xs
xsm
sm
md
lg

คำพิพากษาคดี พธม.ตบหน้า ป.ป.ช. - สตช.ผิดต้องชดใช้ แต่ทำไม “ป๊อด” รอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

นับเป็นนิมิตหมายอันดี หลังจากที่ “ศาลปกครองสูงสุด” ได้พิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.280/2556 หมายเลข แดงที่ อ.1442/2560 ในคดีที่ นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวก ผู้ฟ้องคดีและนายกร เอี่ยมอิทธิพล กับพวกผู้ร้องสอด รวมทั้งสิ้น 254 คน ฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณีสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อปี 2551

อันหมายถึง การสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่ส่งผลให้ผู้ชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน

โดยคำพิพากษาระบุให้ สตช. รับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด รวมทั้งสิ้น 254 ราย จำนวนตั้งแต่ 7,120-4,152,771.84 บาท พร้อมดอกเบี้ย

แง่หนึ่ง แม้จะเทียบไม่ได้กับชีวิตและเลือดเนื้อที่สูญเสียในระหว่างการต่อสู้ของภาคประชาชนเมื่อ 9 ปีก่อน แต่อย่างน้อยก็ถือว่าได้ความยุติธรรมตามกระบวนการ

เหนือสิ่งอื่นใด ในคำพิพากษาของ “ศาลปกครองสูงสุด” ยังสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องในการทำหน้าที่ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะ “โจทก์” ที่เคยยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อเปิดทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าประชุมสภาได้ในเช้าวันที่ 7 ต.ค. 2551 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีก 471 คน

แม้ว่า ศาลฎีกาฯ จะพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 ราย ไปเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 ก็ตาม หากแต่ ป.ป.ช.ในฐานะโจทก์ ที่มีสิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์ กลับ “เลือก” ที่จะยื่นอุทธรณ์เฉพาะกรณีของ พล.ต.ท.สุชาติ เพียงรายเดียว ส่วนนายสมชาย พล.อ.ชวลิต และ พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์แต่อย่างใด

โดย ป.ป.ช.อ้างว่า พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 มีอำนาจหน้าที่สั่งการและบังคับบัญชาข้าราชการตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “ผู้บัญชาการเหตุการณ์”สมควรประเมินสถานการณ์และระงับยับยั้งเหตุการณ์ เพื่อบรรเทาหรือป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมเพิ่มเติมได้

แต่หากใคร่ครวญในคำพิพากษาของ “ศาลปกครองสูงสุด” อันสืบเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของ “ศาลปกครองกลาง” ที่ระบุว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ไม่ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากลในการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก โดยใช้โล่กำบังผลักดัน ฉีดน้ำจากรถดับเพลิง แล้วจึงค่อยใช้แก๊สน้ำตา รวมทั้งต้องประกาศ ให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบก่อน และการใช้ แก๊สน้ำตาได้ยิงและขว้างไปยังผู้ชุมนุม โดยตรง รวมถึงยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ทาง การแพทย์และรถพยาบาล และการสลายการชุมนุมได้ใช้แก๊สน้ำตาที่ขัดต่ออายุการใช้งาน

ในส่วนนี้นั้น “ฝ่ายปฏิบัติระดับล่าง” ย่อมมีความผิดเต็มประตู

หากแต่ในคำพิพากษาก็ยังระบุถึง “ฝ่ายนโยบาย” ทั้ง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต และ พล.ต.อ.พัชรวาท ประมาณว่า ไม่ได้ใส่ใจในความสูญเสียที่เกิดขึ้น ยังคงปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังและอาวุธสลายการชุมนุม โดยมิได้สนใจสั่งห้ามการกระทำละเมิดต่อกฎหมาย

ซึ่งตรงนี้ “ป.ป.ช.ชุดเก่า” ชี้มูลความผิดไว้อย่างชัดเจน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเห็นว่า เป็นการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

หากแต่ความเปลี่ยนแปลงใน “จุดยืน” ภายหลังจากที่ “ป.ป.ช.ชุดใหม่” ซึ่งมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานเข้ามาทำหน้าที่แทน

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยด้วยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง คือ หนึ่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) (ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท เป็น ผบ.ตร.ในขณะนั้น) และ สอง สำนักนายกรัฐมนตรี (มี นายสมชาย เป็นนายกฯ และ พล.อ.ชวลิต เป็นรองนายกฯในขณะนั้น) มีอำนาจหน้าที่ยับยั้งการชุมนุมแต่ก็ต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามขั้นตอนและวิธีการที่เหมาะสม

“..แต่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีข้อบกพร่องในขั้นตอนการเตรียม การหารถดับเพลิงมาใช้ในการสลายการชุมนุมและวิธีการยิงแก๊สน้ำตา ประกอบกับแก๊สน้ำตาที่นำมาใช้ได้ซื้อมาเป็นเวลา นานจึงมีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้ต้องใช้ แก๊สน้ำตาจำนวนมากเกินกว่าที่จะใช้โดยปกติ ทั่วไป ทำให้เกิดการปั่นป่วนชุลมุนและ ผู้ชุมนุมได้รับอันตรายเกิดความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้ชุมนุม จึงเป็นการกระทำละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว..”

คำพิพากษาท่อนนี้ สะท้อนว่า “ผู้มีอำนาจ” ไม่ระงับยับยั้งและปล่อยให้ “ระดับปฏิบัติ” กระทำการต่อผู้ชุมนุมโดยบกพร่อง ผลพวงที่ตามมาคือ ความสูญเสียที่เกิดขึ้น และ สตช.ต้องมาชดใช้ค่าเสียหายนั่นเอง

หากยึดตาม “บรรทัดฐาน” ของ “ศาลปกครอง” แล้ว ก็จะเห็นได้ ป.ป.ช.ในฐานะโจทก์ก็สามารถเดินหน้าอุทธรณ์ เพื่อเอาผิดจำเลยทั้ง 4 ราย หาใช่อุทธรณ์ พล.ต.ท.สุชาติ เพียงรายเดียวอย่างที่ปรากฎ

และนั่นเท่ากับเป็นการ “ตบหน้า” ป.ป.ช.ยุค พล.ต.อ.วัชรพล ใช่หรือไม่

โดยเฉพาะการเลือกที่จะอุทธรณ์คดีเฉพาะ “บิ๊กเบื๊อก-พล.ต.ท.สุชาติ” เพียงคนเดียว โดยไม่มีชื่อ “บิ๊กป๊อด-พล.ต.อ.พัชรวาท” รวมอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการบังคับบัญชาและปกครองตำรวจทั้งประเทศ เรวมถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่ง พล.ต.ท.สุชาตินั่งเป็นผู้บัญชาการ เสมือนหนึ่งมองไม่เห็นถึง “ตัวละครสำคัญ” อีกคนหนึ่งอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้

ถ้า สตช.ต้องชดใช้ ทำไมนายใหญ่อย่าง “บิ๊กป๊อด” ถึงหลุดรอดไปได้

แน่นอน คงไม่ต้องถามว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะคำตอบได้ปรากฏให้เห็นชัดเจนแล้วว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ ป.ป.ช.ของบิ๊กกุ้ยตัดสินใจชนิดค้านสายตาของคนทั้งประเทศ เนื่องจากเจ้าตัวยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่ามีความสนิทชิดเชื้อกับ “บิ๊กป๊อด” น้องชาย “สุดเลิฟ” ของ “ป๋าป้อม” สมัยรับราชการตำรวจอยู่ที่กรมปทุมวัน

จบข่าว....


กำลังโหลดความคิดเห็น