xs
xsm
sm
md
lg

ละเมิด... จากการ “สลายการชุมนุม” โดยไม่ชอบ !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ละเมิด... จากการ “สลายการชุมนุม” โดยไม่ชอบ !


เป็นที่ยุติแล้ว... สำหรับกรณีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มาชุมนุมเพื่อคัดค้านการแถลงนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น นับเป็นความสูญเสียครั้งหนึ่งที่ต้องจดจำเป็นบทเรียนและเป็นอุทาหรณ์สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นกรณีนี้ซ้ำขึ้นอีก !

การสลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งส่งผลให้ผู้ชุมนุมจำนวนมากได้รับบาดเจ็บและมีผู้เสียชีวิต 1 ราย รวมทั้งสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่การแพทย์ก็ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกันกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย จะเห็นได้ว่า
ทุกฝ่ายสูญเสีย ภายใต้สถานการณ์ที่กดดันและตึงเครียดซึ่งต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะดำเนินการตามเป้าหมายของตนเองเช่นนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า.. ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมสถานการณ์และควบคุมฝูงชนดังกล่าวก็คือ รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ

จากการปะทะกันดังกล่าว ทำให้ผู้เสียหายจำนวนกว่าสองร้อยรายได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองโดยยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

คดีนี้... ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสองเป็นฝ่ายแพ้คดีและต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี โดยคู่กรณียื่นอุทธรณ์คำพิพากษา และต่อมาศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำตัดสินในคดีดังกล่าว (คดีหมายเลขแดงที่ อ. 1442/2560) ซึ่งได้อ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 ที่ผ่านมาค่ะ

คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวได้วางหลักการและแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดีเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมไว้อย่างชัดเจน ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยของศาลโดยสรุปดังนี้

ข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติในคดี : คดีนี้ศาลได้รับฟังข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานผู้เชี่ยวชาญ ข้อเท็จจริงจากรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและพยานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า การชุมนุมในครั้งนี้.. ผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันเพื่อปิดล้อมบริเวณทางเข้ารัฐสภาเนื่องจากไม่ต้องการให้มีการประชุมแถลงนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นและผู้ชุมนุมบางส่วนมีอาวุธ

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำหนดแผนที่เรียกว่าแผนกรกฎ/48 ซึ่งจะใช้ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการสลายการชุมนุม โดยตามแผนในการควบคุมฝูงชนและปราบจลาจลดังกล่าวได้กำหนดวิธีการไว้ 2 วิธี คือ 1. เจรจา และ 2. หากเจรจาไม่ได้ผลจึงใช้กำลัง โดยให้เจ้าหน้าที่นำโล่และแก๊สน้ำตาติดตัวไปโดยไม่มีกระบอง ขั้นตอนการปฏิบัติ คือ 1. ใช้กำลังผลักดัน 2. ใช้รถฉีดน้ำ 3. ใช้แก๊สน้ำตา 4. ใช้กระสุนยาง และ 5. ยิงปืนแหจู่โจมจับแกนนำ ซึ่งในการดำเนินการจะต้องมีการประกาศแจ้งเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมก่อน โดยจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักและไม่ใช้ความรุนแรง

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญหน้าและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการเจรจาต่อรองกับผู้ชุมนุมเพื่อขอเปิดทางเข้าสภาโดยใช้เครื่องขยายเสียงจากรถประชาสัมพันธ์แต่ไม่เป็นผล จึงนำไปสู่การใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยก่อนการใช้แก๊สน้ำตา เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำก่อนตามที่กำหนดไว้ในแผนกรกฎ/48 แม้จะมีการประสานขอรถดับเพลิงไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อปฏิบัติภารกิจเป็นการด่วนที่สุดในวันเดียวกัน แต่การจัดหารถดับเพลิงเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วดังกล่าวจึงไม่ทันต่อเหตุการณ์ และผู้ชุมนุมจำนวนมากไม่ได้รับทราบการแจ้งเตือนมาตรการสลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำหรับวิธีการยิงแก๊สน้ำตาที่ถูกต้องตามหลักการสากลจะต้องใช้มุมยิง 25 ถึง 45 องศาในทิศทางเหนือลม ในลักษณะวิถีโค้ง โดยต้องยิงห่างจากฝูงชนประมาณ 60 - 90 เมตร แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนได้มีการยิงแก๊สน้ำตาในแนวราบขนานกับพื้นไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม จนเกิดอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุม รวมทั้งมีการใช้แก๊สน้ำตาคุณภาพต่ำหรือหมดอายุการใช้งานในการสลายการชุมนุมดังกล่าวด้วย

คำวินิจฉัยของศาลปกครอง : คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยสอดคล้องกันว่า มาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ได้บัญญัติคุ้มครองให้บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ในการชุมนุมที่พิพาท
มีผู้ชุมนุมบางส่วนมีลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นเกรงกลัวและมีอาวุธ จึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญดังกล่าวให้การคุ้มครองไว้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จึงมีอำนาจหน้าที่ยับยั้งการชุมนุมที่เป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ แต่ไม่ว่าการชุมนุมดังกล่าวจะเป็นไปโดยสงบที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามขั้นตอนและวิธีการที่เหมาะสมตามแผนที่ได้กำหนดไว้

การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมนุมครั้งนี้ มีข้อบกพร่องในขั้นตอนการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้ในการสลายการชุมนุมและวิธีการยิงแก๊สน้ำตาที่ไม่ถูกต้องตามหลักการสากล ประกอบกับแก๊สน้ำตาที่นำมาใช้ได้ซื้อมาเป็นเวลานานจึงมีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้ต้องใช้แก๊สน้ำตาจำนวนมากเกินกว่าที่จะใช้โดยปกติทั่วไป จนเกิดการปั่นป่วนชุลมุนและผู้ชุมนุมได้รับอันตรายเกิดความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้ชุมนุมมากกว่าปกติ จึงเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย สิทธิ และเสรีภาพ อันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดี

ในส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยแตกต่างจากศาลปกครองกลาง คือกรณีของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาว่าได้กระทำละเมิดและต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี แต่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการประชุมแถลงนโยบายที่รัฐสภานั้นเป็นการดำเนินการไปตามปกติ หากมีเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องติดตามสถานการณ์และเตรียมการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการในการสลายการชุมนุมดังกล่าว อีกทั้งเมื่อเริ่มมีการประชุมแล้วและเกิดความเสียหายแก่ร่างกายผู้ชุมนุมอันเกิดจากการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ย่อมเป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะสั่งให้ปิดประชุมเพื่อยุติเหตุการณ์หรือไม่ มิใช่อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย นอกจากนี้เนื่องจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ชุมนุมบางส่วนมีการชุมนุมในลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นเกรงกลัวจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องระงับยับยั้งการชุมนุม จึงเห็นสมควรให้ลดค่าเสียหายลง

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด จำนวน 254 ราย โดยลดลงจากที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดร้อยละ 20 และให้ยกฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2)

จากคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงได้ข้อสรุปและแนวทางการปฏิบัติราชการในการสลายการชุมนุม ดังนี้

1. การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองให้บุคคลสามารถกระทำได้ (รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 44)

2. หากผู้ชุมนุมมีการกระทำที่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการระงับยับยั้งการกระทำดังกล่าวได้ แต่การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมโดยชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามแผนและขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดและจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสากล การที่ผู้ชุมนุมกระทำผิดกฎหมายไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยขั้นตอนตามแผนที่กำหนดไว้ได้

3. ในการปฏิบัติหน้าที่ตามแผนจะต้องมีการเตรียมการและเตรียมความพร้อมให้เรียบร้อย ซึ่งในคดีนี้จะเห็นได้ว่าเกิดความบกพร่องในส่วนของการเตรียมการและการเตรียมความพร้อม มีการขอรถดับเพลิงที่ล่าช้าไม่ทันการณ์ ไม่ได้มีการประสานเตรียมการล่วงหน้าในลักษณะที่พร้อมใช้งานและยังใช้แก๊สน้ำตาที่มีคุณภาพต่ำเนื่องจากมีบางส่วนที่หมดอายุ นอกจากนี้ วิถีการยิงแก๊สน้ำตายังไม่เป็นไปตามหลักการสากล มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนยิงในวิถีแนวราบอันแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องเกี่ยวกับการซักซ้อมในวิธีการยิงแก๊สน้ำตาที่ถูกต้อง

สิทธิเสรีภาพถือเป็นเรื่องที่สำคัญ... การเคารพและใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างถูกต้องและไม่กระทบสิทธิของผู้อื่นก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ประเด็นขอบเขตการใช้สิทธิในการชุมนุมของผู้ชุมนุมและการใช้อำนาจควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญ

เพราะที่ผ่านมา...ประเทศไทยเราได้ผ่านเหตุการณ์ความสูญเสียมาไม่น้อย ซึ่งปัจจุบันได้มีการตราพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ขึ้นมาใช้บังคับแล้ว โดยกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการใช้สิทธิและเสรีภาพการชุมนุมสาธารณะรวมทั้งมีการกำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืนไว้ ทำให้การใช้สิทธิชุมนุมมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และคดีข้างต้นนี้... ศาลปกครองสูงสุดก็ได้วินิจฉัยวางแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม ซึ่งต่างก็เป็นไปเพื่อการเคารพต่อสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประการสำคัญเพื่อป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม เพราะทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าและมีความหมาย !!

กลับมาพบกันใหม่ในตอนหน้า... นะคะ


ป. ธรรมศลีญ์


กำลังโหลดความคิดเห็น