xs
xsm
sm
md
lg

อัยการสั่งไม่ฟ้อง “บรรยิน” กับพวกคดีปลอมเอกสารโอนหุ้น “เสี่ยชูวงษ์” 300 ล้านบาท (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ สั่งไม่ฟ้อง “บรรยิน” กับพวก คดีโอนหุ้น “เสี่ยชูวงษ์” 300 ล้านบาท แต่สำนวนอยู่ระหว่างการกลั่นกรองของรองอัยการสูงสุด หากมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องก็จะส่งให้ ผบ.ตร.พิจารณาทำความเห็นแย้ง และให้อัยการสูงสุดชี้ขาด



วันนี้ (29 ส.ค.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายเสกสรร เสนาชู ทนายความของ น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล หรือน้ำตาล อดีตพริตตี้สาว ผู้ต้องหาที่ 2 ร่วมกับ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ ผู้ต้องหาที่ 1 ในคดีร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิการโอนหุ้นของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างชื่อดัง มูลค่า 300 ล้านบาท เดินทางไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด เพื่อขอทราบคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ที่รับผิดชอบสำนวนในคดีดังกล่าว โดย ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายเสกสรร ทนายความ น.ส.กัญฐณา กล่าวว่า ตนได้ทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่าอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา จึงเดินทางไปยื่นคำร้องที่สำนักงานอัยการกรุงเทพใต้เพื่อขอทราบคำสั่ง แต่ได้รับแจ้งจากพนักงานอัยการว่าได้ส่งสำนวนมาที่อัยการสูงสุดตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาอัยการเจ้าของสำนวนยังไม่เคยแจ้งให้ผู้ต้องหาไปรับทราบคำสั่งคดี ดังนั้นวันนี้จึงขอทราบรายละเอียดคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้อัยการสูงสุดส่งสำนวนคดีไปถึง ผบ.ตร.เพื่อพิจารณาตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ต่อไป โดยที่ผ่านมาทางครอบครัวของนายชูวงษ์ ผู้เสียหาย ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมทั้งอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ และอัยการสูงสุด ทั้งนี้ยืนยันว่าลูกความตนได้รับโอนมาโดยสุจริต ไม่มีนิติกรรมอำพราง

ด้าน ร.ท.สมนึก โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าอัยการสูงสุดได้เรียกสำนวนคดีดังกล่าวมาตรวจสอบ แต่ไม่ทราบว่าสำนวนมาถึงหรือยัง โดยอัยการสูงสุดได้มอบให้รองอัยการสูงสุดพิจารณา สำนวนของอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ หากพิจารณาแล้วมีความเห็นตามนั้นก็ต้องส่งสำนวนไปให้ ผบ.ตร.พิจารณาทำความเห็นมาตามขั้นตอนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ถ้า ผบ.ตร.เห็นแย้งให้ฟ้องคดีก็จะต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด หรือถ้ารองอัยการสูงสุดมีความเห็นให้ฟ้องก็จะนำตัวผู้ต้องหายื่นฟ้องศาล คดีนี้จึงยังไม่จบขั้นตอน อยู่ระหว่างการกลั่นกรอง ในกระบวนการเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่คิดว่าคงใช้เวลาไม่นาน

ด้านนายประยุทธ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เจ้าของสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แต่รองอธิบดีอัยการมีความเห็นแย้งให้ฟ้อง และเมื่อสำนวนส่งมาถึงอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้พิจารณาแล้วก็สั่งไม่ฟ้อง ซึ่งฝ่ายผู้เสียหายก็ได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด จึงต้องรอให้รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวพิจารณาและมีความเห็นก่อน

“ยืนยันว่าอัยการมีอิสระในการใช้ดุลพินิจ ซึ่งรองอธิบดี และอธิบดีอัยการฯ ยังมีความเห็นต่างกันอยู่” รองโฆษกฯ กล่าวยืนยัน

