xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก 1 ปี 6 เดือน “เชาวรินธร์” อดีต ส.ส.เพื่อไทย ยักยอกเงิน บ.กัมพูชา 11 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลสั่งจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา “ร.ต.ท.เชาวรินธร์” อดีต ส.ส.เพื่อไทย ยักยอกเงิน 11 ล้านกว่าบาท ของบริษัทสัญชาติกัมพูชาที่โอนผิดบัญชี สั่งคืนเงินทั้งหมดให้โจทก์ด้วย ส่วนข้อหาฉ้อโกง โจทก์ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยแอบแก้ไขบัญชีจึงยังไม่มีความผิด

วันนี้ (27 ก.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.638/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 โจทก์ และบริษัท บี.พี.ซี เทรดดิ้ง จำกัด (ประเทศกัมพูชา) โจทก์ร่วมยื่นฟ้อง ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ลัทธศักดิ์ศิริ อายุ 70 ปี อดีต รมช.ศึกษาธิการ และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 (1), 17(1)

โดยโจทก์ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2558 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 บริษัท บี.พี.ซี.เทรดดิ้ง จำกัด (ประเทศกัมพูชา) ได้สั่งซื้อสินค้าจำพวกปูนซีเมนต์จากบริษัท ทีพีไอโพลีนพับบลิค จำกัด (ประเทศไทย) โดยทำใบสั่งซื้อส่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ในลักษณะจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมล ผ่านช่องทางเว็บไซต์ thong_n@ksc.th.com ซึ่งบริษัท ทีพีไอโพลีนฯ ได้ออกหลักฐานใบสำคัญเก็บเงินค่าสินค้า เป็นอีเมลชื่อของ saran.im11@gmail.com ; srengba@hotmail.com ; bpcchhoungonline.com.kh ; infobpp@mfone.com.kh แจ้งให้บริษัท บี.พี.ซี.ฯ โอนเงินค่าสินค้าจำนวน 352,781 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 11,428,308.40 บาท ผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารทหารไทย จำกัด ของบริษัท ทีพีไอโพลีนฯ แต่ระหว่างวันที่ 6-9 พ.ค. 2557 จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใบสำคัญเก็บสินค้าเสียใหม่ เป็นว่าให้บริษัท บี.พี.ซี.ฯ โอนเงินค่าซื้อปูนซีเมนต์จำนวน 11,428,308.40 บาท ผ่านเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยฯ สาขารัฐสภา ชื่อThai and Chinese Bhuddhist Culture หรือสมาคมวัฒนธรรมวิถีพุทธไทย-จีน ที่มีจำเลยเป็นนายกสมาคมฯ โดยทุจริต ซึ่งเป็นการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จนทำให้บริษัท บี.พี.ซี.หลงเชื่อว่าเป็นบัญชีของบริษัท ทีพีไอฯ ผู้เสียหายที่ 2 แล้วโอนเงินค่าเข้าบัญชีเงินฝากโดยที่บัญชีดังกล่าวเป็นของจำเลยกับพวก ซึ่งต่อมาจำเลยได้โอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง เหตุเกิดขึ้นที่แขวงและเขตดุสิต จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

โดยวันนี้ ร.ต.ท.เชาวรินธร์ จำเลยเดินทางมาพร้อมภรรยาและญาติคนสนิท

ขณะที่ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า บริษัท บี.พี.ซีฯ โจทก์ร่วม โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยฯ สาขารัฐสภา ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากที่มีผู้เข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ แต่โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันชัดว่าจำเลยได้เข้าไปแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือใช้ให้คนอื่นดำเนินการจนเป็นเหตุให้บริษัทโจทก์ร่วมสำคัญผิดโอนเงินเข้าบัญชี ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดฐานนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่ ศาลจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยในความผิดนี้ ส่วนการกระทำฐานฉ้อโกงนั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามที่วินิจฉัย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงด้วย

แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วฟังได้ว่า หลังเกิดเหตุ บริษัทโจทก์ร่วมได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีการโอนเงินผิดบัญชี ซึ่งตำรวจก็ได้แจ้งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวกลับโจทก์ร่วมแต่จำเลยกลับเพิกเฉย โจทก์ร่วมจึงร้องทุกข์ดำเนินคดีกระทั่งจำเลย ยินยอมทำบันทึกข้อตกลงคืนเงินภายใน 3 เดือน แต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยก็ไม่ได้ชำระเงินคืน ศาลเห็นว่าการที่จำเลยไม่คืนเงินโดยอ้างว่ารอตรวจสอบเงินเป็นของบริษัทโจทก์ร่วมจริงหรือไม่นั้น แต่ระหว่างนั้นจำเลยกลับโอนเงินทั้งหมดออกจากบัญชีสมาคมฯ แล้วโอนเงินจำนวน 10 ล้านบาทให้บุคคลที่จำเลยอ้างเป็นเจ้าหนี้ และอีกกว่า 600,000 บาท เข้าบัญชีตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงข้อพิรุธ มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตในการโอนเงินดังกล่าว และที่จำเลยอ้างว่าการทำหนังสือคืนเงินโดยไม่สมัครใจนั้นจึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้นพฤติการณ์ที่มีการโอนเงินผิดแล้วจำเลยไม่คืนโดยรู้อยู่ว่าเป็นเงินของบริษัทโจทก์ร่วมจริง ถือเป็นการเบียดบังเอาเงินไปโดยทุจริต ซึ่งเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องมาตรานี้ แต่ข้อเท็จจริงความผิดยักยอกทรัพย์ไม่ถือว่าต่างกันในสาระสำคัญความผิดฐานฉ้อโกง และอัตราโทษก็ไม่ต่างกัน ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยฐานยักยอกทรัพย์

จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลย เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 11,428,308.40 บาท แก่บริษัทโจทก์ร่วมด้วย

ต่อมา พ.ต.อรรคริน ลัทธศักดิ์ศิริ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นบุตรชาย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เดิมเป็นตำแหน่งของพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษสำนักคดีความมั่นคง มูลค่า 667,800 บาทเศษ พร้อมเงินสดอีก 400,000 บาท รวมมูลค่า 1 ล้านบาทเศษ เพื่อขอปล่อยชั่วคราว ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ระหว่างอุทธรณ์สู้คดี ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันตัวโดยตีราคาประกัน 1,000,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลัง ร.ต.ท.เชาวรินธร์ได้รับการประกันตัวก็ได้พากันเดินทางกลับทันที

ด้านนายสุรพงษ์ เบญจาทิกุล ทนายความของ ร.ต.ท.เชาวรินธร์ กล่าวว่า คดีนี้ศาลยกฟ้องทั้ง 2 ข้อหาที่โจทก์ฟ้องมา คือ ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ และฉ้อโกงทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตาม ศาลมองว่าการกระทำของจำเลยเข้าข่ายผิดฐานยักยอกทรัพย์ จึงให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน และคืนเงินทั้งหมดแก่โจทก์ร่วมด้วย โดยเบื้องต้นได้ปรึกษากับจำเลย มั่นใจว่าจะสามารถสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ได้ ขณะที่มองว่าความเสียหายของบริษัทโจทก์ร่วมเป็นลักษณะความแพ่งที่ควรจะฟ้องเป็นคดีแพ่งมากกว่าอาญา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น