ยะลา - อำเภอเบตง จ.ยะลา นำร่องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่ทางด้านประชาชนในพื้นที่ยังคงอยากให้มีการใช้อยู่ เพราะมีความรู้สึกปลอดภัยมากกว่า
วันนี้ (20 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การก่อความไม่สงบที่เริ่มมากว่า 14 ปีเศษ กับความล้มเหลวในการติดตามจับกุมผู้กระทำผิดตัวจริงในการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ดินแดนปลายด้ามขวาน เพื่อมาดำเนินคดีทางกฎหมาย นั่นคือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่นำมาซึ่งการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาบางส่วน
จวบจนถึงทุกวันนี้ แม้เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด และนำตัวผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ส่วนหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ผลพวงหนึ่งที่เกิดขึ้นจาก “กฎหมายพิเศษ” ในพื้นที่ นั่นคือ การต่อต้านเจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายควบคู่กันไปกับการใช้กฎหมาย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่มีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ดังเซ็งแซ่มาจากพื้นที่ชายแดนใต้ และล่าสุด ท่าทีตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลาก็เริ่มขึ้น
โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นวันแรกที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ได้มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งอำเภอเบตง เป็นอำเภอแรกของเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะที่ผ่านมา สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอเบตง มีน้อยมาก ประกอบกับกระแสการท่องเที่ยวเบตงกำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จึงนำมาสู่การยกเลิก พ.ร.ก.ดังกล่าว
สำหรับเช้านี้ ที่อำเภอเบตง บรรยากาศหลังมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประชาชนในพื้นที่ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ เพราะความเคยชิน แต่ที่แปลกนั่นก็คือ การที่ไม่มีทหารคอยดูแลในย่านชุมชน และตามเส้นทางสาย 410 หรือเส้นทางเข้าออกเมืองเบตงไปยังตัวจังหวัดยะลา ซึ่งการเดินทางต้องผ่านพื้นที่สีแดงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงยังคงอยู่ ซึ่งอำเภอเบตง มีทางออกไปตัวจังหวัดเพียงทางเดียวคือ เส้นทางดังกล่าว หรือไม่ต้องการผ่านเส้นทางดังกล่าวนี้ก็ต้องไปใช้เส้นทางผ่านแดนประเทศมาเลเซีย เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางออกจากอำเภอเบตง
แต่อย่างไรก็ดี การก่อสร้างสนามบินเบตง ก็เป็นทางออกในอนาคตสำหรับทางเลือกการเดินทางออกจากอำเภอเบตง แต่คงต้องรอการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2563
ซึ่งการเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ สิ่งสำคัญต้องทำความเข้าใจต่อชาวบ้าน และเข้าถึงประเด็นและความสำคัญของการยกเลิก โดยอาจนำร่องจากการยกเลิกเป็นรายพื้นที่ไปก่อนเพื่อค่อยๆ ปรับความเข้าใจ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งการเลือกยกเลิกแบบเจาะพื้นที่เป็นรายๆ นั้น เช่น พื้นที่ใดที่สามารถปกครอง และดูแลตนเองได้ไม่มีปัญหาก็สามารถยกเลิกได้ เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่พื้นที่อื่นหากต้องการยกเลิก พ.ร.ก.ด้วยก็ต้องทำให้ตรงหรือครบเงื่อนไขที่รัฐกำหนดให้ได้
นางอรวรรณ แซ่จ้าว อายุ 58 ปี บอกว่า ยังไม่ต้องการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในพื้นที่ระหว่างมีเจ้าหน้าที่ยังมีความอุ่นใจ และปลอดภัยมากกว่า
ส่วน นายวสันต์ พรรณวงศ์ อายุ 36 ปี บอกว่า ยังไม่ต้องการให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมีความอุ่นใจมากกว่า เมื่อเห็นทหารเดินลาดตระเวน กับ อส. ผมมีความเชื่อมั่นทหารมากกว่า และไม่อยากให้มีการยกเลิก เกรงจะเกิดความรุนแรงขึ้นอีก เหมือนวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่หน้าโรงแรมฮอลิเดย์ ฮิลล์ จนมีผู้บาดเจ็บ 34 ราย เสียชีวิต 2 ราย เพียงแค่มีกระแสข่าวว่าจะมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีการย้ายฐานของทหารพราน ฉก.33 ออกจากพื้นที่อำเภอเบตง ไปตั้งฐานที่อำเภอธารโต เพียงไม่กี่วันก็เกิดระเบิดขึ้นดังกล่าว
“ซึ่งผมเกรงว่าการดูแลความปลอดภัยที่ใช้กำลัง ตชด. อส. กำลังภาคประชาชนในการดูแลพื้นที่แทนทหารนั้น ผมว่าทหารดูเป็นมืออาชีพกว่า อีกทั้งเป็นคนจากนอกพื้นที่ ไม่มีญาติพี่น้องในพื้นที่ แต่มาปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีผลในทางปฏิบัติคือ การตั้งด่านตรวจก็ไม่เกิดความเกรงใจเหมือนคนในพื้นที่ในการตรวจค้น ส่วนกลางจะรู้ดีกว่าคนในพื้นที่ได้อย่างไร ถามคนในพื้นที่มีแต่ไม่อยากให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” นายวสันต์ กล่าว
ส่วนผลกระทบจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ผ่านมา ในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบก็คือความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิระหว่างการถูกควบคุมตัวแล้ว เนื่องจากหน่วยงานอื่นไม่สามารถตรวจสอบระหว่างการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ได้ ขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถที่จะฟ้องศาลปกครอง เพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดไว้ว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อีกทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐด้วยเช่นกัน
นั่นคือภาพรวมของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อดีของประชาชนที่ไม่มีส่วนได้เสีย แต่ขอเพียงความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นของขวัญให้คนชายแดนใต้ได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีว่าพื้นที่ไม่สงบที่ถึงขั้นต้องใช้ยาแรงอย่างกฎหมายพิเศษเหล่านี้ค่อยๆ ลดพื้นที่ลง