมทั้งบุคคลใกล้ชิดเกือบ 20 ราย ได้เดินทางมาให้กำลังใจนายจตุพร พรหมพันธุ์ รวมทั้งได้พูดคุยสอบถามความเป็นอยู่ของนายจตุพรระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ และเตรียมจะตัดชุดใหม่ให้นายจตุพร ซึ่งนายจตุพรมีใบหน้ายิ้มแย้ม แต่น้ำหนักลดลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ส่วนนายณัฐวุฒิ, นายวีระกานต์ และนพ.เหวง แกนนำ นปช.ต่างยกมือไหว้และพูดคุยกับนายจตุพรเช่นเดียวกัน ซึ่งนายจตุพรจะได้รับโทษจำคุกครบ 1 ปี ในวันที่ 4 ส.ค.นี้
ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีเพื่อตรวจพยานหลักฐาน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า คดีนี้เป็นการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเมื่อปี 2552 เวลาผ่านมานานพอสมควร เจ้าหน้าที่ตำรวจก็แจ้งข้อกล่าวหาดำเนินการมาถึงชั้นศาล พวกตนร้องขอความเป็นธรรมว่าหลายคนในคดีนี้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาซ้ำซ้อนกับกรณีชุมนุมที่พัทยา อย่างนายพายัพ ปั้นเกตุ แกนนำ นปช.ก็โดนคดีที่พัทยา ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุกอยู่ระหว่างประกันตัวสู้ชั้นฎีกา พวกตนก็ถูกแจ้งข้อหาทั้งกรณีกระทำในกรุงเทพฯ และพัทยาด้วย จึงทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุดว่าเป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่อย่างไร เรื่องก็ยังอยู่ในกระบวนการ ยังไม่ทราบข้อยุติ วันนี้ทีมทนายความได้เตรียมบัญชีพยานมาแสดงต่อศาล เราก็จะสู้กันไปตามกระบวนการ
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่มองว่าซ้ำซ้อนเพราะอะไร นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เป็นสถานการณ์ชุมนุมเดียวกัน กรรมเดียวกัน ถ้าตนถูกฟ้องว่าเป็นแกนนำการชุมนุมที่กรุงเทพฯ แล้ว การชุมนุมดังกล่าวก็มีผลต่อเนื่องไปยังสถานการณ์ที่พัทยาด้วย แล้วที่พัทยายังมีชายฉกรรจ์ใส่เสื้อสีน้ำเงินถือปืนถือมีดอาวุธครบมือมาดักทำร้ายคนเสื้อแดง ก็มีข้อสงสัยว่าได้หยิบยกไปพิจารณาตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนหรือไม่ เป็นสาระในการขอความเป็นธรรม
“การชุมนุมในปี 2552 เป็นการชุมนุมโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรงใดๆ ในวันที่ 14 เม.ย. พวกผมซึ่งเป็นแกนนำก็ประกาศยุติการชุมนุมด้วยตัวเอง แล้วก็ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการดูแลพี่น้องประชาชนผู้มาร่วมชุมนุมจนเดินทางกลับจากบริเวณที่ชุมนุมครบถ้วน เราจึงไปมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ นี่ก็เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ส่วนสถานการณ์ที่พัทยานั้นนัยสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นในพื้นที่ก็คือการปรากฏตัวของชายฉกรรจ์สวมเสื้อสีน้ำเงิน มีหลักฐานชัดเจนทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว อากัปกิริยาต่างๆ ใครเห็นก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมชายฉกรรจ์นับร้อยคนถืออาวุธครบมือสามารถยืนปะปนกับเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีการจับกุมหรือแม้แต่กระทั่งห้ามปรามใดๆ ถ้าหากไม่ปรากฏการกระทำของชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวก็ไม่มีเหตุการณ์ที่กลุ่มคนเสื้อแดงต้องย้อนกลับไปโรงแรมรอยัลคลิฟบีช สถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน” นายณัฐวุฒิกล่าว
นายณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์นี้ทำให้นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำ นปช.กับพวกเป็นจำเลย เราได้นำไปอธิบายในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ตั้ง และน่าประหลาดใจที่คณะกรรมการดังกล่าวหลังตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วก็ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนว่าความจริงเมื่อปี 2552 คืออะไร รัฐบาลนายอภิสิทธิ์แม้เหตุการณ์จะผ่านมาหลายปีแต่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ควรเปิดเผยผลสรุปจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการชุดดังกล่าวให้สังคมรับทราบสิ้นสงสัย
เมื่อถามว่าการที่นายอริสมันต์นำมวลชนทุบกระจก ไม่รุนแรงเกินกว่าเหตุใช่หรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า การประกาศยุติการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเกิดก่อนที่นายอริสมันต์จะเดินทางไปถึงโรงแรม ขณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงหลังจากนั้นขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา ตนจะไม่พูดลึกลงไปเพราะจะก้าวล่วงการใช้ดุลพินิจพิจารณาของศาล แล้วเรื่องชายชุดน้ำเงินยังไม่มีการพูดกันชัดเจน