MGR Online - ศาลอาญาประเดิมใช้กำไล EM 2 ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์-ครอบครองไอซ์ เน้นให้ประกันตัวผู้ต้องหาไม่มีหลักทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำคนรวย-คนจน และลดภาระของเรือนจำ
เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (6 มี.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และนายชนุดม ปิติฤกษ์ เลขานุการศาลอาญา พร้อมคณะรองอธิบดีซึ่งดูแลการประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลย ร่วมกันแถลงข่าวและสาธิตการติดตั้งกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ที่ข้อเท้าผู้ต้องหารายที่ 2 ภายหลังจากได้เริ่มใช้กำไลดังกล่าวแทนการใช้หลักทรัพย์ยื่นประกันตัว ตามโครงการของศาลนำร่อง 23 ศาล เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ต้องหารายที่ 2 ดังกล่าวเป็นผู้ต้องหาคดีครอบครองไอซ์ 0.17 กรัม ที่คดีมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 4 ปี โดยศาลอาญาได้ใช้กำไล EM ไม่ได้ใช้หลักทรัพย์ประกันตัว และศาลไม่ได้จำกัดพื้นที่ในการเดินทาง
นายบุญชูเปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานศาลยุติธรรมมีนโยบายการปล่อยชั่วคราวโดยใช้กำไล EM ในการติดตามตัว ศาลอาญาได้รับมอบกำไลมารวม 600 ชุด โดยพิจารณาเริ่มใช้รายแรกไปเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ในคดีลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่ผู้ต้องหามีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ ขณะที่ศาลพิจารณาให้ยื่นหลักทรัพย์ 20,000 บาท พร้อมกับติดกำไล EM โดยไม่ได้จำกัดขอบเขตและพื้นที่ในการเดินทาง เพราะเห็นว่าลักษณะของผู้ต้องหานั้นไม่ได้มีเหตุที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือพื้นที่เกิดเหตุ โดยปรากฏเพียงว่าแค่เดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน
นายบุญชูกล่าวต่อไปว่า การพิจารณาว่าจะให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดได้รับการปล่อยชั่วคราวไปโดยการใส่กำไล EM นั้น เป็นดุลพินิจของศาลอาญา ผู้ที่จะพิจารณาเรื่องการประกันตัว คือ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทั้ง 3 คน หลักพิจารณา คือ ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นยากจน ไม่มีหลักทรัพย์ประกันหรือมีหลักทรัพย์เพียงบางส่วน หรือมีแนวโน้มว่าถ้าได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้วอาจจะหลบหนี ขณะที่ผู้สวมใส่ก็ต้องเป็นผู้ที่ให้ความสมัครใจด้วย แต่หากผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมีหลักทรัพย์เพียงพอก็เป็นการพิจารณาให้ประกันไปตามขั้นตอนปกติ โดยไม่ต้องสวมใส่กำไล ส่วนการพิจารณาว่าจะกำหนดขอบเขตพื้นที่เดินทางของผู้สวมใส่กำไลหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาลที่อาจจะดูได้จากท้ายคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนว่ามีการคัดค้านการให้ประกันด้วยเหตุผลว่าจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือจะหลบหนีหรือไม่
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าวอีกว่า การใช้กำไล EM ก็จะใช้ทั้งในชั้นฝากขังผู้ต้องหา ชั้นพิจารณาคดีในชั้นศาล และเมื่อตัดสินแล้วก็สามารถใช้ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ แต่ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป ส่วนลักษณะความผิดที่จะใช้ คือ คดีอัตราโทษไม่เกิน 5 ปี หากคดีมีอัตราโทษเกิน 5 ปี จะใช้กำไล EM ประกอบกับใช้หลักทรัพย์ประกันด้วย แต่คดีผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ปริมาณมากจะไม่พิจารณาใช้กำไล EM โดยในกลุ่มคดียาเสพติดหากใช้ก็จะเป็นคดีครอบครองไว้เพื่อเสพ ปริมาณยาเล็กน้อย ส่วนในกลุ่มผู้มีอิทธิพลนั้นถ้ามีแนวโน้มจะหลบหนีก็อาจพิจารณาใช้กำไล EM ประกอบได้
