MGR Online - เลขาธิการ ป.ป.ส.ประชุมร่วมชุดประสานงานจังหวัด มอบนโยบายนำแผนประชารัฐร่วมใจสร้างหมู่บ้าน-ชุมชน ปลอดยาเสพติดปี 2560
วันนี้ (1 ต.ค.) ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการชุดประสานงานจังหวัด สำนักงาน ป.ป.ส. พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการทำงานในพื้นที่ เพื่อให้ชุดประสานงานจังหวัดมีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้าน-ชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2560 ไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติทุกมาตรการทั้งการป้องกัน บำบัดรักษา และปราบปรามยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเจตนารมณ์และเป้าหมายที่กำหนด โดยมีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.จากกรุงเทพฯ และภาค 1-9 จำนวน 470 นาย เข้าร่วม
นายศิรินทร์ยากล่าวว่า ตามนโยบายของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่ง สำนักงาน ป.ป.ส.ต้องเพิ่มบทบาทให้ลงไปถึงในระดับอำเภอให้สามารถกำกับติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยชุดทำงานใน 1 ทีม ประกอบด้วย หัวหน้าชุดที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการส่วน ข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ หรือข้าราชการระดับชำนาญการ แบ่งความรับผิดชอบกลุ่มจังหวัดไม่ซ้ำกัน และมีลูกทีม 5-7 คน ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาของจังหวัด พร้อมเน้น 3 มาตรการ ทั้งการป้องกัน การบำบัดรักษาและการปราบปรามยาเสพติด โดยมี ผอ.ป.ป.ส.ภาครับผิดชอบขับเคลื่อนในภาพรวม
“ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ประสานงานจังหวัดต้องเข้าใจสภาพปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ เช่น ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด โครงสร้างประชากร โรงเรียน สถานประกอบการ จำนวนหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีปัญหา ที่จะต้องร่วมแก้ไขปัญหากับจังหวัด ซึ่งต้องมีประชุมกลุ่มย่อยเป็นประจำ โดย ผอ.ป.ป.ส.ภาค ต้องเข้าร่วมการทำงานต้องให้คำปรึกษาข้อเสนอแนะแก่เจ้าหน้าที่ที่ยังขาดประสบการณ์ พื้นที่ไหนมีปัญหาต้องศึกษาให้เข้าใจ” นายศิรินทร์ยากล่าว
นายศิรินทร์ยากล่าวอีกว่า ในปี 2560 นี้จะกำหนดให้เป็นตัวชี้วัด (KPI) ของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.ภาค ที่ทำหน้าที่เป็นชุดอำนวยการประสานทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ การลงไปทำงานปฏิบัติงานในหมู่บ้าน/ชุมชนต้องมีความรู้ความเข้าใจ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ให้เกิดความชัดเจน ตั้งแต่บทบาท การอำนวยการ การประสานงาน การจัดทำแผน การติดตาม รายงาน ประเมินผล และการประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่ระดับบนลงไปถึงระดับล่างที่เป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อให้สามารถสื่อสารการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งจะต้องมีองค์ความรู้ของการปฏิบัติงาน เช่น แผนประชารัฐฯ กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ระบบแผนงานและงบประมาณ ระบบการกำกับติดตาม รายงานของหน่วยงานในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องมีความรอบรู้รอบตัว มีความพร้อมในการทำงาน