รMGR Online - รมว.ยุติธรรม เปิดการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 1 เชื่อมโยงกระบวนการยุติธรรมภูมิภาคเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
วันนี้ (9 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 1 เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในความร่วมมือทางกฎหมาย และสนับสนุนการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืน โดยมี ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ ) และ ผู้แทนหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วนทั้งในและนอกประเทศเข้าร่วม
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวหลังเปิดการประชุมว่า สืบเนื่องจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย ครั้งที่ 16 และ การประชุมรัฐมนตรีกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 9 เมื่อ ต.ค. 2558 ที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงได้มีการประชุมมาแล้วหลายครั้ง แต่การเชื่อมโยงและนำไปดำเนินการสานต่อระหว่างประเทศอาเซียนและสหประชาชาติยังขาดหาย ทาง TIJ จึงได้ยื่นข้อเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ทั้งนี้ TIJ ได้ริเริ่มจัดการประชุมเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรกในอาเซียนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดจนเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมืออย่างบูรณาการของหน่วยงานภายในและนอกประเทศ
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า TIJ ไม่ใช่ทำงานเรื่องวิจัยเชิงวิชาการเท่านั้นแต่เป็นสถาบันที่เชื่อมโยงกระบวนการยุติธรรมกับนานาประเทศ โดยเพิ่งแก้ พ.ร.บ.เมื่อไม่นานมานี้และได้ทำหน้าที่แล้ว เพื่อพัฒนางานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อาทิ เรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมเชื่อมโยงกับอาเซียนและสหประชาชาติ รวมทั้งรัฐบาลนี้ได้ผลักดันขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมหลายด้าน เช่น กฎหมายยาเสพติด กฎหมายราชทัณฑ์ ฯลฯ และค่อยพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ แม้รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่ได้วางรากฐานกระบวนการยุติธรรมในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงาน
ด้าน ดร.กิตติพงษ์เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้เชิญมาเฉพาะผู้รู้กฎหมายแต่เปิดให้ นักวิชาการ ผู้เกี่ยวข้อง และสหประชาชาติ เข้ามาพูดคุยแบบร่วมบูรณาการ ซึ่งบางประเทศอาจมีตัวบทกฎหมายไม่เหมือนกัน เช่น กฎหมายราชทัณฑ์ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงเสนอเวทีกลาง เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ารับฟังนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม รวมทั้งมีการเปิดเวทีอภิปราย 3 หัวข้อ ได้แก่ 1. มาตรการรองรับภัยคุกคามใหม่ด้านการลักลอบการค้าสัตว์ป่าและค้าไม้ผิดกฎหมายในภูมิภาคอาเซียน 2. ยุทธศาสตร์การป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนในเขตเมือง และ 3. มาตรการฟื้นฟูผู้กระทำผิดและปฏิรูประบบราชทัณฑ์ให้ตอบสนองต่อกลุ่มเปราะบาง
“นอกจากนี้ยังมีเวทีเยาวชนเข้าอบรม TIJ ภายใต้ห้วข้อการป้องกันอาชญากรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีผู้แทนเยาวชนทั้งในและนอกอาเซียนเข้าร่วมกว่า 40 คน เพื่อทำกิจกรรมและร่วมสังเกตการณ์การว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา พร้อมเตรียมนำเสนอผลงานในช่วงสุดท้ายของการประชุมดังกล่าวด้วย” ดร.กิตติพงศ์กล่าว