ต่อมาเวลา 11.00 น. นางศิริรัตน์ แซ่ตั๊ง และนางวันเพ็ญ ธนธรรมสิริ ภรรยาและพี่สาวของนายชูวงษ์ พร้อมด้วยนายอเนก คำชุ่ม ทนายความ ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดเช่นกัน แต่เป็นคดีที่ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์ ตกเป็นผู้ต้องหาคดีร่วมกันฆ่านายชูวงษ์ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาภรรยาและพี่สาวเคยมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมคดีโอนหุ้นแล้ว โดยวันนี้มี ร.ท.สมนึก โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด รับหนังสือแทน

ด้านนายอเนก คำชุ่ม ทนายความของครอบครัวชูวงษ์ กล่าวว่า วันนี้มายื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ในสำนวนคดีเรื่องการตายของนายชูวงษ์ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับคดีปลอมเอกสารการโอนหุ้น ครอบครัวผู้เสียหายเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกันน่าจะมีการกลั่นกรองที่ดี จึงขอให้อัยการสูงสุดกลั่นกรองสำนวนคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวพันคดีโอนหุ้นด้วย

เมื่อถามถึงคดีโอนหุ้นที่เบื้องต้นอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ สั่งไม่ฟ้อง นายอเนก ทนายความ กล่าวว่า ทางญาติและครอบครัวเชื่อมั่นสำนวนที่พนักงานสอบสวนทำ แต่ก็ไม่ก้าวล่วงความเห็นของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ครอบครัวยังไม่เห็นคำสั่งทางการจึงยังไม่สบายใจ ขณะที่มูลค่าความสูญเสียมีมากถึง 300 ล้านบาท โดยคดียังมีอีกหลายขั้นตอนซึ่งเราก็จะร้องขอความเป็นธรรม ดังนั้นจึงต้องรอดูคำสั่งของอัยการแล้วถ้าอัยการสั่งฟ้อง ครอบครัวก็จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม แต่ถ้าสุดท้ายแล้วสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด ทางครอบครัวก็จะใช้สิทธิทางกฎหมายยื่นฟ้องเอง

ร.ท.สมนึก โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ได้รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเพื่อเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อผู้เสียหาย ซึ่งสำนวนคดีฆาตกรรมยังไม่มาถึงอัยการ แต่ก็จะส่งให้อัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ที่จะต้องรับผิดชอบพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีปลอมเอกสารโอนหุ้นนั้น มีผู้ต้องหา 4 ราย ประกอบด้วย พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมว.พาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์, น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล อดีตพริตตี้, น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล อาชีพโบรกเกอร์ และ น.ส.ศรีธรา พรหมา มารดาของ น.ส.อุรชา ตามลำดับ ซึ่งพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาฐานร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร, ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมการโอนหุ้น โดยขั้นตอนการส่งคดีของอัยการเป็นลำดับดังนี้ เมื่อตำรวจเห็นว่าการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วให้ทำความเห็นเสนออัยการตามมาตรา 140 จากนั้นให้นำตัวส่งให้อัยการพร้อมสำนวนตามมาตรา 142 ต่อมาอัยการต้องพิจารณาสำนวน โดยจะสั่งให้สอบพยานเพิ่มเติม หรือเรียกพยานมามาซักถามได้ตามมาตรา 143 โดยหากสั่งฟ้องก็ให้เอาตัวไปยื่นฟ้อง ถ้าสั่งไม่ฟ้องให้ออกคำสั่งไม่ฟ้องแล้วแจ้งผู้เสียหายกับฝ่ายผู้ต้องหาทราบ จากนั้นให้ดำเนินการส่งสำนวนให้ ผบ.ตร.ทำความเห็นแย้งตามมาตรา 145/1 ถ้าตำรวจสั่งฟ้อง ก็ให้เอาตัวไปฟ้อง ถ้าตำรวจเห็นควรไม่ฟ้องก็ให้อัยการสูงสุดเพียงคนเดียวที่จะสั่งฟ้องไม่ฟ้อง ถ้าระหว่างนั้นอายุความจะขาดก็ให้ฟ้องไปก่อน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น