“ก.ล.ต.” จับมือ “สิงคโปร์-มาเลย์” ยกระดับคุณภาพการตรวจสอบบัญชี “บจ.” เพื่อส่งสัญญาณที่ถูกต้องให้นักลงทุน ชี้ต่อไปผู้สอบบัญชีต้องให้ความเห็นว่ากิจการเสี่ยงจะล้มหรือไม่
นายธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับบัญชีตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับ ก.ล.ต.ประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ในการพัฒนาระบบการตรวจสอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยมีการประชุมร่วมกับสำนักงานผู้สอบบัญชีเพื่อวางกรอบการทำงานร่วมกัน นอกจากการร่วมมือในครั้งนี้ ยังเป็นการเพิ่มบทบาทของประเทศในกลุ่มอาเซียนในเวทีทางด้านระบบการตรวจสอบบัญชีของโลกอีกด้วย
ปัจจุบัน กิจการของ บจ. ล้วนมีขนาดใหญ่ขึ้น การทำธุรกิจก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น ผู้ตรวจสอบบัญชีจะต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านทรัพยากรบุคคล และความรู้ทางด้านธุรกิจนั้นๆ มากขึ้น เพื่อให้งานตรวจสอบงบการเงินของทาง บจ.มีคุณภาพ หรือให้งบสะท้อนฐานะของบริษัทให้มากที่สุด เพื่อให้นักลงทุนสามารถใช้งบการเงินเป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนได้
“ผู้สอบบัญชีมีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งสัญญาณให้ผู้ลงทุนได้รับรู้ถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในบริษัทผ่านงบการเงิน เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน ประกอบกับบริษัทจดทะเบียน และบริษัทหลักทรัพย์มีขนาดใหญ่ เชื่อมโยงต่างประเทศ และมีธุรกิจซับซ้อนยิ่งขึ้น ทำให้งานสอบบัญชีจะต้องอาศัยทีมงานที่มีความรู้ความสามารถ ภายใต้ระบบการควบคุมคุณภาพที่ได้มาตรฐาน โดยหลังจากนี้ในการตรวจสอบงบการเงิน ผู้สอบบัญชีจะต้องระบุด้วยว่ากิจการนั้นๆ มีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในอนาคตหรือไม่ ซึ่งเป็นการบอกให้นักลงทุนรับทราบว่ากิจการนั้นๆ จะเจ๊งหรือไม่”
ปัจจุบัน ก.ล.ต.มีการตรวจสอบคุณภาพการตรวจสอบบัญชี ของสำนักงานผู้สอบบัญชีอย่างต่อเนื่อง โดยหากสำนักงานใดมีความเสี่ยงก็จะเข้าไปตรวจบ่อยกว่าสำนักงานอื่นๆ ส่วนที่มีคุณภาพอยู่แล้ว อย่างน้อยภายใน 3 ปี ก็ต้องเข้าไปตรวจหนึ่งครั้ง ส่วนสำนักงานผู้สอบบัญชีรายใหญ่ หรือบิ๊ก 4 นั้น ทาง ก.ล.ต.จะเข้าไปตรวจปีละครั้ง เนื่องจากบิ๊ก 4 นี้ มีงานตรวจสอบบัญชีจำนวนมาก คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เกตแชร์) กว่า 75% ของ บจ.ทั้งหมด
ทั้งนี้ จากการตรวจคุณภาพงานสอบบัญชีประจำปี 2556 ซึ่งได้ตรวจสอบสำนักงานสอบบัญชีแล้ว 8 แห่ง จากทั้งหมด 26 แห่ง พบว่า ทุกแห่งผ่านการตรวจสอบคุณภาพ และอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดด้านการตอบรับงาน และการคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์กับลูกค้า เนื่องจากสำนักงานสอบบัญชีส่วนใหญ่มีกระบวนการรับงานที่คำนึงถึงปัจจัยด้านความเสี่ยงของลูกค้า และความรู้ความสามารถเฉพาะทางของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสอบบัญชีแล้ว
สำนักงานผู้สอบบัญชี ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำสุดด้านการปฏิบัติงาน เนื่องจากผู้สอบบัญชี และผู้สอบทานการควบคุมคุณภาพงานมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานสอบบัญชีไม่เพียงพอ และไม่ได้ปรับปรุงคู่มือการสอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่ออกใหม่ในหลายประเด็น เช่น การตรวจสอบรายการที่มีความเสี่ยงจากการทุจริต และการตรวจสอบกลุ่มกิจการ ซึ่งอาจแก้ไขด้วยการให้ผู้สอบบัญชี และผู้สอบทานการควบคุมคุณภาพงานมีส่วนร่วมในงานสอบบัญชีมากยิ่งขึ้น ปรับปรุงคู่มือการสอบบัญชี และแนวการสอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐาน และฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบดังกล่าวอย่างเพียงพอ
โดยในการตรวจสอบสำนักงานใดที่ได้คะแนนต่ำ หรือมีส่วนที่ต้องปรับปรุง ก.ล.ต.ก็จะให้สำนักงานนั้นๆ กลับไปทำแผนในการดำเนินการแก้ไข หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น ก่อนที่จะนำรายงานนั้นมาให้ ก.ล.ต.พิจารณาดูว่าสิ่งที่จะดำเนินการนั้นเพียงพอที่จะทำให้งานด้านการตรวจสอบมีคุณภาพมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งหาก ก.ล.ต.เห็นว่ามีส่วนใดควรจะทำเพิ่ม ก็จะให้สำนักงานเพิ่มเติมไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต่างๆ จะพยายามไม่ให้เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่สำนักงานผู้สอบบัญชี