xs
xsm
sm
md
lg

แนวคิดการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investment : SRI)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดยทีมจัดการการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด

โดยปกติแล้วการที่นักลงทุนจะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์แต่ละตัว มักจะให้ความสำคัญต่อลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนฯ รวมไปถึงแนวโน้มของผลประกอบการในอนาคต ซึ่งวิเคราะห์โดยใช้ตัวเลขทางการเงินจากงบการเงินเป็นหลัก หากวิเคราะห์แล้วน่าสนใจจึงตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์นั้นๆ

อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องการลงทุนในหลักทรัพย์ยุคปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีผลประกอบการดีแต่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เฉพาะผู้ถือหุ้น แต่ยังรวมไปถึง คู่ค้า ผู้บริโภค พนักงานลูกจ้าง รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานของบริษัท ย่อมจะส่งผลให้ผลประกอบการที่ดีนั้นไม่มีความยั่งยืน เพราะย่อมไม่มีใครอยากทำธุรกิจกับบริษัทที่เอาเปรียบผู้บริโภค กดขี่แรงงาน ทำลายสภาพแวดล้อม ตลอดจนมีการทุจริตคอร์รัปชัน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่บริษัทอาจจะโดนพิพากษา มีคดีความที่จะต้องทำให้เสียค่าปรับเป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้แนวคิดการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investment : SRI) จึงเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงไม่เพียงแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังครอบคลุมถึงความรับผิดชอบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social and Corporate Governance : ESG) แนวคิดดังกล่าวนี้เองได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ลงทุนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากนโยบายการลงทุนของนักลงทุนสถาบันที่นำ ESG Factors มาประกอบการตัดสินใจการลงทุน, การจัดทำดัชนี ESG โดยหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการลงทุน เช่น MSCI ESG index, FTSE4Good index series เป็นต้น

กลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันแนวคิดนี้คือ มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านสังคม, สิ่งแวดล้อม และหลักธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนฯ อันหมายรวมผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่อยู่นอกงบการเงินของบริษัท ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนทุกแห่งรายงานเรื่อง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” เป็นส่วนหนึ่งของการรายงานประจำปี (56-1) ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 โดยกำหนดเป็นกรอบกว้างๆ ในเชิงภาคบังคับ มิใช่แบบสมัครใจเหมือนในอดีต เพื่อให้นักลงทุนได้เข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น

จะขอยกตัวอย่างกระบวนการลงทุนแนว SRI ที่ปัจจุบัน บลจ.ทิสโก้ นำมาประกอบการตัดสินใจการลงทุน โดยมีขั้นตอนคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

1. ระบุความเสี่ยงและโอกาสจากปัจจัย ESG โดยจำแนกตามอุตสาหกรรมของหลักทรัพย์นั้นๆได้แก่

• Environment (สิ่งแวดล้อม) - การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ, การจัดการของเสีย

• Social (สังคม) - การบริหารทรัพยากรบุคคล, ความปลอดภัยของสินค้า

• Governance (ธรรมาภิบาล) - ธรรมาภิบาลและจริยธรรมทางธุรกิจ

2. ประเมินปัจจัย ESG ดังกล่าว รวมไปถึงประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อบริษัท

3. กำหนดกลุ่ม ESG Watch list สำหรับบริษัทที่มีความเสี่ยงต่อปัจจัยภายนอกในการดำเนินธุรกิจหรือเป็นบริษัทที่มี CG Scoring (จัดทำโดยสมาคมสถาบันกรรมการไทย) ต่ำกว่า 3 ดาว-ในกรณีนี้ทีมการลงทุนจะต้องรีบดำเนินการหาข้อมูล, เข้าพบผู้บริหารเพื่อสอบถาม และทำการวิเคราะห์ก่อนพิจารณาลงทุน

4. จัดทำรายงานผลการนำปัจจัย ESG มาใช้ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน เช่น หากบริษัทที่พิจารณามิได้มีปัจจัยใดๆ ที่กระทบต่อบริษัทอย่างมีนัย ทีมจัดการลงทุนก็จะขอให้บริษัทดังกล่าวอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้ (Investment Universe) ต่อไป

ความท้าทายของแนวคิดดังกล่าวที่เลือกลงทุนแต่ “หัวกะทิ” ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม คือความเสี่ยงที่ผลตอบแทนอาจจะต่ำกว่าพอร์ตการลงทุนที่หลากหลายมากกว่า เนื่องจากข้อจำกัดการลงทุนที่เปิดกว้างอาจยังคงต้องรอการพิสูจน์ต่อไป ซึ่งเชื่อได้ว่าหากประเด็น ESG สามารถสะท้อนไปยังผลประกอบการที่ดีในระยะยาวแล้ว ราคาของหุ้นบริษัทก็น่าที่จะสะท้อนในทิศทางที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น