“กลุ่มเป้าหมายเราต้องการให้คนจนที่ไม่มีหลักทรัพย์ หลักประกันมายื่นกับเราโดยใช้ EM เป็นหลัก ส่วนคนที่มีอัตราโทษสูงและมีแนวโน้มว่าจะหลบหนี หรือยุ่งเหยิง เราก็จะใช้ EM ประกอบการพิจารณา” นายบุญชูกล่าว และว่า การใช้กำไล EM เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับสิทธิการปล่อยชั่วคราว และเข้าสู่กระบวนการตามวันนัด โดยไม่ทำให้การพิจารณาคดีสะดุดลงเพราะหลบหนี อย่างไรก็ดี ขณะนี้การใช้กำไล EM อยู่ในช่วงทดลอง ศาลอาญาจะประเมินผลทุกเดือน ซึ่งทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็มีความประสงค์จะใช้กำไลนี้เยอะๆ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำซึ่งเป็นการลดภาระในเรือนจำ
เมื่อถามว่าระบบประเมินความเสี่ยงกับกำไล EM เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ นายบุญชูกล่าวว่า ระบบประเมินความเสี่ยงเป็นการประเมินโดยที่ไม่มีหลักประกัน จึงไม่เกี่ยวกับกำไล EM แต่เราสามารถนำมาใช้คู่กันได้ เพราะหากเราประเมินความเสี่ยงแล้วไม่มีเหตุจะหลบหนี เราก็ปล่อยชั่วคราวไป แต่หากประเมินแล้วยังมีความเสี่ยงที่จะหลบหนีอยู่บ้าง เราก็เอากำไล EM เข้ามาใช้ควบคู่กันได้ เรื่องนี้จึงมีความคล้ายกัน
เมื่อถามถึงความปลอดภัยของกำไล EM นายบุญชูกล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศของศาลยุติธรรม กำไลนี้เป็นอุปกรณ์ที่มีความปลอดภัย สามารถกันน้ำ กันกระแทก ไม่สามารถตัดขาดได้ เพราะหากตัดขาดก็จะมีการแจ้งเตือนมาที่ศูนย์ควบคุม ส่วนกรณีที่เครื่องชำรุดเสียหาย เราก็จะพิจารณาดูว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ทำลายหรือชำรุดจากการใช้เอง ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่จะใช้เพาเวอร์แบงก์ ถ้าเรานัดรายงานตัวแล้วไม่มาก็ถือว่าผิดเงื่อนไข อาจจะพิจารณาออกหมายจับและนำตัวมาขังโดยไม่ให้ใช้กำไล EM
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการแถลงข่าวได้มีการพาสื่อมวลชนไปดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมและติดตามการปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring Center) ที่ภายในห้องจะมีจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่เรียงติดต่อกัน ปรากฏภาพแผนที่ระบุจุดพิกัดตาม GPS ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้สวมใส่กำไล EM โดยศูนย์นี้ก็จะรับข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจำเลยทั่วประเทศที่ได้ใช้กับศาลนำร่องทั้ง 23 ศาล ซึ่งปัจจุบันนี้มีรายงานว่าได้มีการติดกำไล EM ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วประมาณ 5-6 ราย ประกอบด้วย ศาลจังหวัดมีนบุรี 1 ราย, ศาลอาญากรุงเทพใต้ 1 ราย, ศาลอาญา 2 ราย และที่เหลือเป็นศาลจังหวัดนครปฐม
นายชนุดม เลขานุการศาลอาญา เปิดเผยว่า ศูนย์ควบคุม EM ดังกล่าวจะทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ถูกปล่อยชั่วคราว โดยใช้กำไล EM ซึ่งทางศูนย์จะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ประจำการตลอด ทั้งนี้เมื่อผู้ต้องหาเริ่มสวมกำไล ก็จะมีสัญญาณปรากฏที่ศูนย์ควบคุม EM ทันที จากการมอนิเตอร์เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวอยู่ในพื้นที่ที่ศาลกำหนดไว้หรือไม่ ถ้าออกนอกพื้นที่หรือฝ่าฝืนคำสั่ง ตัวกำไล EM จะส่งสัญญาณมาทางศูนย์ควบคุมทุก 2 นาที เมื่อทางศูนย์ได้รับสัญญาณก็จะแจ้งไปยังศาลที่ออกคำสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย จากนั้นหากพบว่ามีพฤติการณ์หลบหนีก็จะประสานไปยังตำรวจจับกุมตัวมาเพื่อไต่สวนว่าเหตุใดจึงกระทำผิดเงื่อนไข EM ซึ่งศาลจะมีผู้พิพากษาเวรที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว