ประธานกรรมการ ตลท.เผยแผนแม่บทวางกรอบบรรษัทภิบาลบริษัทจดทะเบียน ให้มีความโปร่งใสเป็นธรรม ตรวจสอบได้มากขึ้น เพื่อความยั่งยืน พร้อมตั้งไทยเป็นศูนย์ GMS ดึง บจ.ลุ่มน้ำโขงจดทะเบียนในไทยเพิ่มมากขึ้น ด้าน “ภัทธีรา” เผยุรกิจโบรกฯ สุดช้ำจากการเมือง กำไรหด รัดเข็มขัดตัดราคาคอมมิชชันเพื่อความอยู่รอด คาดการเมืองจบไม่เกิน Q2
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวในงาน CG Forum 1/2014 “Effectiveness in boardroom : Route to success & best practices ว่า การรณรงค์สร้างบรรษัทภิบาลทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาดหลักทรัพย์ จะช่วงเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนถึงความน่าเชื่อถือ โดยจะทำให้บริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นมีความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น และนักลงทุนจะให้คะแนนความเป็นบรรษัทภิบาลได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มคุณค่าของบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ มีความยั่งยืน ในการบริหารการจัดการ และการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ผู้บริโภคสินค้าไม่ได้คำนึงถึงเพียงสินค้าที่มีบริษัทฯ ผลิตมาดีมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น แต่จะพิจารณาถึงความเป็นบรรษัทภิบาลเพื่อให้การสนับสนุนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์โดยรวมเริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติมากขึ้น จากแรงซื้อต่างชาติที่เข้ามาแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศผลประกอบการมีกำไรสุทธิดีขึ้นถึง 7.2% ประกอบกับการที่สมาคมนักวิเคราะห์มองว่าปีนี้ตลาดหุ้นไทย มีผลตอบแทนสูงมากกว่าปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มส่งออกที่ไม่อิงกับโครงการภาครัฐที่ผ่านมาเริ่มปรับฟื้นตัวขึ้นแล้วกว่า 30% โดยเฉพาะในส่วนของการค้าไทยและอาเซียน ได้แก่ ประเทศลาว เขมร เวียดนาม และกัมพูชา ที่ขยายการค้า และการลงทุนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ตลท.พยายามที่จะผลักดันการค้าความร่วมมือกลุ่มลุ่มน้ำโขง หรือ GMS ของ 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (ยูนนาน) โดยในปีนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม GMS Forum ด้วย พร้อมทั้งส่งเสริมให้บริษัทที่มีความพร้อมเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เช่นบริษัท CKP ที่ลงทุนในประเทศลาว และจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย
“ในส่วนของประเด็นการลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ไม่สามารถมีมติอนุมัติงบประมาณได้ ก็จะไม่สามารถผลัดดันการเติบโตของเศรษฐกิจให้ก้าวต่อไปข้างหน้า ซึ่งถ้าหากมีมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยาวนาน ก็อาจจะกระทบต่อกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่จะต้องเซ็นสัญญากับโครงการต่างๆ ของรัฐบาล”
ขณะเดียวกัน โครงการพัฒนาศักยภาพของ SME เพื่อเพิ่มช่องทางในการระดมทุน และยกระดับขึ้นสู่ความเป็นสากล หรือ mini mai นั้นขณะนี้อยุ่ในช่วงของการวางระบบจัดสรรคุณภาพให้กลุ่ม SME มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยพยายามเน้นให้มีกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มเติมเข้ามา โดยคาดว่าจะสามารถสรุปความชัดเจนได้ภายในไม่เกินไตรมาส 3 ของปีนี้
ในขณะที่ นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า แนวโน้มภาวะตลาดหุ้นขณะนี้กระแสเงินทุนเริ่มนิ่ง หลังจากที่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้ประกาศแนวทางของมาตรการ QE ที่จะลดวงเงินลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว แต่ทั้งนี้สิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศยังเป็นกังวลอยู่คือ สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศไทยขณะนี้ ที่ยังคงไม่มีความชัดเจน ซึ่งถ้าหากความขัดแย้งทางการเมืองแม้ว่าจะไม่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แต่หากยังคงยืดเยื้อต่อไป โอกาสที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจะไหลกลับเข้ามาในประเทศไทย มีโอกาสเป็นไปได้ยากขึ้น และแนวโน้มจะใหลไปลงทุนยังกลุ่มประเทสเกิดใหม่ที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่า
“จากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งพยายามลดต้นทุนด้านการใช้จ่ายลง เพื่อที่จะพยายามรักษาฐานรายได้ ซึ่งมีทั้งบริษัทที่ประสบปัญหาขาดทุน และมีกำไร แม้ว่าจะมีบางส่วนที่พยายามดึงส่วนแบ่งการตลาด และตัดราคาค่าคอมมิชชัน แต่ก็เป็นไปตามกลไกการตลาด ซึ่งบริษัทจะต้องพิจารณาว่าถ้าหากบริษัทขาดทุน ผู้ถือหุ้นขาดทุน บริษัทก็อยู่ไม่ได้ ทั้งนี้ คาดว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะคลี่คลายภายในไม่เกิน 6 เดือน”
ขณะที่ดัชนี SET INDEX อยู่ที่ประมาณ 1,300 จุด ถือว่าเป็นระดับที่ดีที่นักลงทุนจะสามารถหาจังหวะเข้าไปลงทุนในหุ้นระยะยาวได้ ขณะที่อุตสาหกรรมโบรกฯ ปีนี้มีการแข่งขันกันสูง หลายบริษัทจึงพยายามที่จะหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเพื่อสร้างผลกำไรให้แก่บริษัทในสถานการณ์ที่ตลาดกำลังอยู่ในช่วงปรับตัวลดลง และกลุ่มวาณิชธนกิจเองก็เน้นการทำธุรกิจ IB ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการลงทุน และการบริการมากขึ้น