xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ศาลฎีกา พุ่งเป้าลดคดีคั่งค้าง โดยจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“ชีพ จุลมนต์” ประธานศาลฎีกา กำชับผู้บริหารศาลยุติธรรม มุ่งเป้าลดคดีคั่งค้างในศาลฎีกา โดยจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ส่วนศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณาสำนวนคดีอย่างรอบคอบ เพราะขณะนี้มีหลายคดีที่สิ้นสุดในศาลอุทธรณ์

วันนี้ (20 ต.ค.) นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ได้กล่าวมอบนโยบายการบริหารงานศาลยุติธรรมแก่ผู้บริหารศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม จำนวน 150 คน ณ สโมสรราชพฤกษ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ว่า ในการบริหารงานศาลยุติธรรม ขอให้ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน เนื่องจากตนเพียงคนเดียวไม่สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ซึ่งได้มอบนโยบายไปแล้ว 4 ประการ คือ 1. ดำเนินการให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง

2. พัฒนาศักยภาพข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม โดยส่งเสริมให้มีการศึกษาการฝึกอบรมทั้งในและต่างประเทศ และให้ยึดมั่นประมวลจริยธรรมในการดำรงตน เนื่องจากตนเห็นว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญจึงควรสนับสนุนให้บุคลาการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

3. เพิ่มการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดี และเพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วยิ่งขึ้น ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งปัจจุบันเห็นได้ว่ามีเทคโนโลยีและนวัฒกรรมสมัยใหม่มากมาย จึงขอให้คนรุ่นใหม่เช่นเลขานุการของศาลต่างๆ นำเสนอเทคโนโลยีและนวัฒกรรมใหม่ๆ มาเสนอต่อผู้บังคับบัญชา

4. ดำเนินการส่งเสริมเพื่อให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมได้รับเงินเดือน และค่าตอบแทนอื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงตนตามสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นปัจจุบัน โดยได้เตรียมความพร้อมเพื่อเสนอฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม

นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา กล่าวต่อว่า ผู้พิพากษาเป็นอาชีพเดียวที่มีความชัดเจนในอำนาจหน้าที่เพราะมีการระบุไว้ในกฎหมาย ผู้พิพากษาทุกคนจึงทราบอยู่แล้วว่าตนเองมีหน้าที่อย่างไร ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมประสบกับปัญหาคดีค้างนานเช่นเดียวกับศาลอื่นๆ ทั่วโลก แต่จะนำมาเป็นข้ออ้างในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ซึ่งปัญหาที่หนักที่สุด คือ คดีค้างพิจารณา ซึ่งแม้ว่าอดีตประธานศาลฎีกาทุกท่านได้พยายามแก้ไข ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม จึงได้ตั้งเป้าหมายว่า สำหรับศาลฎีกา คดีที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และให้นำเอาคดีเก่าที่ค้างพิจารณามาดำเนินการก่อน ไม่ว่าคดีจะยากหรือเป็นคดีซับซ้อนก็ตาม และจะต้องตรวจสอบข้อมูลว่าระยะเวลาการพิจารณาสำนวนของผู้พิพากษา ใช้เวลามากน้อยเพียงใด ภายหลังจากได้รับการจ่ายสำนวนไปแล้ว เนื่องจากศาลฎีกาต้องทำงานเป็นตัวอย่างแก่ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นต่อไป

สำหรับศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นศาลที่ได้รับความพึงพอใจจากผู้มาผู้ติดต่อราชการศาล ไม่ว่าเป็นทนายความหรือประชาชน ต่างให้การชื่นชมว่า การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ไม่มีคดีค้างพิจารณา จึงขอให้รักษามาตรฐานดังกล่าวไว้ คือ คดีที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยจะต้องมีความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบสำนวนคดี ควบคู่ไปกับความรวดเร็วในการอำนวยความยุติธรรมด้วย ซึ่งจะต้องมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้หลายคดีถึงที่สุดแค่ศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงควรเป็นแบบอย่างเช่นเดียวกับ คำพิพากษาศาลฎีกา และขอให้ช่วยกันคิดว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ถึงที่สุด จะเผยแพร่ในลักษณะของคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างไร

ส่วนศาลชั้นต้น บางศาลคดีค้างนานเกิน 5 ปี จึงขอให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคไปติดตามเร่งรัด โดยขอให้ตั้งเป้าหมาย หรืออาจมอบหมายให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคช่วยติดตามเร่งรัด เพื่อช่วยกันลดคดีค้างนาน ขณะที่ตนก็จะให้ฝ่ายเลขาธิการประธานศาลฎีกาดำเนินการติดตามและรายงานผลทุก 3 เดือน หากศาลใดปริมาณคดีไม่ลดลง ก็จะเดินทางไปช่วยแก้ไข ซึ่งไม่ขอระบุกำหนดเวลาการพิจารณา ว่า เมื่อคดีเข้าสู่ศาลแล้วควรพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด เนื่องจากอาจมีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้

ประธานศาลฎีกา ได้กล่าวในตอนท้ายของการประชุม ว่า ตนจะประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารศาลและสำนักงานศาลยุติธรรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

กำลังโหลดความคิดเห็น