MGR Online - อัยการยื่นฟ้อง “ตู่-เต้น-เหวง” กับพวก แกนนำ นปช.รวม 10 ราย ปลุกม็อบเสื้อแดงปิดกรุงไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ปี 52 ด้าน “ณัฐวุฒิ” มึนฟ้องซ้ำคดีเสื้อแดงประท้วงผู้นำอาเซียนเมืองพัทยาหรือไม่ ด้าน “เหวง” โวยนึกว่าคดีจบไปแล้ว ศาลนัดสอบคำให้การ 27 มี.ค.นี้
เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (26 มี.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10 นำตัวนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 53 ปี ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กับพวกรวม 10 คน มายื่นฟ้องเป็นจำเลย กรณีกลุ่ม นปช.จัดการชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้งแรกเมื่อปี 2552 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 3 ข้อหา โดยอัยการได้แยกข้อหาฟ้องจำเลยแต่ละคนดังนี้ นายวีระกานต์ อายุ 70 ปี อดีตประธาน นปช.จำเลยที่ 1, นายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 53 ปี ประธาน นปช.จำเลยที่ 2 และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 43 ปี แกนนำ นปช.จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 67 ปี แกนนำ นปช.จำเลยที่ 4, นายสิระ หรือสรวิชญ์ พิมพ์กลาง อายุ 59 ปี แกนนำคนเสื้อแดง จ.สกลนคร จำเลยที่ 5, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 67 ปี แกนนำ นปช.จำเลยที่ 7, นายพิพัฒน์ชัย หรือสมชาย ไพบูลย์ อายุ 49 ปี แนวร่วม นปช.จำเลยที่ 8 และนายพายัพ ปั้นเกตุ อายุ 59 ปี แนวร่วม นปช.จำเลยที่ 9 ถูกยื่นฟ้อง 3 ข้อหา ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ส่วนนายณรงศักดิ์ มณี อายุ 52 ปี ชาว จ.นครสวรรค์ จำเลยที่ 6 ถูกยื่นฟ้องข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และนายพงศ์พิเชษฐ์ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง อายุ 60 ปี แนวร่วม นปช.จำเลยที่ 10 ถูกยื่นฟ้อง 2 ข้อหา ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215
อัยการฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550 ก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่ม นปช.ขึ้นมา โดยมีนายวีระกานต์ จำเลยที่ 1 เป็นประธาน ซึ่งจำเลยกับพวกที่เป็นแกนนำก็ได้นัดรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวกันตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. 2552 เรื่อยมา กระทั่งวันที่ 26 มี.ค. 2552 กลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ได้ปิดทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลเพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และเมื่อสถานการณ์ชุมนุมเริ่มรุนแรงขึ้นก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนเคลื่อนขบวนไปยังบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี (บ้านพักสี่เสาเทเวศร์) เพื่อกดดันให้ พล.อ.เปรม, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีด้วย ระหว่างนั้นก็ยังกดดันให้นายอภิสิทธิ์และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน กระทั่งวันที่ 9 เม.ย. 2552 ซึ่งผู้ชุมนุมได้ประกาศกำหนดเส้นตายให้บุคคลดังกล่าวลาออกจากตำแหน่งแล้ว แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่มีท่าทีจะปฏิบัติตาม แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้กระจายกำลังไปปิดล้อมสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่งใน กทม.รวมทั้งการปิดกั้นจราจรในพื้นที่ต่างๆ ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศไว้ จากนั้นเมื่อพบว่าสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมของ นปช.ทวีความรุนแรง นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นจึงได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมากขึ้น และได้มีการออกข้อกำหนดห้ามไม่ให้มั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ กทม. แต่ภายหลังการออกประกาศและข้อกำหนดแล้วจนถึงวันที่ 14 เม.ย. 2552 กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมและปราศรัยปลุกระดมยุยง ณ เวทีบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ, ยึดและเผารถโดยสารประจำทางในพื้นที่ กทม. และนำรถบรรทุกแก๊สไปจอดไว้กลางถนนเพื่อข่มขู่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และประชาชนเดือดร้อนเสียหาย โดยกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เหตุเกิดที่แขวง-เขตดุสิต, แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี, แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร และแขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. ท้ายฟ้องอัยการยังได้ขอให้ศาลนับโทษของนายวีระกานต์, นายจตุพร, นายณัฐวุฒิ, นพ.เหวง และนายวิภูแถลง ในคดีนี้ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันก่อการร้ายด้วย โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนจำเลยทั้งสิบตั้งแต่เดือน เม.ย. 2552 - 18 มิ.ย. 2552 แล้ว ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ศาลประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.968/2561 โดยศาลจะเบิกตัวนายจตุพร จำเลยที่ 2 ในคดีนี้ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มาสอบคำให้การพร้อมกับจำเลยอื่นในวันที่ 27 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
โดยก่อนการยื่นฟ้อง นายณัฐวุฒิกล่าวว่า พวกตนถูกดำเนินคดีทั้งในกรุงเทพฯ และพัทยา เราได้ทำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุดว่าเป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่ ขณะนี้เรื่องก็ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังไม่มีข้อสรุปจากอัยการสูงสุด อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการส่งตัวมาฟ้องก็ได้เตรียมหลักทรัพย์ยื่นประกันตัวขอสู้คดีตามกระบวนการต่อไป เป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท และวันที่ 29 มี.ค.นี้ ตนก็ต้องไปพบพนักงานอัยการที่พัทยาอีกในคดีอื่นปีเดียวกัน จากการชุมนุมครั้งเดียวกันปี 2552 ทุกคดีเราพร้อมสู้ตามกระบวนการยุติธรรมถึงที่สุด
ภายหลังอัยการยื่นฟ้อง แกนนำและแนวร่วม นปช.ทั้ง 10 คน ในข้อหาปลุกปั่น ยุยง ชุมนุมดาวกระจายใน กทม.กดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และองคมนตรีให้ลาออกแล้ว ทนายความจำเลยทั้ง 9 คน ยกเว้นนายจตุพร ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด คนละ 2 แสนบาทเพื่อขอปล่อยชั่วคราว ล่าสุดศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมดแล้ว โดยตีราคาประกันคนละ 2 แสนบาท และไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ
นายณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า บรรทัดฐานในคดีนี้น่าจะเทียบเคียงได้กับกรณีชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ เช่น กลุ่ม กปปส.ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ขัดขวางการเลือกตั้งที่ จ.พัทลุงแล้ว ก็น่าจะมีการดำเนินคดีต่อแกนนำและผู้สนับสนุนในส่วนกลางที่ปลุกระดมให้มีการขัดขวางการเลือกตั้งด้วย หรือแม้กระทั่งการก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงกันที่แยกหลักสี่ ที่มือปืนป็อปคอร์นถูกดำเนินคดี
ด้าน นพ.เหวงกล่าวว่า คดีที่อัยการยื่นฟ้องวันนี้เป็นเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช.ช่วงเดือน เม.ย.-ส.ค.ที่สะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อปี 2552 ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ได้ดำเนินการสอบสวนมาโดยตลอด แต่คดีก็เงียบหายไปนาน เพิ่งมาโผล่ตอนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำคุกกลุ่มของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช.กับพวก กรณีประท้วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยาในปีเดียวกัน จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ อัยการสำนักงานคดีอาญา 10 ก็แจ้งให้ไปพบเพื่อรายงานตัว 2-3 ครั้งแล้ว ในที่สุดอัยการก็มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาในวันนี้ ทุกคนยืนยันว่าเราไม่มีอะไรผิด และจะให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ก็ต้องสู้คดีกันในชั้นศาล ตอนนี้คิดว่าอัยการฟ้องซ้ำกับคดีที่พัทยาหรือไม่ เพราะเป็นลักษณะแบบเดียวกัน แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นหลายที่ในปี 2552
“เป็นเหตุการณ์ชุมนุมห้วงสุดท้ายของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2552 ก่อนเหตุการณ์จะยุติ ผมนี่เป็นคนส่งชาวบ้านคนสุดท้ายกลับบ้าน และยังเตือนกับทหารว่าอย่าทำอย่างนี้กับประชาชน เพราะไม่ใช่อาชญากร รวมแล้วก็ประมาณ 9 ปีที่แล้ว คือถ้าเขาเล่นงานพวกผมก่อนปี 2553 จับเข้าคุกไป ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์สลายม็อบ นปช.ปี 2553 แล้วทำไมตอนนี้ถึงเพิ่งมาฟ้อง พวกผมก็คิดโดยบริสุทธิ์ใจว่าคดีนี้น่าจะยุติไปแล้ว”
นอกจากนี้ นายณัฐวุฒิยังให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ว่า การชุมนุมดังกล่าวยังอยู่ในสถานการณ์ที่ทางฝั่งผู้ชุมนุมสามารถดูแลกันเองได้ ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีการกระทบกระทั่งรุนแรง น่าจะเป็นเรื่องที่ฝ่ายผู้มีอำนาจควรจะเปิดใจกว้างและให้พื้นที่ประชาชนได้แสดงออกบ้าง ต้องยอมรับว่ากำหนดการเลือกตั้งที่หลายท่านยืนยันว่าจะต้องเป็นไปตามโรดแมปยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง เต็มไปด้วยสัญญาณของความไม่แน่นอน ดังนั้นประชาชนที่ออกมาส่งเสียงว่าอยากเลือกตั้งเขาต้องการเพียงความชัดเจนจากฝ่ายผู้มีอำนาจเท่านั้นเอง ที่ตนสังเกตเขาเริ่มการชุมนุมเป็นเวลา จบตามเวลา มีการปราศรัยเดินขบวนไม่มีสถานการณ์ลุกลามบานปลาย ดังนั้นถ้าหากผู้มีอำนาจเปิดใจกว้างได้ ตนคิดว่าแม้จะมีการนัดชุมนุมต่อเนื่อง ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรให้กระทบกระทั่งกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
เมื่อถามถึงกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดชุมนุมต่อเนื่องในเดือน พ.ค.นี้ ทาง นปช.มีท่าทีอย่างไร นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เราเข้าใจข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าการเรียกร้องเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ส่วนการนัดหมายชุมนุมในเดือน พ.ค.นี้นั้น ทาง นปช.เองยังไม่ได้มีการปรึกษาหารือกันว่าจะออกไปมีส่วนร่วมหรือไม่อย่างไร แต่เห็นว่าบทบาทที่เขาทำอยู่ได้รับการตอบรับจากประชาชนดีอยู่แล้ว เบื้องต้นก็ขอส่งกำลังใจ ขอให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองปฏิบัติด้วยความละมุนละม่อมระมัดระวัง อย่าให้เกิดการกระทบกระทั่งบานปลายเท่านั้นเอง แม้จะเป็นการชุมนุมต่อเนื่องก็ไม่น่าจะสร้างสถานการณ์จนเกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นมาได้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ประเด็นอยู่ที่วิธีคิดและท่าทีของฝ่ายผู้มีอำนาจมากกว่าว่าจะแสดงออกและปฏิบัติอย่างไร
“ผมว่าจริงๆ วันนี้ที่น่าห่วงเนี่ยไม่ใช่กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่น่าห่วงจริงๆ ก็คือกลุ่มคนไม่อยากเลือกตั้งว่าไม่รู้มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และกลุ่มคนไม่อยากเลือกตั้งไม่ทราบว่าปะปนอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจบ้างหรือไม่ ตรงนี้ครับน่าห่วง เพราะว่าการเลือกตั้งเป็นกลไกปกติที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งประกาศว่ากำลังจะเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย ดังนั้นยิ่งมีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมากๆ ผมว่าเป็นสัญญาณบวกสำหรับพัฒนาการของสถานการณ์การเมือง แต่ถ้ามีกลุ่มคนไม่อยากเลือกตั้งมากๆ หรือกลุ่มคนไม่อยากเลือกตั้งมีอำนาจมากๆ อันนี้คือสถานการณ์ที่ผมว่าหลายฝ่ายควรวิตกกังวล” นายณัฐวุฒิกล่าว
เมื่อถามว่าในเดือน เม.ย.นี้ มีการกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองไปยืนยันตัวตน ทางแกนนำ นปช.ที่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) จะไปยืนยันตนเป็นสมาชิกพรรคต่อไปหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ยังไม่ได้ปรึกษาหารือกัน ขณะนี้มีทั้งพรรคการเมืองเก่า พรรคการเมืองที่กำลังจะจดตั้งใหม่ เพื่อนมิตรแกนนำ นปช. หรือมวลชนแนวร่วมก็มีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะเลือกเป็นสมาชิกพรรค หรือไม่เป็น เราไม่มีข้อจำกัดตรงนี้ ถ้าหากว่าจุดยืนยังเป็นเรื่องเดียวกันคือประชาธิปไตย นปช.ก็ยังเป็นองค์กรการต่อสู้ที่พร้อมจะเปิดรับทุกคน ใครจะเดินไปสู่เส้นทางการเมืองเป็นสมาชิกพรรค เป็นผู้สมัครก็เป็นเรื่องที่ทำได้ ตราบเท่าที่ไม่ข้ามเส้นหลักการ เช่น ไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ไม่สนับสนุนรัฐประหาร ก็ถือเป็นแนวร่วมทางการเมืองของ นปช.อยู่
เมื่อถามว่าจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ยังรอดูเวลาถึงวันที่ 1 เม.ย.ก่อน ตอนนี้ยังไม่ได้คิดอะไรทั้งนั้น เพราะยังไม่ถึงเวลา