MGR Online - รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมนโยบายการนำแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559-2560 เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ
วันนี้ (2 ก.ย.) เวลา 13.00 น. โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต กทม. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ผอ.ศอ.ปส.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการนำแผนประชารัฐร่วมใจสร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคงปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559-2560 ไปสู่การปฏิบัติ โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการ ศอ.ปส. และผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เครือข่ายวิชาการ เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายเยาวชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 500 คน โดยสาระสำคัญหลักของการประชุมในครั้งนี้ คือ การมอบนโยบายการนำแผน “ประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559-2560” ไปสู่การปฏิบัติ”
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า วันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนทิศทางการบริหารจัดการกับยาเสพติดอย่างไร ซึ่งเรามีศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหลักในการทำงาน ภายใต้โครงการประชารัฐ 81,905 ชุมชน รวมทั้งได้จัดการรวบรวมบัญชีรายชื่อ 5 เครือข่าย 60 กลุ่ม ส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเพื่อช่วยกันปราบปรามทำลายเครือข่ายยาเสพติดและยึดทรัพย์ทั้งระบบ
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า ส่วนการบำบัดฟื้นฟูได้ปรับเปลี่ยนให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปดูแลเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นและใช้โรงพยาบาลในชุมชนเป็นแหล่งรักษาผู้เสพซึ่งเปลี่ยนเสมือนผู้ป่วย นับเป็นการป้องกันโครงสร้างเยาวชนและผู้ใช้แรงงานแต่ละชุมชน อีกทั้ง การป้องกันจะมีศูนย์อำนวยการฯแต่ละจังหวัดและอำเภอเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
“สำหรับการยกเลิกรางวัลนำจับหรือสินบนนั้นต้องฟังเสียงจากประชาชน และปัจจุบัน 81,905 ชุมชนยังเต็มไปด้วยยาเสพติดระบาด การเรียกร้องใช้งบประมาณตรงนี้ต้องกลับมาฟัง ผมได้เรียกตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเพราะการใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะแต่ต้องปรับเพื่อความเหมาะสม โดยปีงบประมาณล่าสุดกว่า 170 ล้านบาท และแต่ละปีงบประมาณก็ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการจับคนร้ายด้วย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเพียงแต่รับรู้ปัญหาต้องไปออกกฎระเบียบให้รัดกุม คาดว่าประมาณ 1-2 สัปดาห์น่าจะได้บทสรุป” รมว.ยุติธรรมกล่าว
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า การที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นั้นเชื่อว่าไม่มีปัญหาเพราะอยู่ภายในการทำงานของศูนย์อำนวยการฯ ต้องประสานงานกันอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ทุกคนมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นอกจากนี้ ต้องมีระบบควบคุมเกิดขึ้นถ้าราคายาเสพติดมันถูกเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง เพราะการปลูกพืชยาเสพติดบางชนิดสามารถนำมาใช้ในการรักษาได้แต่ต้องให้คนในชุมชนควบคุม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการยกเลิกจะทำลายขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่หรือไม่ เนื่องจากมีมากว่า 20 ปีแล้ว พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ระยะเวลาไม่ใช่เครื่องตัดสินแต่งบประมาณที่ใช้มันคุ้มค่าหรือไม่ หากระยะเวลานานแล้วไม่ได้ผลก็ต้องไปปรับปรุงแก้ไข ตนรับฟังทั้งสองฝ่ายและจะทำสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ร่วมกันให้ได้ ทั้งนี้ การยกเลิกต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูรายละเอียด