ศาล ปค. สูงสุดสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหาย 254 ผู้ชุมนุม พธม. ตั้งแต่รายละ 7 พันบาท ถึงรายละ 4 ล้านบาท รวม 26.2 ล้านบาทจากเหตุสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ต.ค. 51 ชี้ ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ใช้แก๊สน้ำตาไม่มีคุณภาพ ยิงแนวตรงขนานพื้นไม่ถูกต้องตามหลักสากล ทนายชี้ สตช. ต้องจ่ายภายใน 60 วัน และเป็นคำสั่งถึงที่สุด ด้าน “ตี๋ - ชิงชัย” ดีใจศาลให้ความยุติธรรม เผยพร้อมออกมาต่อสู้อีกหากพบการบริหารบ้านเมืองไม่ถูกต้อง
วันนี้ (31 ม.ค.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ นายชิงชัย อุดมเจริญกิจจและ นายกร เอี่ยมอิทธิพล กับพวกรวม 254 คน กรณีได้รับบาดเจ็บเสียหาย จากเหตุ สตช. เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณรอบรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 โดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ละรายจำนวนตั้งแต่ 7,120 บาท ถึง 4,152,771.84 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางไม่ให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่ใช่การก่ออาชญากรรมโดยแท้ จึงไม่อาจปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมทั้งหมดด้วยวิธีการเดียวกับการจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้ แต่หากการชุมนุมเป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทำให้ผู้อื่นเกิดความเกรงกลัว สตช. และสำนักนายกรัฐมนตรี ย่อมมีอำนาจหน้าที่ระงับยับยั้งได้ โดยต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามกฎหมายระเบียบ และขั้นตอนวิธีการที่เหมาะสม ไม่ว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
อีกทั้งหลังเกิดเหตุ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งรับฟังได้เป็นที่ยุติตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันว่า ก่อนการใช้แก๊สน้ำตาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แต่อย่างใด โดยพยานให้ถ้อยคำว่าได้ประสานขอรถดับเพลิงไปยังกรุงเทพมหานครแล้ว แต่ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตา โดยปรากฏว่า ได้มีการขอรถไฟฟ้าส่องแสงสว่างและรถดับเพลิงไปยังกรุงเทพมหานครตามหนังสือวันที่ 19 ก.ย. 51 แต่ไม่มีการเร่งรัดใดๆ และมีหนังสืออีกครั้งหนึ่งตามหนังสือลงวันที่ 7 ต.ค. 51 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทราบก่อนหน้านั้นแล้วว่าจะมีการชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภาและเป็นการขอรถดับเพลิงหลังจากผู้ชุมนุมได้เคลื่อนมวลชนมาที่บริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อเวลา 20.00 น. ของวันที่ 6 ต.ค. แล้ว ถึงแม้ สตช. และสำนักนายกฯ ทั้งสองจะอ้างว่ามีการกระทำความผิดต่อกฎหมายและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจำนวนมากและอ้างส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวจำนวนหลายคดี แต่ก็ปรากฏตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าวว่าเป็นการกระทำหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรกเวลา 06.00 น. ทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอดแต่ละรายเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าว และข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมได้รับอันตรายแก่ชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ในระยะเวลาแตกต่างกันหลายครั้งหลายสถานที่ตั้งแต่เริ่มมีการสลายการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. เศษ ไม่ใช่ได้รับบาดเจ็บในช่วงเวลาเดียวกัน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากวัตถุระเบิดที่ตนพกพามา
ดังนั้น เมื่อไม่มีปัญหาโต้แย้งและพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพยานบุคคลและพยานหลักฐานที่ปรากฏเป็นพยานหลักฐานเท็จหรือเกิดจากการปรุงแต่งหรือดำเนินการไปโดยกลั่นแกล้งผู้หนึ่งผู้ใด ศาลจึงสามารถรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ ส่วนการดำเนินการขององค์กรอื่นๆ และสำนวนการสอบสวนคดีอาญานั้น ศาลมีอำนาจพิจารณาเปรียบเทียบกับพยานหลักฐานอื่นๆ และสามารถใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานว่าพยานหลักฐานใดรับฟังได้พยานหลักฐานใดรับฟังไม่ได้เพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยคดี ซึ่งถึงแม้การให้ถ้อยคำของฝ่ายผู้ชุมนุมที่ได้รับความเสียหาย และพยานบางรายที่ยืนยันการกระทำที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งศาลต้องระมัดระวังในการรับฟัง แต่มีกลุ่มสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย หรือเป็นปฏิปักษ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ให้ถ้อยคำที่สอดคล้องกับผู้ชุมนุม ซึ่งพยานทั้งหมดได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการของกสม.ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นเวลาใกล้ชิดกับวันเกิดเหตุที่ยังจดจำเหตุการณ์ได้ จึงฟังได้ว่าเป็นการให้ถ้อยคำตามความเป็นจริงไม่มีการเสริมแต่งข้อเท็จจริงใดๆ
