xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกามีมติไม่รับอุทธรณ์คดี อดีต ปธ.กรรมการสินเชื่อกรุงไทย-กฤษดามหานคร ปล่อยกู้กรุงไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีมติไม่รับคดีอุทธรณ์ อดีต ปธ. กรรมการสินเชื่อกรุงไทย - กฤษดามหานคร ปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย ชี้ ไม่มีพยานหลักฐานใหม่

วันนี้ (18 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่อง คำสั่งมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของ นายพงศธร ศิริโยธิน จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นอดีตประธานกรรมการสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย และ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 20 ในคดีหมายเลขดำ อม. 3/2555 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 (หลบหนีคดีศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวมา), ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และพนักงานธนาคารกรุงไทย กับนิติบุคคล และกรรมการ นิติบุคคล ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 2 - 27 ในความผิด ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ, ยักยอก, ความผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กรณีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2546 - 30 เมษายน 2547 ได้อนุมัติสินเชื่อให้นิติบุคคลซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ นำไปซื้อที่ดินโดยไม่มีการวิเคราะห์ถึงฐานะทางการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการให้สินเชื่อ, แหล่งเงินทุน ที่จะชำระหนี้ และไม่มีการควบคุมติดตามดูแลสินเชื่อ หลังการอนุมัติโดยใกล้ชิด รวมทั้งไม่เรียกหลักประกันให้คุ้มหนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของธนาคารกรุงไทยผู้เสียหายโดยพวกจำเลยนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตเป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหายเป็นเงิน 10,054,467,480 บาท

โดยคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิจารณาแล้วมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2558 ว่าจำเลยที่ 2 - 5, ที่ 7 - 27 มีความผิดตามกฎหมาย ให้จำคุกจำเลยที่ 2 - 4 และ ที่ 12 ซึ่งเป็นอดีตคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย คนละ 18 ปี ในความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502

และให้จำคุกจำเลยที่ 5, ที่ 8 - 11 และที่ 13 - 17 ซึ่งเป็นคณะกรรมการสินเชื่อ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย คนละ 12 ปี ส่วน จำเลยที่ 18 - 22 ซึ่งเป็นนิติบุคคลให้ปรับรายละ 26,000 บาท และจำเลยที่ 23 - 27 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทนิติบุคคลดังกล่าวจำคุกคนละ 12 ปี

และให้จำเลยที่ 20, 25 - 26 ร่วมกันคืนเงินให้ธนาคารกรุงไทยจำนวน 10,004,467,480 บาท โดยให้จำเลยที่ 3, 22, 27 ร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 9,554,467,480 บาท รวมทั้งจำเลยที่ 12 - 17, ที่ 21, 23, 24 ร่วมรับผิดจำนวน 8,816,732,100 บาท

โดยศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้อง นายนรินทร์ ดรุนัยธร และ นางนงนุช เทียนไพฑูรย์ คณะกรรมการสินเชื่อธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 6 - 7

ซึ่งต่อมา นายพงศธร และ บริษัท กฤษดามหานคร จำเลยที่ 5 และ 20 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่า มีพยานหลักฐานใหม่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ เช่น ธนาคาร, กรมที่ดิน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จะแสดงให้เห็นได้ว่า ช่วงระยะเวลาก่อนและหลัง การอนุมัติสินเชื่อให้กับ บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด จำเลยที่ 19 นั้น กระแสเงินหมุนเวียนในบัญชี ตลอดจนทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 5 และบุคคลในครอบครัวรวมทั้งบุคคลใกล้ชิดไม่ได้เพิ่มขึ้นกว่าปกติ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 5 ไม่ได้ร่วมทำผิดคดีนี้ เนื่องจากไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ นอกจากนี้ จำเลยที่ 5 ยังได้ยื่นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงอีกหลายประการในเรื่องการพิจารณาสินเชื่อวงเงินกู้เต็มความสามารถในการชำระหนี้ ของจำเลยที่ 19 รวมทั้งการลงนามในบันทึกขออนุมัติ สินเชื่อ

ขณะที่ บริษัท กฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 ได้ยื่นอุทธรณ์ว่า มีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญ และยังไม่เคยปรากฏอยู่ในสำนวนคดีมาก่อน ประกอบด้วย งบการเงิน และรายการแสดงความเคลื่อนไหวทางบัญชี ของจำเลยที่ 20 ที่จะแสดงให้เห็นว่าไม่มีการโอนเงินตามแคชเชียร์เช็ค 11 ฉบับ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่บริษัทจำเลย ที่ 19 ได้รับจากธนาคารกรุงไทย และรายงานประจำปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 - 2556 ที่จะแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 20 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และ หลักฐานเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นและชื่อบริษัท

โดยองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ ได้พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้วเห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลฎีกา ซึ่งไม่ใช่กรณีมีพยานหลักฐานใหม่ ที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยข้อ 4 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนเเปลงไปในสาระสำคัญ พ.ศ.2551

องค์คณะพิจารณาอุทธรณ์จึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และ 20 ไม่ชอบด้วยระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะรับไว้พิจารณา โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้พิจารณาความเห็นขององค์คณะพิจารณาอุทธรณ์แล้ว มีมติเห็นชอบตามสำนวนความเห็นขององค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์นี้ไว้พิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อที่ประชุมใหญ่มีคำสั่งมีรับอุทธรณ์จำเลยของคดีทุจริตการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยไว้พิจารณาแล้ว คดีจึงถึงที่สุดที่จำเลยจะต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งปัจจุบันจำเลยที่มีความผิดถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และทัณฑสถานหญิงกลาง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น