xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์ 1 มี.ค.นี้ ศาลยุติธรรมนำร่องใช้กำไลข้อเท้า EM กับผู้ต้องหาหรือจำเลย แทนหลักทรัพย์ค้ำประกัน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
MGR Online - ดีเดย์ 1 มี.ค. นำร่องใช้กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์สวมข้อเท้าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว แทนหลักทรัพย์ประกันในคดีเล็กน้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและปริมาณผู้ต้องขัง โดยมีศูนย์ควบคุมเข้มงวดตลอด 24 ชั่วโมง ฝ่าฝืนผิดเงื่อนไข-ทำลายอุปกรณ์ ออกหมายจับทันที

ที่ห้องประชุมชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (27 ก.พ.) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมลงนามบันทึกความตกลง (MOU) ความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศ และวันเดียวกันนี้ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังได้แถลงข่าวเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) หรือกำไลข้อเท้า มาใช้แทนกาวางเงินประกันผู้ต้องหา หรือจำเลยในการขอปล่อยชั่วคราวเพื่อใช้สืบเสาะพฤติกรรมผู้ต้องหา หรือจำเลยคดีอาญา เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม และลดปริมาณผู้ต้องขัง หรือจำเลยโดยมีศูนย์ควบคุม ตรวจสอบติดตามการปล่อยชั่วคราวตลอด 24 ชั่วโมง

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า หากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ หรือพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง ก็เป็นดุลพินิจศาลว่าจะใช้กำไลข้อเท้าควบคุมหรือไม่ ที่ผ่านมาจากการประเมินพบว่ามีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพโดยจะเริ่มใช้กำไลข้อเท้าจำนวน 5,000 เครื่อง กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา วันที่ 1 มี.ค.นี้กับศาลนำร่องทั่วประเทศ 23 ศาลทั่วประเทศ เช่น ศาลอาญา 600 เครื่อง ศาลจังหวัดมีนบุรี 600 เครื่อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ 300 เครื่อง ศาลอาญาธนบุรี 300 เครื่อง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 50 เครื่อง โดยกำไลข้อเท้าจะทำให้เจ้าพนักงานศาลรู้ว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยปฏิบัติ ตามเงื่อนไขศาลหรือไม่ เช่น ป้องกันการหลบหนี หรือจะก่อเหตุประทุษร้ายกับผู้เสียหายอีก การออกนอกพื้นที่ หรือการฝ่าฝืนเงื่อนไข ศาลจะพิจารณาออกหมายจับต่อไป การนำเทคโนโลยีมาใช้การจัดการบริหารคดีนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สะดวก รวดเร็ว ประหยัด เป็นไปตามนโยบายของประธานศาลฎีกา

นายกำพล รุ่งรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า กำไลข้อเท้า EM ซึ่งติดระบบ นำทาง GPS ไว้มีน้ำหนักเบา 230 กรัม จะถูกสวมที่ข้อเท้าผู้ต้องหาหรือจำเลย ตลอดเวลา เพื่อใช้กำหนดพื้นที่การเดินทาง ความเคลื่อนไหว และพื้นที่ต้องห้าม สอดส่องพฤติกรรมของผู้ใช้ หากมีการกระทำผิดเงื่อนไข เช่น ออกนอกพื้นที่มีการทำลายกำไลข้อเท้า ฯลฯ เครื่องจะแสดงสัญญาณไปที่ศูนย์ควบคุมฯ ให้เจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ผลัดละ 8 คน 8 ชั่วโมง รายงานต่อผู้พิพากษาเวร แต่ละศาลเพื่อพิจารณาออกหมายจับ ผู้ต้องหาหรือจำเลยทันที สำหรับกำไลข้อเท้า EM นี้ในปีแรก ทางศาลยุติธรรมจะเริ่มใช้ จำนวน 5,000 เครื่อง ใช้งบประมาณ 80.8 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 10,000 เครื่อง ให้แก่ศาลอื่นๆ ในปีที่ 2 โดยจะมีการประเมินผลการใช้งานแบบปีต่อปี

ด้านนายสุริยัณห์ หงส์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสรรอุปกรณ์กำไลข้อเท้า EM ไปแต่ละศาลนำร่อง 23 แห่งนั้นในจำนวนที่แตกต่างกันนั้นก็พิจารณาจากปริมาณคดีที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขการพิจารณาใช้กำไลข้อเท้า EM ในแต่ละศาล โดยหลังจากเริ่มใช้นำร่องในวันที่ 1 มี.ค.นี้แล้ว ศาลก็จะประเมินประสิทธิภาพด้วยภายในสิ้นปี 2561 นี้ ว่าใช้ได้ดีเพียงใด มีข้อใดต้องปรับและพัฒนาอีกหรือไม่ อย่างไรก็ดี โครงการส่งเสริมการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลมาใช้ในการปล่อยชั่วคราว หรือกำไลข้อเท้า EM นั้น เบื้องต้นคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ก็มีมติที่จะให้เพิ่มศาลนำร่องอีก 3 แห่งด้วย คือ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2, ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 7 และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกศาลละ 50 ชุด โดยขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาเกี่ยวกับงบประมาณที่ต้องเพิ่มต่อไป
นายกำพล รุ่งรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา อธิบายขั้นตอนการใช้กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์





กำลังโหลดความคิดเห็น