นอกจากนี้ ยังมีการให้ถ้อยคำของกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมายืนยันในความไม่เหมาะสมในวิธีการสลายการชุมนุมและการใช้แก๊สน้ำตาอีกด้วย พยานหลักฐานดังกล่าวจึงมีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของสตช.มีข้อบกพร่องในขั้นตอนการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้ในการสลายการชุมนุมและมีข้อบกพร่องในวิธีการยิงแก๊สน้ำตา โดยยิงในแนวตรงขนานกับพื้นซึ่งไม่เป็นไปตามวิธีการที่ถูกต้องที่ต้องยิงเป็นวิถีโค้ง ประกอบกับแก๊สน้ำตาที่นำมาใช้เป็นแก๊สน้ำตาที่ซื้อมาเป็นเวลานานจึงมีประสิทธิภาพต่ำ จึงต้องใช้แก๊สน้ำตาจำนวนมากเกินกว่าที่จะใช้โดยปกติทั่วไป ทำให้เกิดความปั่นป่วนชุลมุนเกิดความเสียหายต่อผู้ชุมนุมมากเกินกว่าผลตามปกติที่เกิดจากการใช้แก๊สน้ำตาที่มีประสิทธิภาพดีและยิงโดยวิธีการที่ถูกต้อง และยังส่งผลเสียหายไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่มาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติจะรู้ถึงข้อบกพร่องของขั้นตอนในการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้กับผู้ชุมนุมก่อนการใช้แก๊สน้ำตาและข้อบกพร่องในประสิทธิภาพของแก๊สน้ำตาที่ทำให้ต้องยิงแก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมากหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อบกพร่องดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของนายชิงชัยกับพวก แต่ละรายจึงเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ชีวิตร่างกายสิทธิและเสรีภาพจึงเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สตช.จึงต้องรับผิดต่อผู้ได้รับความเสียหาย
ส่วน สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้นายกฯ จะเป็นหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง และการกระทำละเมิดดังกล่าวจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการจัดประชุมแถลงนโยบายที่รัฐสภา แต่มติดังกล่าวก็เป็นไปตามปกติเพื่อให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลดำเนินการไปได้เท่านั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คือสตช. สมควรติดตามสถานการณ์และเตรียมการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา หากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกำหนดนัดหรือสถานที่ประชุมทางรัฐสภาคงต้องปรึกษาหารือกันแล้วแจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ และมีมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีติดตามตรวจสอบสถานการณ์และกำกับดูแลการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยประสานสั่งการ สตช. หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงไม่ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการในการสลายการชุมนุมแต่อย่างใด การกำหนดขั้นตอนวิธีการในการสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้มีการประชุมแถลงนโยบายึงอยู่ภายใต้ำนาของสตช. อีกทั้งเมื่อเริ่มประชุมแล้วเกิดความเสียหายย่อมเป็นอำนาจประธานรัฐสภาที่จะสั่งปิดกาปรระชุมเพื่อยุติเหตุการณ์ ดังนั้นนายกฯและสำนักนายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้กระทำละเมิด
อย่างไรก็ตาม กรณีสืบเนื่องจากการชุมนุมบางส่วนมีลักษณะทำให้ผู้อื่นเกรงลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายเสรีภาพและทรัพย์สินซึ่งเป็นหน้าที่ของ สตช. ที่ต้องระงับยับยั้งการกระทำดังกล่าว เมื่อพิจารณาพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งกากรระทำละเมิดแล้วเห็นว่าค่าเสียหายที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดตั้งแต่ 8 พันบาทเศษ ถึง 5 ล้านบาทเศษ สูงเกินส่วน สมควรลดค่าเสียหายลงร้อยละ 20 จึงมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้สตช.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายชิงชัยกับพวกแต่ละรายจำนวนตั้งแต่ 7,120 - 4,152,771.84 บาท พร้อมดอกเบี้ย และยกฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี
ด้าน นายตี๋ แซ่เตียว หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า วันนี้พอใจมากที่ศาลให้ความยุติธรรม เพราะที่ผ่านมาชีวิตการครองตัวลำบากมาก ไม่สามารถประกอบอาชีพอะไรได้ เนื่องจากยังมีการอาการเจ็บป่วยทางร่างกายซึ่งเป็นผลกระทบจากการสลายการชุมนุมฯทำให้ภรรยาต้องประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้ตนรู้สึกกลัวและไม่กล้าที่จะไปชุมนุมทางการเมืองอีก หากอนาคตการบริหารบ้านเมืองเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง ก็จะออกมาต่อสู้อีก
ส่วน นายชิงชัย กล่าวยอมรับคำพิพากษา แม้ว่าค่าสินไหมที่ได้รับเทียบไม่ได้กับสิ่งที่สูญเสียไป ทุกวันสภาพร่างกายยังไม่ปกติ ต้องไปพบแพทย์ตรวจติดตามเป็นระยะะ และไม่ได้รู้สึกกลัวกับการชุมนุม หากเห็นว่ามีการบริหารบ้านเมืองที่ไม่ถูกต้องก็จะไปร่วมเคลื่อนไหวอีก
ส่วน นายบุญธานี กิตติสินโยธิน ทนายความ กล่าวว่า หลังจากนี้ ทาง สตช. ก็ต้องชดใช้ให้กับผู้เสียหายตามคำพิพากษาภายใน 60 วัน ซึ่งที่ศาลยกฟ้องในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทางผู้เสียหายก็คงต้องยอมรับเพราะเป็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว