xs
xsm
sm
md
lg

ทนาย นปช.ยื่นสำนวนสลายม็อบปี 53 ให้อัยการส่ง ป.ป.ช.สอบ อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาพยานหลักฐานใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ทนายเสื้อแดงยื่นเอกสารสำนวนคดี “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สั่งสลายม็อบปี 53 ให้อัยการเพื่อส่งให้ ป.ป.ช.ไต่สวน อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นพยานหลักฐานใหม่ได้

วันนี้ (18 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายวิญญัติ ชาติมนตรี และนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของญาติกลุ่ม นปช.ที่ประสบเหตุเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช.ปี 2553 พร้อมญาติผู้ตายได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดให้แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนคดี 99 ศพ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้ต้องหากระทำความผิดต่อตำแหน่ง เพื่อนำมารวมกับสำนวนความผิดฐานเป็นผู้สั่งให้ฆ่าผู้อื่นที่อัยการสูงสุดเคยสั่งฟ้องไปแล้ว โดยนำสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 4288-4289/2560 ที่เคยวินิจฉัยให้ยกฟ้องและระบุในสาระสำคัญว่านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเป็นนักการเมืองอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัว จึงเป็นการดำเนินคดีในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ กระทำความผิดกฎหมายต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่น โดยให้ ป.ป.ช.เป็นผู้มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงสรุปสำนวนเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับพิจารณาพิพากษาคดีอาญา

โดย ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด มารับมอบหนังสือพร้อมกล่าวว่า หลังจากได้รับหนังสือแล้วจะนำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าวเสนอให้อัยการสูงสุดเพื่อทราบเรื่องทันที อย่างไรก็ตาม อัยการสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้สั่งการต่อไป แต่คาดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอัยการสูงสุดคงจะพิจารณาสั่งการตามข้อกฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรมโดยเร็ว

นายวิญญัติ กล่าวว่า หนังสือร้องขอความเป็นธรรม เราได้ยื่นถึงเหตุผล 5 ประเด็น ต่ออัยการสูงสุด เนื่องจากเราเห็นว่าภายหลังจากมีคำพิพากษาของศาลฎีกา ได้วินิจฉัยออกมาเป็นประเด็นทางกฎหมายที่ชัดเจน ประเด็นแรกคือ ให้ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการไต่สวนข้อกล่าวหา ซึ่งแม้ป.ป.ช.จะเคยไต่สวนในเรื่องนี้ ไปเมื่อปี 2558 และมีคำสั่งให้ยกคำร้อง แต่ว่าในปัจจุบันนี้ได้ปรากฏข้อเท็จจริงทางคดี คือการมีคำพิพากษาของศาลฎีกา ส่วนประเด็นที่สอง ที่มีความเห็นทางกฎหมายบางคน ที่ระบุถึงเรื่องพยานหลักฐานใหม่นั้น ทางทีมทนายความและญาติผู้ตาย เราเองได้วิเคราะห์คำพิพากษาและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานใหม่ประกอบด้วย 3 ชิ้น คือ 1.คำพิพากษาศาลฎีกา 2.สำนวนการสอบสวนและคำสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดในข้อหาเจตนาฆ่า ซึ่งเรื่องนี้อัยการสูงสุดเคยมีคำสั่งฟ้องไปแล้วและคำสั่งดังกล่าวก็ยังมีผลสมบูรณ์อยู่ในปัจจุบัน และหลักฐานที่ 3 คือ คำสั่งไต่สวนการตายซึ่งมีอยู่ 13-14 คำสั่ง

นาย วิญญัติ กล่าวต่อว่า เนื่องจากเห็นว่าอัยการสูงสุดและป.ป.ช.เป็นองค์กรที่มีความผูกพันธ์กับคำสั่งของศาลฎีกา ควรทำการไต่สวนเรื่องนี้ให้ปรากฏ เนื่องจากมีการตายร่วม100 ศพ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องนำเรื่อง เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้รับการพิจารณา การใช้เทคนิคทางกฎหมายหรือข้ออ้างบางประการที่จะตัดอำนาจของตนเองไป เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น ส่วนประการที่ 3 เรายืนยันเสมอว่าทางอัยการสูงสุดสามารถสางฟ้องในข้อหาฆ่าคนตายได้อยู่ แต่เมื่อศาลฎีกาชี้ว่าผู้มีหน้าที่ในคดีโดยตรงคือป.ป.ช.เราก็ขอให้อัยการสูงสุดส่งสำนวนที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปให้ป.ป.ช.ไต่สวนด้วย

ด้านแหล่งข่าวผู้พิพากษา ให้ความเห็นทางกฎหมายและอธิบายถึงการสิทธิตามกฎหมายในการดำเนินคดีต่อผู้ที่ทำให้มีการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่และสลายการชุมนุม นปช.เมื่อปี 2553 ว่า ในส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้การกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในความผิดอาญาที่สืบเนื่องจากการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ ต้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน แล้วส่งอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเองแล้ว แนวการปฏิบัติย่อมเป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งต้องรอดูว่า ป.ป.ช.จะดำเนินอย่างไร โดยกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้อัยการสูงสุด สั่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนใหม่ แต่กฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช.ไว้พิจารณาเองกรณีมีหลักฐานใหม่ในเรื่องที่ชี้มูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นไปแล้ว

เรื่องนี้มองว่าญาติผู้เสียชีวิต ถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง ชอบที่จะร้องต่อ ป.ป.ช.ได้ว่ากรณีมีข้อที่ควรหยิบมาวินิจฉัยไต่สวนใหม่จากข้อมูลการเสียชีวิตว่าน่าจะเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งการจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและศาลฎีกามีคำพิพากษาล่าสุดว่าเป็นอำนาจ ป.ป.ช.ไต่สวน มิใช่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ส่วน ป.ป.ช.ทำได้มากน้อยเพียงใดก็วินิจฉัยต่อไป ซึ่งการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองข้อหาผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ม.157 ร่วมกับความผิดอาญาต่อชีวิต ยังไม่เคยมีการฟ้องต่อศาลฎีกาฯมาก่อน แต่มิใช่ว่าการกล่าวหาทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจะพ่วงความผิดอาญาอื่นมิได้ เช่นหากพฤติการณ์บ่งชี้เป็นความผิดสืบเนื่องจากการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งแล้วทำให้เสียทรัพย์ หรือประมาทเป็นเหตุให้เสียชีวิต ก็ย่อมวินิจฉัยตามขั้นตอนที่กฎหมายให้อำนาจไว้

ส่วนคดีแพ่ง ที่ญาติจะใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีละเมิดเรียกค่าเสียหายเยียวยาการสูญเสีย จากหน่วยงานราชการที่ถือเป็นนิติบุคคลรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในองค์กรนั้น ญาติผู้เสียชีวิตสามารถยื่นฟ้องได้ แต่เนื่องจากในการรวบรวมหลักฐานทางคดีอาญายังไม่ชัดว่าเจ้าหน้าที่หน่วยใดกระทำ ลำพังคำสั่งการไต่สวนชันสูตรศพยังไม่เพียงพอที่เป็นหลักฐานทั้งหมดให้ศาลวินิจฉันแต่ยังต่อแสดงให้เห็นพฤติการณ์แห่งการกระทำละเมิดนั้นด้วยทำให้การฟ้องคดีส่วนนี้อาจยุ่งยากลำบากในการหาพยานหลักฐานหากคดีอาญายังไม่มีข้อมูลหลักฐานเพียงพอ โดยการฟ้องคดีแพ่งที่สืบเนื่องจากเหตุถูกละเมิดทางอาญา อายุความจะเกี่ยวเนื่องคดีอาญาด้วย ซึ่งคดีนี้เมื่อยังไม่มีการฟ้องคดีอาญา อายุความการฟ้องแพ่งนั้นก็ต้องดูตามที่ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 บัญญัติไว้คือสิทธิการฟ้องแพ่ง จะระงับสิ้นสุดลงไปตามอายุความคดีอาญา
กำลังโหลดความคิดเห็น