รองโฆษกอัยการ เผย คดี “เปรมชัย” ล่าสัตว์ป่า อัยการสูงสุดไม่ได้นั่งดูสำนวนคนเดียว แต่มีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุดคอยกลั่นกรอง มั่นใจสั่งคดีได้ทันครบฝากขัง - ไม่ปล่อยให้ขาดอายุความ
วันนี้ (14 เม.ย.) นายโกศลวัฒน์ อินทุจรรยงค์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณี อธิบดีอัยการภาค 7 มีคำสั่งฟ้อง นายเปรมชัย กรรณสูต ประธาน บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 6 ข้อหา ขณะที่สั่งไม่ฟ้อง 5 ข้อหา กระทั่งผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 7 ส่งความเห็นแย้งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด โดยยืนยันอัยการควรฟ้องนายเปรมชัย 3 ข้อหา คือ 1. ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต 2. ร่วมกันมีเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์ป่า 3. ร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ว่า ตามหลักกฎหมายที่ใช้กับกรณีมีอยู่ในวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 145 หลักคือ กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งไม่ฟ้องนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นเสนอ ผบ.ตร. เห็นแย้ง และถ้า ผบ.ตร. เห็นแย้งคำสั่งของอัยการ ให้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาดเป็นที่สุด และมาตรา 145/1 ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ หลักคือ ในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่กรุงเทพฯให้ส่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคเห็นแย้งแทน
นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า มาตรา 145 วรรค 1 ที่บัญญัติว่ากรณีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอัยการสูงสุด ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นไม่ฟ้องไปยังผู้มีอำนาจทำความเห็นแย้ง ดังนั้นหากคดีใดอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดแต่ผู้เดียวก็ไม่ต้องส่งความเห็นไปยังตำรวจ เช่น คดีความผิดตามกฎหมายไทยทำลงนอกราชอาณาจักรตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 และคดี นายเปรมชัย ถือว่าเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เพราะอธิบดีอัยการภาค 7 สั่งไม่ฟ้องนายเปรมชัย 5 ฐาน และทางผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เห็นแย้งคำสั่งของอธิบดีอัยการภาค 7 ตามกฎหมายตรา 145 วรรค 1 จึงต้องส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด
กระบวนการต่อไป คือ ขั้นตอนที่อยู่ในอำนาจอัยการสูงสุด เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดทำความเห็นแย้ง เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้วจะเกิดผลตามกฎหมาย คือ หนึ่งผู้มีอำนาจแย้งความเห็นไม่ฟ้อง (ผบช.ภ.7) ไม่แย้งคำสั่งของอัยการ ซึ่งคดีนี้ทราบทั่วไปแล้วว่า ท่านแย้งความเห็นมา กับ สอง กรณีผู้มีอำนาจแย้งคำสั่งไม่ฟ้อง ได้แย้งคำสั่งของอัยการภาค 7 คำสั่งจะเด็ดขาดก็ต่อเมื่ออัยการสูงสุดมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ถ้าอัยการสูงสุดชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหา ตามความเห็นของตำรวจ คำสั่งของอัยการสูงสุด ก็เป็นที่สุด อัยการเจ้าของสำนวนต้องฟ้องไปตามที่ชี้ขาด เมื่ออัยการสูงสุดสั่งออกไปแล้ว วันหลังจะกลับคำสั่งเดิมของตนไม่ได้ มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2522 ยืนยันไว้
ผู้สื่อข่าวถามว่า อัยการสูงสุดจะนั่งดูสำนวนความเห็นแย้งคนเดียวหรือไม่ มองว่า อาจจะต้องใช้เวลานานไม่ทันครบฝากขัง หรือคดีขาดอายุความไปก่อนหรือไม่ นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ในการเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาสั่งคดีของอัยการสูงสุดเกี่ยวกับกรณีที่มีความเห็นแย้ง คำสั่งไม่ฟ้องนั้น ในทางปฏิบัติจะส่งให้พนักงานอัยการที่สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ที่มี นายอำนาจ มุทิตาเจริญ เป็นอธิบดีสำนักงานชี้ขาดฯ เป็นผู้กลั่นกรองชั้นหนึ่งก่อน
หากในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานชี้ขาด หรืออัยการสูงสุดกำลังพิจารณา หากคดีจะขาดอายุความ ตามกฎหมายมาตรา 145 วรรคท้ายระบุ ว่า เมื่อมีเหตุจำเป็นอื่น ต้องรีบฟ้อง ก็ให้อัยการเจ้าของสำนวน ฟ้องคดีไปตามความเห็นของตำรวจทั้ง 11 ข้อหาไปก่อน แต่ถ้าไม่ปรากฏเหตุจำเป็น อย่างไรก็ต้องรออัยการสูงสุดชี้ขาดเท่านั้น ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบอัยการสูงสุดปี 2547 ข้อ 65 รองรับไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา นางสมศรี วัฒนไพศาล อธิบดีอัยการภาค 7 พร้อมคณะทำงาน มีความเห็นคำสั่งฟ้อง นายเปรมชัย ผู้ต้องหาที่ 1 จำนวน 6 ข้อหา คือ 1. ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยมิได้รับอนุญาต และโดยไม่มีเหตุสมควร 2. ร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 3. ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 4. ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 5. ร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยการกระทำความผิดกฎหมาย และ 6. ร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่
สั่งไม่ฟ้อง 5 ข้อหา คือ 1. ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 2. ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 3. ร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่า หรือจับสัตว์ป่า หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 4. ร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และ 5. ร่วมกันทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร