MGR Online - “เลขาธิการศาลยุติธรรม” เผยปี 61 มุ่งคุ้มครองสิทธิคนจน ทั้งคดีแพ่ง-อาญา ในส่วนคดีแพ่งเน้นช่วยคนจนงดเว้นค่าธรรมเนียมศาล ขณะที่การระงับข้อพิพาทสัญญาอนุญาโตได้รับความเชื่อถือ นับแต่ปี 33 คดีสำเร็จมูลค่ากว่า 8 แสนล้าน
วันนี้ (3 ม.ค.) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงแผนบริหารศาลยุติธรรมปี 2561 ว่าจะมุ่งดูแลกระบวนการศาล ทั้งในส่วนของผู้เสียหาย ผู้ต้องหาและจำเลย โดยเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงความยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์มาก คือ ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดี ทำอย่างไรให้มีช่องทางทำให้การตกลงเกิดขึ้นได้ เพราะว่า 1. ถ้าตกลงกันได้ในชั้นต้น ก็ลดปริมาณคดีเข้าสู่ศาลด้วย 2. ถ้าเขาพอใจทั้งสองฝ่าย คดีที่จะขึ้นไปสู่ศาลสูงก็ลดน้อยลง นี่ก็เป็นมาตรการส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาล และผลที่ประชาชนได้รับคือความพึงพอใจที่ตกลงกันเองซึ่งคือยุติธรรมทางเลือก เพราะถ้าให้ศาลตัดสินจะมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ
ขณะที่เรื่องข้อสัญญาและการค้านั้น เราก็มีการระงับข้อพิพาททางแพ่งโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ที่ได้รับการดูแลโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (TAI) ซึ่งมีผู้พิพากษาจบการศึกษาระดับปริญญาเอก จากประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้อำนวยการบริหาร ก็ได้รับความเชื่อถือจากคู่กรณี โดยปี 2560 มีคดีอยู่ระหว่างดำเนินการ 310 คดี มูลค่า 30,900 ล้านบาทซึ่งเสร็จไป 134 คดี ส่วนในปี 2559 คดีดำเนินเสร็จสิ้นไป 103 คดี ทุนทรัพย์ 40,129 ล้านบาท, ปี 2558 ทุนทรัพย์ 86,191 ล้านบาท แต่ถ้านับรวมตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบันคดีที่รับทั้งหมด 2,337 เรื่อง เสร็จแล้ว 2,045 เรื่อง ทุนทรัพย์ที่พิจารณาแล้วทั้งหมด 838,081,700,223 บาท ก็ถือว่าสำเร็จ
อีกส่วนคือคดีแพ่งทั่วไป ที่พยายามจะทำให้การงดเว้นค่าธรรมเนียมศาล กรณีที่ประชาชนยากจนไม่มีเงินจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมศาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ด้อยโอกาส ดังนั้นเราจะปรับปรุงกระบวนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น ทำให้ศาลสามารถพิจารณาคดีได้อย่างรวดเร็ว เพราะการจะพิจารณางดเว้นค่าธรรมเนียมศาลก็ขึ้นกับข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่อง โดยปัญหาบางส่วนประชาชนอาจจะขาดข้อแนะนำจากทนายความ ที่ปรึกษาทางกฎหมาย
“สิ่งที่ศาลกำลังทำ คดีที่มีทุนทรัพย์เล็กๆ น้อยๆ จะทำอย่างไรให้กระบวนพิจารณาเรียบง่ายและรวดเร็ว เป็นไปอย่างง่ายดาย อย่างคดีผู้บริโภคก็จะมีเจ้าพนักงานคดีคอยช่วยเหลือประชาชนในการยื่นฟ้องด้วย หรืออย่างคดีแรงงานก็เช่นกัน ผู้ใช้แรงงานที่มีข้อพิพาทกับนายจ้างเราก็มีนิติกรคอยช่วยเหลือ โดยนิติกรหรือเจ้าพนักงานคดีจะมีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายและไม่มีเงินจ้างทนายความด้วย”
นอกจากนี้ การเสริมศักยภาพกระบวนการทางศาล ก็จะเน้นสร้างความเชี่ยวชาญผู้พิพากษาตามนโยบายข้อ 2 ของ “นายชีพ จุลมนต์” ประธานศาลฎีกา ในการจะพัฒนาศักยภาพข้าราชการฝ่ายตุลาการด้วยการส่งเสริมให้มีการศึกษา-ฝึกอบรมทั้งใน-ต่างประเทศด้วย เช่นการค้าระหว่างประเทศ เรื่องล้มละลาย เรื่องภาษี ก็เป็นกฎหมายระหว่างประเทศด้วยเป็นมาตรฐานสากล เพราะประเทศไทยไม่ได้ตัดสินคดีข้อพิพาทเฉพาะคนไทยด้วยกัน แต่บางครั้งมีคดีพิพาทที่ชาวต่างชาติมาลงทุนในไทยด้วย มาตรฐานของผู้พิพากษาที่ตัดสินก็ต้องมีความรู้ ซึ่งการฝึกอบรมเริ่มตั้งแต่เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาจนถึงเป็นผู้พิพากษาอาวุโส รวมทั้งเวลามีกฎหมายใหม่ออกมา สำนักงานศาลฯก็จะจัดข้อมูล รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาเพื่อให้ผู้พิพากษาได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร