นปช. ชี้ คำพิพากษาศาลฎีกาฯยังไม่ได้ฟัน “อภิสิทธิ์ - สุเทพ” พ้นผิดสลายแดงเผาเมือง จ่อพาผู้เสียหายร้องอัยการสูงสุดสัปดาห์หน้า จี้ ชง ป.ป.ช. ไต่สวนความผิด อ้างคำพิพากษาเป็นหลักฐานใหม่ ขู่งัดกฎหมายฟันหากทำไม่สุจริต แย้มไม้ตายฟ้องเจ้าหน้าที่ทุกจุดทุกเหตุ
วันนี้ (14 ก.ย.) ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วย นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช., นพ.เหวง โตจิราการ, นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความ ร่วมแถลงกรณีติดตามคดีสลายชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 2553 นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 เป็นจำเลยฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า แกนนำได้หารือร่วมกับฝ่ายกฎหมายและผู้รู้หลายท่านเห็นตรงกันว่า คดีนี้ศาลฎีกาฯไม่ได้ตัดสินให้ นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ พ้นผิดจากการสลายการชุมนุม นปช. ปี 53 เป็นแต่เพียงการวินิจฉัย ว่า กรณีนี้อยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งสามารถรับฟ้องไว้พิจารณาได้ ทั้งความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และเป็นผู้ก่อการหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาฆ่าคน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 83 84 และ 288 ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาฯย่อมผูกพันคู่ความ คือ โจทก์ ได้แก่ พนักงานอัยการ และจำเลยทั้ง 2 รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ คือ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฎีกาฯต่อไป
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า แกนนำ นปช. จึงมีแนวทางดำเนินการทั้งทางกฎหมายและด้านอื่นๆ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังนี้ 1. ผู้เสียหายในคดีนี้จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อ อสส. ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ไต่สวนความผิดของจำเลยทั้ง 2 ว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกา หาก ป.ป.ช. อ้างว่า ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ก็ต้องรับฟังว่าขณะนี้ได้มีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญ ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาฯชี้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 7 เม.ย.- 19 พ.ค. 53 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน สาเหตุที่มีบุคคลถึงแก่ความตาย และมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสเกิดจากการปฏิบัติการทางทหารในการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมนุม กระชับพื้นที่ หรือขอคืนพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริง ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 และสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพซึ่งทั้ง 2 กรณียังไม่เคยมีในการไต่สวนครั้งก่อน ประกอบการหลักฐานอื่น ตามอำนาจหน้าที่ของ อสส. นอกจากนี้ เห็นว่า ป.ป.ช. ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยการไต่สวนจำเลยทั้ง 2 ตามมาตรา 157 ตามที่ศาลฎีกาฯตัดสินทันที แม้จะยังไม่มีผู้ร้องหรือยังไม่ได้รับเรื่องจาก อสส. ก็ตาม
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า หาก ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดตามมาตรา 157 อสส. ต้องนำคำสั่งฟ้องเดิม ซึ่งมีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 ไว้แล้วนั้น เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ในกรณีที่เห็นว่า อสส. และ ป.ป.ช. มิได้มีการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ก็จะดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับทั้ง 2 หน่วยงานในทุกบทบัญญัติของกฎหมาย และหากดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้วยังไม่ปรากฏความยุติธรรม ฝ่ายกฎหมายจะรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในทุกจุดทุกเหตุการณ์ ที่มีผู้สูญเสียตามคำวินิจฉัยแรกของ ป.ป.ช. ทุกกรณีตามพยานหลักฐานต่อไป
ด้าน นพ.เหวง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเรียกร้องให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนวนการไต่สวนคดีสลายการชุมนุม นปช. ของ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตประธาน ป.ป.ช. ต่อสาธารณะ