MGR Online - อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงภาพรวมผลการปฏิบัติงานของดีเอสไอรอบปี 2558 รับเรื่องร้องเรียน 2,083 คดี ดำเนินการเสร็จสิ้นกว่า 816 คดีและเป็นคดีสำคัญ 7 คดี อาทิ ทุจริตสหกรณ์คลองจั่น, ออกเอกสารสิทธิพื้นที่อุทยานเขาใหญ่, ค้ามนุษย์ในเรือประมงเกาะอัมบน อินโดนีเซีย ฯลฯ รักษาผลประโยชน์ของภาครัฐกว่า 18,180 ล้านบาท
วันนี้ (29 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ร่วมแถลงผลการปฎิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปี 2558
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า ดีเอสไอเป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าด้านความมั่นคงประเทศ ด้านเศรษฐกิจการคลังของประเทศ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเป็นเรื่องที่มีองค์กรอาชญากรรมหรืออาชญากรรมข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้องในการกระทำผิด รวมทั้งคดีที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน และคดีที่มีข้าราชการฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตกเป็นผู้ต้องหา หรือผู้ถูกกล่าวหา
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวอีกว่า ปี 2558 ดีเอสไอ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในมิติของการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน และการอำนวยความยุติธรรม โดยให้บริการประชาชนเข้าถึงบริการของกรมสอบสวนคดีพิเศษผ่านช่องทางต่างๆ ประกอบด้วยการมาติดต่อด้วยตนเอง การปรึกษากฎหมาย ผ่านสายด่วน 1202 และการร้องทุกข์ ร้องเรียน ผ่านเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 25 ธ.ค. 58 รวมจำนวน 2,083 เรื่อง ดำเนินการเสร็จสิ้น จำนวน 816 เรื่อง และสามารถระงับความเสียหายของภาครัฐได้มากกว่า 18,180 ล้านบาท
“โดยในจำนวนคดีทั้งหมดมีคดีสำคัญที่ดีเอสไอดำเนินการเสร็จสิ้นในรอบช่วง ปี 2558 รวม 7 คดี ได้แก่ คดีการทุจริตของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด ความเสียหายกว่า 13,334 ล้านบาท ความผิดหลักในเรื่องการฉ้อโกงประชาชน และยักยอก, คดีการปลอมและใช้เอกสารปลอมในโครงการจัดหาพัสดุของเมืองพัทยา เสียหายไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท, คดีหลอกลวงให้ร่วมลงทุนในกองทุน Standard Morgan เสียหายกว่า 622 ล้านบาท, คดีบุกรุกและออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.โพธิ์งาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เสียหายกว่า 21 ล้านบาท, คดีชายต่างชาติเป็นนายหน้าจัดหาหญิงไทยหลอกค้าประเวณีในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย, คดีบุคคลถูกหลอกลวงและบังคับเป็นแรงงานในเรือประมง เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย และ คดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ปี 2552 -2553 เป็นความผิดในเรื่องการก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ ซึ่งมีคดีพิเศษรับไว้ดำเนินการ รวม 297 คดี และทำการสอบสวนเสร็จ ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการไปแล้ว 285 คดี และส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.จำนวน 5 คดี โดยอยู่ระหว่างการสอบสวน 7 คดี” พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าว
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปี 2559 ดีเอสไอมีคดีสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการหลายเรื่อง อาทิ คดีเกี่ยวกับการฟอกเงิน กรณีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มธุรกิจเครือกฤษฎามหานคร , คดีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ รายบริษัท ดิจิตอลคราว โฮลดิ้ง จำกัด (DCHL) และ คดีเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต เป็นต้น นอกจากนี้ ดีเอสไอ มุ่งเน้นดำเนินคดี ที่เป็นอาชญากรรมพิเศษที่เกี่ยวข้องกับผู้ทรงอิทธิพลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่จะปราบปรามผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญ ที่ก่ออาชญากรรมและทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในด้านต่างๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์