xs
xsm
sm
md
lg

ส่งตัว"สนธิ"เข้าเรือนจำ ลุ้นศาลฎีกาให้ประกันตัว สู้คดีผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก “สนธิ ลิ้มทองกุล” 20 ปี ผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ทนายยื่นหลักทรัพย์เดิมกรมธรรม์ประกันอิสรภาพมูลค่า 10 ล้านบาท ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างยื่นฎีกาสู้คดี แต่ศาลชั้นต้นเห็นควรให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะสามารถรู้ผลในสัปดาห์หน้า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงได้นำตัวจำเลยทั้งสามไปควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที

เมื่อเวลา 09.30 น.วานนี้ (7 ส.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 914 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.1036/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.แมเนเจอร์ฯ และน.ส.ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 307, 311, 312 (1) (2) (3), 313

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2539 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2540 จำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมทำสำเนารายงานการประชุมของกรรมการบริษัทที่เป็นเท็จ ว่ามีมติให้บริษัทเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยจำเลยที่ 1 และ 3 ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัทฯ และเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 จำเลยทั้งทั้งหมดร่วมกันยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงตัดทอนทำบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง และจำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นรายการที่ทำให้รายได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เปลี่ยนแปลงผิดปกติ ซึ่งต้องแสดงรายการไว้ในงบการเงินประจำปี 2539-2541 และจะต้องนำส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นของ บมจ.แมเนเจอร์ ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ รวมทั้งเป็นการลวงให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้รับรู้ถึงการค้ำประกันหนี้ดังกล่าว เหตุเกิดที่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา และแขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กทม. เกี่ยวพันกัน ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำสำเนารายงานการประชุมกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ โดยลงชื่อรับรองสำเนาเพื่อแสดงว่า มีกรรมการของบริษัทร่วมประชุมมีมติให้บริษัทค้ำประกันเงินกู้ บมจ.เดอะเอ็ม กรุ๊ปฯ ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย โดยสำเนารายการดังกล่าวเป็นเท็จ ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีได้รายงานกับ ก.ล.ต.ว่าในช่วงปีที่ผ่านกรรมการของ บมจ.แมเนเจอร์ ไม่ได้มีการประชุมเรื่องดังกล่าว

ต่อมาจำเลยที่ 4 ได้นำสำเนาเท็จดังกล่าวไปแสดงต่อธนาคารกรุงไทย โดยหลงเชื่อและยินยอมให้ บมจ.แมเนเจอร์ค้ำประกันหนี้ กระทั่งธนาคารกรุงไทย มอบเงินกู้และเงินเบิกเกินบัญชีให้แก่ บมจ.เดอะเอ็มกรุ๊ปฯ รวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 1,078 ล้านบาท อันเป็นการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตที่ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุม

นอกจากนี้จำเลยที่ 1, 3 และ 4 ยังลงข้อความในเอกสารของบริษัททำบัญชี โดยไม่ครบถ้วน ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ด้วยการไม่นำภาระการค้ำประกันหนี้ลงในรายการภาระหรือรายได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เพื่อจัดส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต. เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ที่ควรได้ ที่เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อประโยชน์ของ บมจ.เดอะเอ็มกรุ๊ปฯ ทำให้เกิดความเสียหาย

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และ 3 มีความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตเป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย โดยร่วมกันกระทำการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้, ร่วมกันไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท และร่วมกันทำบัญชีไม่ครบถ้วนไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อลวงให้บริษัท และผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และ ประมวลกฎหมายอาญา 83, 91 รวมจำคุก 17 กระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นเวลา 85 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 4 กระทำความผิดรวม 13 กระทง ลงโทษกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 65 ปี จำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพเป็นโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นเวลา 42 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 4 จำคุก 32 ปี 6 เดือน แต่โทษสูงสุดในความผิดฐานดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี จึงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 20 ปี

ต่อมาจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ยื่นอุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนากระทำผิด ไม่ได้รับผลประโยชน์ในทรัพย์สินแต่อย่างใด ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ขณะที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์

ซึ่งศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า แม้การนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวในการคำประกันของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ แต่อย่างใด แต่การกระทำของจำเลยถือว่าครบองค์ประกอบ ทำให้บริษัท เอ็มกรุ๊ปฯ ได้รับผลประโยชน์ จึงเป็นความผิดโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 307, 311 ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามีเจตนาเดียว คือ ค้ำประกันเงินต่อเนื่องเพียงโครงการเดียว จึงเป็นความผิดเพียงกระทงเดียวนั้นเห็นว่า จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้มีการประกันเงินกู้ในโครงการเดียวอย่างไร

ดังนั้น การที่จำเลยคำประกันเงินกู้แต่ละครั้งย่อมเป็นการกระทำผิดแยกกรรมต่างกัน ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าที่จำเลยไม่นำภาระการค้ำประกันหนี้ลงในรายการภาระหรือรายได้เพื่อจัดส่งให้ตลาดหลักทรัพย์นั้น เนื่องจากภาระการค่ำประกันหนี้ไม่ถือเป็นภาระผูกพันธ์จึงไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า บมจ.แมเนเจอร์ฯ เป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และดำเนินงานอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำงบการเงิน โดยจะต้องรายงานผลการจดทะเบียนและจัดทำงบไตรมาสทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี โดยระบุในรายการหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งโจทก์มีเจ้าหน้าที่ผู้บริหารอาวุโสตลาดหลักทรัพย์เบิกความยืนยันว่า งบการเงินเป็นข้อมูลที่สำคัญ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจร่วมลงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และรู้ถึงสถานะทางการเงินของบมจ.แมเนเจอร์ฯ ซึ่งทาง บมจ.แมเนเจอร์ฯ ต้องเปิดเผยฐานะทางการเงินที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

จำเลยที่ 1, 3 และ 4 ไม่มีพยานหลักฐานหักล้างพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำงบไตรมาสและงบประมาณรายปี แต่จำเลยไม่ลงภาระการค้ำประกันหนี้จัดทำรายการงบไม่ถูกต้อง ไม่ตรงความจริง โดยไม่คำนึงว่าจะมีใครเสียหายหรือไม่ อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น

และที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เนื่องจากจำเลยไม่ได้มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและ บมจ.แมเนเจอร์ฯ ไม่ได้ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายร้ายแรง เห็นว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเจตนาคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เป็นสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดความเข้มแข็ง การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมและเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นลงโทษมานั้น เป็นโทษสถานต่ำสุดแล้ว ไม่อาจลดโทษให้เบาลงได้อีก และพฤติการณ์ของจำเลยร้ายแรง ไม่อาจรอการลงโทษได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ภายหลังนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความได้เตรียมหลักทรัพย์เดิมเป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพมูลค่า 10 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราว ระหว่างยื่นฎีกาสู้คดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้ศาลฎีกาพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่ จากนี้เจ้าหน้าที่จะส่งเรื่องทั้งหมดให้ศาลฎีกาพิจารณาในวันที่ 8 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ โดยศาลฎีกาจะใช้เวลาพิจารณาราว 3 - 5 วัน ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุดยาวติดต่อกัน 4 วัน คาดว่าศาลฎีกา น่าจะมีคำสั่งได้ราววันที่ 14 - 15 ส.ค.นี้

ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้นำรถตู้โต้โยต้าสีขาว ทะเบียนฮม 2713 กรุงเทพฯ รับตัวนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเปลี่ยนเป็นชุดสีฟ้าของเรือนจำ แยกขึ้นรถเพียงคนเดียว ไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างนี้นายสนธิ ซึ่งมีสีหน้ายิ้มแย้มได้โบกมือให้ผู้ที่มาให้กำลังใจ พร้อมบอกว่า “สบายดี ต้องให้ศาลฎีกาเป็นคนสั่ง” ส่วนอีก 2 คน ซึ่งเป็นผู้หหญิง ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางบางเขน เพื่อรอคำสั่งประกันจากศาลฎีกาต่อไป

นายสรสิทธิ์ จงเจริญ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ กล่าวถึงการรับตัวนายสนธิ ลิ้มทองกุล เข้าควบคุมในเรือนจำหลังศาลอุทธณ์มีคำพิพากษาจำคุกในความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯว่า นายสนธิจะถูกส่งตัวเข้าแดนแรกรับซึ่งเป็นขั้นตอนปกติของผู้ต้องขังทั่วไปจากนั้นจะต้องทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือ และตรวจสุขภาพ พร้อมแจกคู่มือการอยู่ในเรือนจำ และอุปกรณ์ยังชีพ อย่างไรก็ตาม เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯจะควบคุมตัวนายสนธิเพียง 1 คืน ก่อนส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรม เนื่องจากโทษจำคุกของนายสนธิเกิน 15 ปี อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ระหว่างถูกคุมตัวในแดนแรกรับซึ่งมีผู้ต้องขังเสื้อแดงถูกคุมขังอยู่ด้วยคาดว่าจะไม่มีปัญหา หรือข้อกังวลในการอยู่ร่วมกันเพราะในห้องควบคุมมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดสำรวจเคลื่อนไหวผู้ต้องขังได้ทั่วถึง อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ผู้คุมคอยดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างอยู่ร่วมกันได้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น