xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เสียหายคอนโดฯ หรูหัวหินร้องดีเอสไอ สอบเจ้าของโครงการฟอกเงิน หลังพบ “เสี่ยบิ๊ก-ศุภชัย” มีเอี่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ผู้เสียหายอาคารชุดหรู อ.ชะอำ ร้องดีเอสไอ ตรวจสอบเส้นทางการเงินเจ้าของโครงการ หลังพบข้อมูลใหม่ “เสี่ยบิ๊ก-ศุภชัย” มีเอี่ยวนำเงิน ช.พ.ค.-สหกรณ์คลองจั่นมาฟอก แต่ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบ

วันนี้ (22 ก.ย.) เวลา 10.30 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พล.อ.นพ.ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา พร้อมด้วยนายชาญชัย วาสินานนท์ ตัวแทนผู้เสียหาย เดินทางยื่นเรื่องร้องเรียนและขอความเป็นธรรมต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้ตรวสอบนายปณชัย ประวีรนันทน์ เจ้าของใหม่โครงการอาคารชุด บริษัท หัวหินทรอปปิคอล โอเชียนวิว อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และเป็นหนึ่งในกรรมการ บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ดกรุ๊ป จำกัด โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล เจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ดูแลคดีเป็นผู้รับเรื่องซึ่งมูลค่าความเสียหาย 150 ล้านบาท

นายชาญชัยกล่าวว่า สืบเนื่องจากกลุ่มผู้เสียหายได้เดินทางมาร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. 59 เพื่อขอตรวจสอบการทำสัญญาซื้อขายโครงการอาคารชุด บริษัท หัวหินทรอปปิคอล โอเชียนวิว อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแต่ได้ขอเอกสารการก่อสร้างแบบ อ.6 จากเทศบาลชะอำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ นายปณชัยยังได้มีส่วนร่วมกันทุจริตกับอดีตผู้บริหารธนาคารออมสินในการอนุมัติเงินกู้ยืมเพื่อดำเนินการก่อสร้างคอนโดมิเนียมดังกล่าว โดยอ้างว่าประสบปัญหาเกี่ยวกับการเงินซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานของตำรวจ สภ.ชะอำ จึงได้มีความเห็นสั่งฟ้อง นายปณชัย ในฐานะผู้ต้องหาคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชนของโครงการอาคารชุดดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในชั้นอัยการจังหวัดเพชรบุรีดำเนินการตรวจสอบสำนวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมด้านเส้นทางการเงิน

นายชาญชัยกล่าวอีกว่า ส่วนวันนี้เดินทางมายื่นหลักฐานให้ดีเอสไออีกครั้งหลังมีข้อมูลใหม่ว่าเมื่อปี 2556 เจ้าหน้าที่บริษัท หัวหินทรอปปิคอล โอเชียนวิว อ้างว่าจะมีนักลงทุนรายใหม่เตรียมเข้ามาเทคโอเวอร์ ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับประกันภัย ตนจึงทำการสืบค้นพบว่ามี 2 ราย คือ “เสี่ยบิ๊ก” นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา อดีตประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท สามัคคีประกันภัย อดีตประธานสโมสรเพื่อนตำรวจ และในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ดกรุ๊ป จำกัด กับ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ ประกันภัย (มหาชน) จำกัด โดยทั้งคู่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายปณชัยในธุรกิจประกันภัย จึงมีการนำเงินมาร่วมลงทุนจำนวน 600-700 ล้านบาท เพื่อเป็นการฟอกเงินและเป็นเงินที่ได้มาจากการกู้ยืมกองทุนสมาชิกโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งได้ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำการขยายผลการไต่สวนเพิ่มเติมสำหรับคดีทุจริตการปล่อยเงินกู้เงินกองทุนให้กับบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ดกรุ๊ป จำกัด โดยนายปณชัยเป็นหนึ่งในกรรมการบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ดกรุ๊ปด้วย ทำให้ตนพบข้อสงสัยถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องสมคบคิดกันในการร่วมกระทำความผิด

“นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านได้เดินทางไปยื่นคำฟ้องที่ศาลปกครองกลางขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนใบรองรับการก่อสร้างแบบ อ.6 ของโครงการอาคารชุดดังกล่าว เนื่องจากเทศบาลเมืองชะอำออกเอกสารโดยมิชอบ อย่างไรก็ตาม การยื่นเอกสารพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินของนายปณชัย และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการก่อสร้างอาคารดังกล่าวและการฟอกเงิน เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษต่อไป”

ด้าน ร.ต.อ.ปิยะกล่าวว่า สำหรับเรื่องดังกล่าวก่อนหน้านี้ทางผู้เสียหายได้มีการร้องเรียนเข้ามาแล้ว และทางอธิบดีดีเอสไอได้มอบหมายให้สำนักคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และสำนกคดีการเงินการธนาคาร เข้าไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว แต่ในวันนี้ผู้เสียหายได้เดินทางมาร้องเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบเส้นทางการเงินและการฟอกเงินของนายปณชัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นดีเอสไอไม่สามารถดำเนินการได้ โดยตามระเบียบสำนักนายกฯ เกี่ยวกับการฟอกเงินต้องยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ช่วยตรวจสอบต่อไป

ร.ต.อ.ปิยะกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องนี้ทางดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่นั้น ต้องได้พยานหลักฐานก่อน คือเรื่องเดิมที่มีการดำเนินคดีฐานฉ้อโกงประชาชนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการส่งสำนวนให้อัยการแล้ว ดังนั้น การสอบสวนในเรื่องนี้จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการ ซึ่งดีเอสไอไม่มีอำนาจหน้าที่ในส่วนนั้น ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับจากผู้เสียหายในวันนี้ค่อนข้างมีประโยชน์ในทางคดีมาก เนื่องจากเป็นข้อมูลใหม่ที่จะสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ต่อไป ส่วนเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำหรือไม่นั้น ในเรื่องนี้เป็นเรื่องของการสืบสวนสอบสวน

ขณะที่ พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า เบื้องต้นได้รับเรื่องร้องทุกข์วันนี้เอาไว้และพบว่ามีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกับเรื่องอื่นๆ พร้อมเตรียมประสานข้อมูลกันซึ่งรายละเอียดต้องขอตรวจสอบก่อน โดยดีเอสไอทำการสอบสวนเฉพาะประเด็นฉ้อโกงประชาชน ส่วนการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์มีทั้งทางแพ่งและอาญานั้นเตรียมประสานไปยัง ปปง.ได้ เพื่อให้ช่วยในการติดตามทรัพย์มาคืนให้แก่ผู้เสียหายต่อไป

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น