MGR Online - ศาลเเจง ตามมาตรา 12 (2) ปี 60 ไม่ได้ห้ามองค์คณะฎีกานักการเมือง ทำงานอื่นนอกศาล ตามที่ “เรืองไกร” ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบ ระบุ ห้ามไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษาในศาลอื่นนอกศาลฎีกาเท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงห้ามทำงานอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของศาล
จากกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) เข้ายื่นหนังสือต่อกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบการกระทำของนายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี กรณีการแต่งตั้ง นายชีพ จุลมนต์ เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว ซึ่งปัจจุบันดำรงตำเเหน่งประธานศาลฎีกา เป็นกรรมการกฤษฎีกา และเเต่งตั้ง นายธานิศ เกศวพิทักษ์ หนึ่งในองค์คณะจำนำข้าว เป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งอาจขัดกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในบทบัญญัติมาตรา 11 วรรคสี่ ที่ห้ามไม่ให้มีคำสั่งให้ผู้พิพากษาในองค์คณะไปทำงานที่อื่นนอกศาลฎีกาบังคับไว้ และจะเข้าข่ายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 หรือไม่
วันนี้ (3 ต.ค.) นายศุภกิจ แย้มประชา ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา ได้ให้สัมภาษณ์ลงในเพจสื่อศาล ซึ่งเป็นเพจกองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ของสำนักงานศาลยุติธรรมในประเด็นเกี่ยวกับเกี่ยวกับความเป็นอิสระของตุลาการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ระบุว่า ระหว่างการพิจารณาคดีนั้น ห้ามมิให้มีคำสั่งให้ผู้พิพากษาผู้นั้นไปทำงานที่อื่นนอกจากศาลฎีกา ครอบคลุมถึงอะไรบ้าง
ว่าตามบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคสี่ตอนท้ายของกฎหมายปี 2560 ที่ระบุว่า “...และระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นห้ามมิให้มีคำสั่งให้ผู้พิพากษาผู้นั้นไปทำงานที่อื่นนอกศาลฎีกา” นั้น กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจภายในองค์กรตุลาการสั่งให้ผู้พิพากษาในองค์คณะไปทำงานที่อื่นนอกศาลฎีกา โดยมุ่งหมายถึงการสั่งให้ผู้พิพากษาในองค์คณะไปช่วยราชการชั่วคราวในศาลอื่นอันอาจเป็นเหตุให้ต้องเลือกผู้พิพากษาอื่นในศาลฎีกาขึ้นมาเเทนที่
แต่บทบัญญัตินี้ไม่รวมถึงการโยกย้ายผู้พิพากษาในองค์คณะตามวาระด้วย เพราะตามมาตรา 14 (2) ของกฎหมาย ฉบับปี 2542 ซึ่งตรงกับมาตรา 12 (2) ของกฎหมายปี 2560 กำหนดว่า หากผู้พิพากษาในองค์คณะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ไปดำรงตำเเหน่งที่ศาลอื่น ก็ย่อมพ้นจากหน้าที่ จึงหมายความว่า ทั้งกฎหมายเดิมเเละกฎหมายปัจจุบันมิได้ห้ามการโยกย้ายผู้พิพากษาในองค์คณะไปดำรงตำเเหน่งที่ศาลอื่น เพียงห้ามการโยกย้ายนอกวาระซึ่งจะไม่มีการเสนอโปรดเกล้าฯ เท่านั้น ต้องทำความเข้าใจว่า
คำว่า “...ห้ามมิให้มีคำสั่งให้ผู้พิพากษาผู้นั้นไปทำงานอื่นนอกศาลฎีกา” ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้นผู้ที่กฎหมายประสงค์จะห้าม คือ ผู้มีอำนาจในศาลยุติธรรมที่มีอำนาจในการสั่งให้ผู้พิพากษาไปทำงานนอกศาลฎีกาเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการห้ามหน่วยงานอื่น
นายศุภกิต กล่าวอีกว่า การห้ามไปทำงานนอกศาลฎีกานั้น มีความหมายเพียงว่า ห้ามสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษาในศาลอื่นนอกศาลฎีกาเท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงห้ามทำงานอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของศาล เพราะเป็นเรื่องปกติเเละควรยกย่องส่งเสริมที่ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งถือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของประเทศ จะเสียสละไปปฏิบัติหน้าที่ในกิจการอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้านอื่น ซึ่งไม่ได้กระทบกระเทือนต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษาเเต่อย่างใด เช่น การเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษา หรือเป็นอาจารย์บรรยายที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายเเห่งเนติบัณฑิตยสภา เป็นต้น